กระทรวงเกษตรฯ จับมือ ม.เทคโนโลยีสุรนารี จัดกิจกรรมรับฟังความคิดเห็นของประชาชนในเขตพื้นที่ อ.วังน้ำเขียว ขานรับแผนพัฒนาที่ยั่งยืน ตามแผนยุทธศาสตร์การพัฒนาจ.นครราชสีมา”

ข่าวทั่วไป Monday May 2, 2016 20:20 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--2 พ.ค.--สำนักงานปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ พลเอก ฉัตรชัย สาริกัลยะ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยว่า กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ โดยสำนักงานการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม (ส.ป.ก.) ร่วมกับ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี จัดกิจกรรม"การรับฟังความคิดเห็นของประชาชน ภายใต้โครงการการศึกษาแผนแม่บทการใช้พื้นที่สำนักงานการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม (ส.ป.ก.) เน้นเป้าวัตถุประสงค์เชิงลึก คือ ๑.) เพื่อศึกษาข้อมูลการใช้พื้นที่ของ ส.ป.ก.ในพื้นที่ อ.วังน้ำเขียว จ.นครราชสีมา ๒.) เพื่อศึกษาข้อมูลและวิเคราะห์ความเหมาะสมในการใช้ประโยชน์ที่ดินในเขต ส.ป.ก. อ.วังน้ำเขียว และ ๓.)เพื่อจัดทำแผนแม่บทการใช้ประโยชน์ที่ดินในเขต ส.ป.ก. อ.วังน้ำเขียว จ.นครราชสีมา จัดกิจกรรมแบบ เปิดใจ ณ ศูนย์พัฒนาคุณภาพชีวิตผู้สูงอายุและประชาชน หมู่ ๓ บ้านใหม่ปฏิรูปที่ดิน ตำบลไทยสามัคคี อ.วังน้ำเขียว จ.นครราชสีมา จังหวัดนครราชสีมา เป็น ๑ ใน ๑๙ จังหวัด ที่ตั้งอยู่ทางภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และมีพื้นที่มากเป็นอันดับ ๑ ของภาคนี้ คือ ประมาณ 12 ล้านไร่ (ศูนย์สถิติการเกษตร, 2545) สภาพพื้นที่มีความเหมาะสมแก่การเพาะปลูกจึงมีการปฏิรูปที่ดินเพื่อการเกษตรกรรมเนื้อที่ประมาณ 3,064,375 ไร่ หรือคิดเป็นร้อยละ 20.78 ของพื้นที่ทั้งหมด ซึ่งกระจายอยู่ในเขตอำเภอบ้านเหลื่อม อำเภอชุมพวง อำเภอสีคิ้ว อำเภอหนองบุนนาค และอำเภอวังน้ำเขียว แต่สภาพพื้นที่ส่วนใหญ่มีความความเหมาะสมปานกลาง หากมีการปรับปรุงดินและคัดเลือกพันธุ์พืชที่เหมาะสม จะสามารถเพิ่มผลผลิตการเกษตรได้ (สำนักนโยบายและแผนสิ่งแวดล้อม, 2539) ประกอบกับการพัฒนาระบบการชลประทานเพื่อรองรับการผลิตพืชเศรษฐกิจเพื่อการค้า จึงมีการทำการเกษตรเพิ่มมากขึ้น ซึ่งล้วนส่งผลกระทบต่อการเปลี่ยนแปลงการใช้ที่ดิน จากข้อมูลสำนักงานสถิติการเกษตร แสดงไว้ว่า ปี พ.ศ. 2518 มีพื้นที่ป่าไม้ประมาณ 3 ล้านไร่ ส่วนพื้นที่ถือครองทางการเกษตร 5.5 ล้านไร่ แต่เมื่อถึงปี พ.ศ. 2542 พื้นที่ป่าไม้ลดลงเหลือเพียงประมาณ 1.3 ล้านไร่ ในขณะที่พื้นที่ถือครองทางการเกษตรเพิ่มสูงขึ้นถึง 7.8 ล้านไร่ และระหว่างปี พ.ศ. 2518-2542 มีการเปลี่ยนแปลงการใช้ที่ดินทางการเกษตร คือ พื้นที่นาเพิ่มขึ้น697,715 ไร่ พื้นที่ปลูกพืชไร่ 1,349,988 ไร่ พื้นที่ปลูกไม้ผลและไม้ยืนต้น 226,096 ไร่ พื้นที่ทุ่งหญ้าเลี้ยงสัตว์ 6,550 ไร่ จะเห็นได้ว่าพื้นที่ปลูกพืชไร่เพิ่มขึ้นสูงมากเนื่องจากมีการส่งเสริมพืชเศรษฐกิจ อาทิ ข้าวโพด อ้อยมันสำปะหลัง การเพิ่มผลผลิตจึงต้องมีการขยายพื้นที่เพาะปลูก ส่งผลให้พื้นที่ป่าไม้ลดลงอย่างยิ่ง ด้าน นายสรรเสริญ อัจจุมานัส เลขาธิการ ส.ป.ก. กล่าวเพิ่มเติมว่า อำเภอวังน้ำเขียว เป็นอำเภอหนึ่งที่อยู่ทางทิศใต้ของจังหวัดนครราชสีมา ซึ่งเป็นประตูเชื่อมระหว่างภาคตะวันออกเฉียงเหนือกับภาคตะวันออก ติดต่อกับเขตอุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ อุทยานแห่งชาติทับลาน มีสภาพพื้นที่เป็นภูเขาสูงล้อมสลับที่ลาดชันเป็นลอนคลื่นตลอดทั้งพื้นที่ มีปริมาณฝนมากสามารถปลูกพืชได้ตลอดทั้งปี มีทิวทัศน์สวยงาม พื้นที่เป็นแหล่งท่องเที่ยวจำนวนมาก และนักท่องเที่ยวนิยมมาพักผ่อนกันมาก ส่งผลให้เกิดการเติบโตทางเศรษฐกิจและการท่องเที่ยวในพื้นที่อำเภอวังน้ำเขียวสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง อาทิ โรงแรม รีสอร์ท ร้านอาหาร เป็นต้น ทั้งส่งผลต่อการเปลี่ยนแปลงการถือครองที่ดินเพื่อดำเนินการใช้ประโยชน์ที่ไม่เหมาะสมในเขต ส.ป.ก เกิดปัญหาการรุกล้ำและการบุกรุกที่ดิน ส.ป.ก. โดยเฉพาะปัญหาการบุกรุกพื้นที่ ส.ป.ก. ในพื้นที่อำเภอวังน้ำเขียว ได้แก่ การซื้อขายที่ดินในเขตปฏิรูปที่ดินอำเภอวังน้ำเขียว การสร้างรีสอร์ทในเขตปฏิรูปที่ดินอำเภอวังน้ำเขียว และขาดข้อมูลการติดตามการถือครองและใช้ประโยชน์ที่ดิน เป็นต้น มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี ร่วมกับ สำนักงานการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม (ส.ป.ก.) จึงได้จัดกิจกรรม"การรับฟังความคิดเห็นของประชาชน ภายใต้โครงการการศึกษาแผนแม่บทการใช้พื้นที่สำนักงานการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม (ส.ป.ก.) เพื่อให้การจัดสรรที่ดินเป็นไปตามวัตถุประสงค์และตามกฎหมายของ ส.ป.ก. รวมทั้งมิให้เกิดความขัดแย้งการจัดสรรที่ดิน เกิดความเหมาะสมต่อกิจกรรมและวิถีชีวิตของประชาชนในพื้นที่เป็นสำคัญ ด้วยเหตุนี้ จึงเกิดแผนแม่บทการใช้พื้นที่สำนักงานการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม(ส.ป.ก.) ในเขตพื้นที่อำเภอวังน้ำเขียวเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืนขึ้น ทั้งนี้เพื่อให้พื้นที่เขตปฏิรูปที่ดิน อ.วังน้ำเขียว เป็นพื้นที่ทำกินของเกษตรกร โดยชอบด้วยกฎหมาย และเป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงเกษตรกรรมของเกษตรกร สอดคล้องกับแผนยุทธศาสตร์การพัฒนาจังหวัดนครราชสีมา พ.ศ.2557 – 2560 ในเบื้องต้น มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี ได้สำรวจและศึกษาข้อมูลการใช้พื้นที่ ส.ป.ก. ในเขตพื้นที่อ.วังน้ำเขียว โดยรวบรวมข้อมูลทั่วไป อาทิ ข้อมูลลักษณะทางกายภาพ ลักษณะทางสังคม ข้อมูลการใช้ประโยชน์ที่ดินสำนักงานการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม พร้อมทั้งจัดทำระบบสารสนเทศของพื้นที่อำเภอวังน้ำเขียว โดยศึกษาข้อมูลและวิเคราะห์ความเหมาะสมในการใช้ประโยชน์ที่ดินในพื้นที่ ส.ป.ก. ในเขตพื้นที่อ.วังน้ำเขียว (คือ ตำบลไทยสามัคคี ตำบลระเริง ตำบลวังน้ำเขียวตำบลวังหมี และตำบลอุดมทรัพย์) จัดทำแผนแม่บทการใช้ประโยชน์ที่ดินในพื้นที่ ส.ป.ก. โดยนำข้อมูลทั้งหมดมาจัดทำร่างแผนแม่บทการใช้ประโยชน์ที่ดินในพื้นที่ ส.ป.ก. อำเภอวังน้ำเขียว ให้สอดคล้องกับแผนยุทธศาสตร์การพัฒนาจังหวัดนครราชสีมา นอกจากนี้ได้จัดสัมมนากลุ่มย่อยเพื่อรับฟังความคิดเห็นของประชาชนต่อร่างแผนแม่บทที่จัดทำและสรุปแผนแม่บทการใช้ประโยชน์ที่ดินในพื้นที่ ส.ป.ก. อำเภอวังน้ำเขียว ซึ่งได้ใช้พื้นที่ศึกษา ในเขตอำเภอวังน้ำเขียว จังหวัดนครราชสีมาด้วย เลขาธิการ ส.ป.ก. กล่าว

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ