พม. จัดการประชุมทวิภาคี เพื่อจัดทำแผนปฏิบัติการตามบันทึกความเข้าใจระหว่างรัฐบาลแห่งราชอาณาจักรไทยกับรัฐบาลแห่งราชอาณาจักรกัมพูชา เรื่อง “ความร่วมมือทวิภาคีว่าด้วยการขจัดการค้ามนุษย์และการคุ้มครองเหยื่อของการค้ามนุษย์”

ข่าวทั่วไป Tuesday May 3, 2016 14:06 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--3 พ.ค.--กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ นางเสาวนีย์ โขมพัตร โฆษกกระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคง ของมนุษย์ เป็นประธานเปิดการประชุมทวิภาคีเพื่อจัดทำแผนปฏิบัติการตามบันทึกความเข้าใจระหว่างรัฐบาลแห่งราชอาณาจักรไทยกับรัฐบาลแห่งราชอาณาจักรกัมพูชา เรื่อง "ความร่วมมือทวิภาคีว่าด้วยการขจัดการค้ามนุษย์และ การคุ้มครองเหยื่อของการค้ามนุษย์" โดยมีวัตถุประสงค์สำคัญในการพิจารณาและจัดทำแผนปฏิบัติการ เพื่อกำหนด แนวทางการปฏิบัติงานที่เหมาะสมให้แก่ผู้ปฏิบัติงานร่วมกันของทั้งสองประเทศ โดยจัดขึ้นระหว่างวันที่ ๒๕-๒๙ เมษายน ๒๕๕๙ ณ โรงแรมมิราเคิล แกรนด์ คอนเวนชั่น กรุงเทพฯ นางเสาวนีย์ กล่าวว่า ประเทศไทยและกัมพูชามีความตระหนักและให้ความสำคัญต่อปัญหาการค้ามนุษย์ ซึ่งทั้งสองประเทศต่างมีความมุ่งมั่นที่จะแก้ไขปัญหาการค้ามนุษย์อย่างจริงจัง พร้อมกันนี้ยังให้ความสำคัญต่อการช่วยเหลือและคุ้มครองผู้เสียหายจากการค้ามนุษย์ รวมไปถึงการดำเนินการเพื่อป้องกันปัญหาดังกล่าวไม่ให้เกิดขึ้น จึงได้ร่วมมือกันแก้ไขปัญหา การค้ามนุษย์ โดยการลงนามในบันทึกความเข้าใจระหว่างรัฐบาลแห่งราชอาณาจักรไทยกับรัฐบาลแห่งราชอาณาจักรกัมพูชา เรื่อง "ความร่วมมือทวิภาคีว่าด้วยการขจัดการค้ามนุษย์และการคุ้มครองเหยื่อของการค้ามนุษย์" โดยมีรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พลตำรวจ อดุลย์ แสงสิงแก้ว) เป็นผู้ลงนามในนามรัฐบาลของประเทศไทย ไปเมื่อวันที่ ๓๐ ตุลาคม ๒๕๕๗ ณ กรุงพนมเปญ ประเทศกัมพูชา และมีแผนในการจัดทำแผนปฏิบัติการภายใต้บันทึก ความเข้าใจฯ เพื่อเป็นแนวทางสำคัญในการปฏิบัติงานป้องกันและแก้ไขปัญหาการค้ามนุษย์ให้เกิดประสิทธิภาพต่อไปในอนาคต นางเสาวนีย์ กล่าวต่ออีกว่า สำหรับการประชุมทวิภาคีไทย – กัมพูชาฯ ครั้งนี้ เพื่อให้การดำเนินการแก้ไขปัญหา การค้ามนุษย์มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น โดยตระหนักถึงประโยชน์สูงสุดของผู้เสียหายจากการค้ามนุษย์ตามหลักการสิทธิมนุษยชน และสอดคล้องกับบันทึกความเข้าใจฯ ซึ่งทั้งสองประเทศได้ลงนามร่วมกัน ประกอบด้วย ๖ แผนงาน ดังนี้ ๑. กลไก เพื่อการปฏิบัติตามแผนปฏิบัติการ ๒. การวิเคราะห์ข้อมูลสถานการณ์ และประเมินความต้องการ ๓. ความร่วมมือ ด้านมาตรการป้องกัน ๔. ความร่วมมือด้านการให้ความคุ้มครองผู้เสียหายจากการค้ามนุษย์ ๕. ความร่วมมือด้านการส่งกลับและคืนสู่สังคม และ ๖. ความร่วมมือด้านการปราบปรามการค้ามนุษย์ "ทั้งนี้ หากทั้งสองประเทศได้ร่วมกันพิจารณาและจัดทำแผนปฏิบัติการจนสำเร็จ ย่อมแสดงถึงการนำนโยบายไปสู่ การปฏิบัติอย่างเต็มรูปแบบ อีกทั้งแผนปฏิบัติการดังกล่าวยังเป็นเครื่องมือที่ทำให้ผู้ปฏิบัติงานสามารถมีแนวทางที่ถูกต้อง ในการลงมือปฏิบัติงานเพื่อแก้ไขปัญหาการค้ามนุษย์ได้อย่างเหมาะสม ส่งผลให้สถานการณ์การค้ามนุษย์ของทั้งสองประเทศลดลงและหมดไปในที่สุด นอกจากนี้ ยังเป็นการกระชับสัมพันธไมตรีระหว่างประเทศไทยและกัมพูชาให้มีความเข้มแข็งมากขึ้น อีกด้วย"นางเสาวนีย์ กล่าวในตอนท้าย
แท็ก กัมพูชา  

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ