กระทรวงเกษตรฯ ส่งเฮลิคอปเตอร์ฝนหลวงปฏิบัติการดับไฟป่า พร้อมเร่งแก้ปัญหาหมอกควันและป้องกันไฟป่าอย่างเป็นรูปธรรมในพื้นที่ 9 จังหวัดภาคเหนือ

ข่าวบันเทิง Friday May 13, 2016 09:24 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--13 พ.ค.--กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ พลเอก ฉัตรชัย สาริกัลยะ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยว่า จากกรณีเหตุเพลิงไหม้ป่าในพื้นที่ป่า จ.นครนายก พื้นที่ป่าพรุโต๊ะแดง จ.นราธิวาส พื้นที่ภูเขา "เขาทะลุ"จ.ชุมพร และเพลิงไหม้ป่าในเขตอุทยานแห่งชาติดอยสุเทพ - ปุย อำเภอเมือง จังหวัดเชียงใหม่นั้น ได้สั่งการให้กรมฝนหลวงและการบินเกษตร ส่งเฮลิคอปเตอร์ฝนหลวงเข้าไปช่วยปฏิบัติการสนับสนุน พร้อมทั้งให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งดำเนินการแก้ไขปัญหาโดยบูรณาการร่วมกัน ทั้งนี้ ในช่วงเดือน พ.ย.- เม.ย.ของทุกปี ในพื้นที่ 9 จังหวัดภาคเหนือตอนบน ได้แก่ ลำปาง ลำพูน เชียงใหม่ พะเยา เชียงราย แม่ฮ่องสอน ตาก แพร่ และน่าน มักประสบปัญหาหมอกควันที่ปกคลุมหนาแน่นเป็นบริเวณกว้าง และมีปัญหาไฟไหม้ป่า เนื่องจากการกระทำที่รู้เท่าไม่ถึงการณ์ โดยการจุดไฟเผาป่าหรือเผาเศษวัสดุเหลือใช้ในไร่นาเพื่อเตรียมพื้นที่การทำเกษตร จึงสั่งการให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งหาแนวทางป้องกัน เพื่อไม่ให้ส่งผลกระทบต่อสุขภาพอนามัยของประชาชน นายเลอศักดิ์ ริ้วตระกูลไพบูลย์ อธิบดีกรมฝนหลวงและการบินเกษตร กล่าวถึงการส่งเฮลิคอปเตอร์ฝนหลวง เข้าไปช่วยปฏิบัติการสนับสนุนดับไฟป่า ว่า ในพื้นที่ป่า จ.นครนายก กรมฝนหลวงและการบินเกษตรได้ส่งเฮลิคอปเตอร์ฝนหลวง เข้าไปช่วยปฏิบัติการสนับสนุน จำนวน 6 เที่ยวบิน ส่วนพื้นที่ป่าพรุโต๊ะแดง จ.นราธิวาส ได้ใช้เที่ยวบินปฏิบัติการของกองทัพอากาศในการควบคุมไฟป่า โดยใช้ฐานปฏิบัติการที่ จ.สงขลา เนื่องจากมีความเหมาะสมในสภาพพื้นที่ปฏิบัติการ ส่วนเพลิงไหม้ป่าในเขตอุทยานแห่งชาติดอยสุเทพ -ปุย อ.เมือง จ.เชียงใหม่ ได้ส่งเฮลิคอปเตอร์ฝนหลวง จำนวน 2 เครื่อง เข้าสนับสนุนภารกิจควบคุมไฟป่าไม่ให้ลุกลามเข้าสถานที่ราชการและพื้นที่อื่นๆ โดยขณะนี้เฮลิคอปเตอร์ฝนหลวงได้เข้าทิ้งน้ำควบคุมไฟได้ระดับหนึ่ง และอยู่ภายใต้การควบคุมของเจ้าหน้าที่ ขณะที่ในพื้นที่ภูเขา "เขาทะลุ"จ.ชุมพร ในวันที่ 10 พ.ค.ได้ส่งเฮลิคอปเตอร์ฝนหลวงปฏิบัติการ จำนวน 8 เที่ยวบิน และในวันที่ 11 พ.ค.ได้ปฏิบัติการอีก 16 เที่ยวบิน แต่เนื่องจากสภาพโดยรวมไฟยังคงปะทุเพราะมีลมแรงและภูเขาสูงชัน จึงหยุดปฏิบัติการและเริ่มปฏิบัติการอีกครั้งในช่วงบ่าย ทั้งนี้ คาดว่าไฟจะไม่ลามมาด้านล่างภูเขา เนื่องจากเพลิงไหม้อยู่ในบริเวณพื้นที่สูง อีกทั้งได้มีการทำที่ดับไฟไว้ในบริเวณด้านล่างแล้ว อย่างไรก็ตาม กรมฝนหลวงฯ ได้เตรียมความพร้อมทั้งเฮลิคอปเตอร์เข้าสนับสนุนปฏิบัติการดับไฟ และประสานความร่วมมือกับกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ในการขอรับเครื่องมือดับเพลิง โดยหากเกิดเหตุไฟป่าในพื้นที่ใด กรมฝนหลวงฯ ก็พร้อมเข้าไปปฏิบัติการสนับสนุนเพื่อหยุดยั้งไฟป่าทันที ด้านนายสุรเดช เตียวตระกูล อธิบดีกรมพัฒนาที่ดิน กล่าวว่า กรมพัฒนาที่ดินได้ดำเนินการเร่งแก้ปัญหาหมอกควันและไฟป่าอย่างเป็นรูปธรรม ได้แก่ 1.การจัดทำหนังสือคู่มือจัดระเบียบการเผา 17 จังหวัดภาคเหนือ จัดเป็นชุด 18 เล่ม และจัดส่งให้กระทรวงเกษตรฯ และกระทรวงมหาดไทย รวมทั้งเผยแพร่ผ่านเว็บไซต์กรมพัฒนาที่ดิน ไปถึงประชาชน 2. จัดวางโครงการเพื่อเร่งรัดการแก้ปัญหาหมอกควัน 9 จังหวัดภาคเหนือ ระหว่างเดือนก.พ.-เม.ย. โดยมี 4 ภารกิจ ดังนี้ (1) สนับสนุนการไถกลบตอซัง (2) ควบคุมการเกิดไฟไหม้ป่า (3) การจัดทำปุ๋ยหมักสูตรพระราชทาน และ (4) การตั้งศูนย์ประสานงานแก้ปัญหาหมอกควัน งบประมาณ 803.4 ล้านบาท โดยมีแผนปฏิบัติในพื้นที่ที่เกิดจุดความร้อนสูง 4,000 จุด ๆ ละ 100 ไร่ รวม 400,000 ไร่ ครอบคลุมพื้นที่ 9 จังหวัดภาคเหนือ โดยนำเสนอแนวทางแก้ปัญหาหมอกควันผ่านกระทรวงมหาดไทย กระทรวงเกษตรฯ และอยู่ระหว่างรอการแปรญัตติในเดือน ก.ค.59 พร้อมทั้งได้ดำเนินการติดตามสถานการณ์จุดความร้อนรายวันเผยแพร่ผ่านเว็บไซต์กรมฯ และ จัดทำโครงการรณรงค์ไถกลบตอซังพืช พื้นที่เป้าหมายจำนวน 146 แปลง ดำเนินการได้ 146 แปลง ลดการเผาในพื้นที่โล่งเตียน พื้นที่เป้าหมาย 5,350 ไร่ ดำเนินการได้ 4,970 ไร่ ส่งเสริมการปลูกต้นไม้ยืนต้นโตเร็ว พื้นที่เป้าหมาย 1.865 ไร่ ดำเนินการได้ 785 ไร่ นอกจากนี้ กรมพัฒนาที่ดิน ร่วมกับสถาบันวิจัยและพัฒนาพื้นที่สูง (องค์การมหาชน) ได้ศึกษาและสาธิตการจัดทำระบบการปลูกพืช โดยปลูกข้าวโพดร่วมกับพืชตระกูลถั่วและแนะนำให้เกษตรกรนำไปปรับใช้ในพื้นที่โดยไม่เผาเศษพืชเพื่อแก้ไขปัญหาหมอกควัน 2 วิธีการ คือ 1.การปลูกข้าวโพดเหลื่อมด้วยพืชตระกูลถั่ว และ 2.การปลูกข้าวโพดตามด้วยพืชตระกูลถั่ว โดยในปี 2559 กรมฯ ได้ส่งเสริมให้เกษตรกรปลูกข้าวโพดร่วมถั่ว ในพื้นที่ศูนย์พัฒนาโครงการหลวง จ.ชียงใหม่ และเชียงราย จำนวน 800 ไร่ และพื้นที่เกษตรกรรมทั่วไปใน จ.เชียงใหม่ จำนวน 100 ไร่ และ จ.น่าน จำนวน 600 ไร่ ทั้งนี้ กรมพัฒนาที่ดินจะดำเนินการขยายผลและถ่ายทอดเทคโนโลยีดังกล่าวให้ครบ 9 จังหวัดภาคเหนือเพื่อป้องกันและแก้ไขปัญหาหมอกควันในพื้นที่ต่อไป

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ