บอร์ดภาพยนตร์ ไฟเขียวแก้พ.ร.บ.ภาพยนตร์และวีดิทัศน์ เดินหน้าผลักดันมาตรการส่งเสริมการถ่ายทำภาพยนตร์ต่างประเทศในไทย และส่งเสริมอุตสาหกรรมภาพยนตร์ไทย ชูมาตรการคืนเงิน ดึงดูดผู้สร้างหนังต่างชาติ และยกระดับอุตสาหกรรมในประเทศ

ข่าวทั่วไป Tuesday May 3, 2016 09:22 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--3 พ.ค.--กลุ่มประชาสัมพันธ์ กระทรวงวัฒนธรรม พลเอก ธนะศักดิ์ ปฏิมาประกร รองนายกรัฐมนตรี ฐานะประธานประชุมคณะกรรมการภาพยนตร์และวีดิทัศน์แห่งชาติ เปิดเผยว่า ที่ประชุมได้พิจารณาเรื่องแก้ไขปรับปรุง พ.ร.บ.ภาพยนตร์และวีดิทัศน์ พ.ศ. 2551 โดยคณะอนุกรรมการพิจารณาและให้ความเห็นด้านกฎหมายและด้านวินิจฉัยอุทธรณ์คำสั่งตาม พ.ร.บ.ภาพยนตร์และวีดิทัศน์ พ.ศ.2551 ได้นำข้อสังเกตของคณะกรรมการภาพยนตร์และวีดิทัศน์แห่งชาติ ไปใช้ในการแก้ไขปรับปรุง พ.ร.บ.ฉบับดังกล่าว โดยเพิ่มเจตนารมณ์และเพิ่มเนื้อหาที่เกี่ยวข้องกับการจัดตั้งกองทุนเป็น 2 ส่วน ได้แก่ 1.ส่งเสริมสนับสนุนอุตสาหกรรมภาพยนตร์และวีดิทัศน์ไทย คือ การสนับสนุนโครงการ/กิจกรรมด้านภาพยนตร์และวีดิทัศน์ของไทย และเป็นกองทุนสวัสดิการช่วยเหลือศิลปินสาขาภาพยนตร์และวีดิทัศน์ที่เจ็บป่วยหรือบรรเทาความเดือดร้อน 2.สนับสนุนมาตรการส่งเสริมการถ่ายทำภาพยนตร์ต่างประเทศในประเทศไทยในรูปแบบการคืนเงิน (Cash Rebate) พลเอก ธนะศักดิ์ กล่าวว่า คณะอนุกรรมการฯ ได้จัดทำร่างหลักเกณฑ์ วิธีการ เงื่อนไข สำหรับมาตรการส่งเสริมการถ่ายทำภาพยนตร์ต่างประเทศในประเทศไทยเสร็จเรียบร้อยแล้ว โดยมีสาระสำคัญ อาทิ คุณสมบัติผู้ขอรับสิทธิประโยชน์มาตรการส่งเสริมการถ่ายทำ ต้องเป็นผู้ผลิตภาพยนตร์ชาวต่างชาติที่มีค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นในประเทศไทย ไม่ต่ำกว่า 50 ล้านบาท ซึ่งจ่ายให้แก่บุคคลหรือนิติบุคคลไทยเท่านั้น โดยเงินดังกล่าวต้องผ่านการตรวจสอบจากผู้ตรวจสอบบัญชี และค่าใช้จ่ายเกิดขึ้นต้องมาจากต่างประเทศ และได้รับอนุญาตให้ถ่ายทำภาพยนตร์ต่างประเทศในราชอาณาจักร ตาม พ.ร.บ.ภาพยนตร์และวีดิทัศน์ ในส่วนเงื่อนไขของผู้ผลิตภาพยนตร์ชาวต่างชาติ ต้องมีคุณสมบัติ ดังนี้ 1) จดทะเบียนบริษัทถูกต้องตามกฎหมายของต่างประเทศ 2) บริษัทผลิตภาพยนตร์ที่มาขออนุญาตต้องเป็นบริษัทชาวต่างชาติ 3) การร่วมทุนหรือ Co-production ระหว่างผู้สร้างภาพยนตร์ของไทยกับชาวต่างชาติ สามารถเข้าร่วมมาตรการนี้ได้โดยเป็นตามหลักเกณฑ์ของภาพยนตร์ต่างประเทศ พลเอก ธนะศักดิ์ กล่าวต่อว่า เงื่อนไขในส่วนของภาพยนตร์เจ้าของลิขสิทธิ์ของภาพยนตร์เป็นชาวต่างชาติและเป็นภาษาต่างประเทศไม่น้อยกว่าร้อยละ 50 ทั้งนี้ สำหรับสัดส่วนการคืนเงินตามหลักเกณฑ์ แบ่งออกเป็น 1) เงื่อนไขหลักเกณฑ์ทั่วไป คือผู้ผลิตภาพยนตร์ชาวต่างชาติที่มีค่าใช้จ่ายเกิดขึ้นในประเทศไทยไม่ต่ำกว่า 50 ล้านบาทขึ้นไปได้รับอนุญาตให้ถ่ายทำภาพยนตร์ต่างประเทศในราชอาณาจักร ขอคืนเงิน 15 % และ2) เงื่อนไขเพิ่มเติม คืนเงินเพิ่มสูงสุดอีก 5% แบ่งเป็น หากจ้างแรงงานไทยซึ่งเป็นหลักในกองถ่ายทำภาพยนตร์ ขอคืนได้ 3% และหากบทภาพยนตร์ที่ขอรับการสนับสนุนพิสูจน์จากคณะกรรมการฯ ว่าเป็นการส่งเสริมการท่องเที่ยว วัฒนธรรมหรือภาพลักษณ์ที่ดีของประเทศไทย ขอคืน 2% ทั้งนี้ การจำกัดวงเงินจ่ายคืนตามมาตรการ ไม่เกิน 75 ล้านบาท สำหรับมาตรการส่งเสริมการถ่ายทำภาพยนตร์ต่างประเทศในประเทศไทยในรูปแบบการคืนเงิน (Cash Rebate) ที่ประชุมได้มีมติเห็นชอบและมอบให้กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา นำเสนอ ครม.พิจารณาต่อไป โดยจะนำเรื่องดังกล่าวไปประชาสัมพันธ์ให้ผู้ประกอบการภาพยนตร์ในต่างประเทศทราบ ในงานเทศกาลภาพยนตร์เมืองคานส์ สาธารณรัฐฝรั่งเศส ซึ่งจะจัดขึ้นระหว่างวันที่ 12 -22 พฤษภาคม 2559 นี้ พลเอก ธนะศักดิ์ กล่าวตอนท้ายว่า การส่งเสริมอุตสาหกรรมภาพยนตร์ในประเทศ กองทุนจะสนับสนุนอุตสาหกรรมทั้งระบบ ตั้งแต่การผลิต การเผยแพร่ การตลาด การพัฒนาบุคลากร รวมถึงจัดสวัสดิการดูแลศิลปินที่เดือดร้อนและเรื่องอื่นๆ ซึ่งหากกองทุนนี้ได้รับการจัดตั้งฯ แล้ว จะช่วยยกระดับและพัฒนาศักยภาพอุตสาหกรรมภาพยนตร์และวีดิทัศน์ของไทยเป็นอย่างมาก

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ