กว่า 300 ครอบครัวตื่นตัวแก้ปัญหาลูก “ติดจอ-ติดเกม” พ่อ แม่ ลูก จูงมือเข้าอบรมค่าย “ดิจิตอลของเด็กดี” หวังลดภาวะเสี่ยง ร่วมจัดสรรชีวิตครอบครัวให้สมดุล สสส. กระตุ้นสร้างการรู้เท่าทันสื่อให้กับเด็กและเยาวชน

ข่าวทั่วไป Thursday May 19, 2016 15:29 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--19 พ.ค.-- บริษัท ปันฝัน ปันยิ้ม จำกัด ร่วมกับ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) สายการบินนกแอร์ บมจ. แพลน บี มีเดีย บริษัท โทรีเซนไทย เอเยนต์ซีส์ จำกัด และการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) จัดกิจกรรมอบรมค่ายสร้างสรรค์ภายใต้ชื่อโครงการ "ดิจิตอลของเด็กดี" เพื่อลดภาวะเสี่ยงการ "ติดจอ-ติดเกม" ในกลุ่มเด็กและเพื่อส่งเสริมความสัมพันธ์ในครอบครัว ดร.ณัฐพงศ์ โมกขพันธ์ ผู้อำนวยการ บริษัท ปันฝัน ปันยิ้ม จำกัด ผู้รับผิดชอบโครงการ "ดิจิตอลของเด็กดี" เปิดเผยว่า โครงการฯ ได้รับการตอบรับเป็นอย่างดีจากจำนวนครอบครัวที่สนใจสมัครเข้าร่วมกิจกรรมมากถึง 300 ครอบครัว จากเดิมที่ตั้งเป้าไว้เพียง 200 ครอบครัว แสดงให้เห็นว่า สังคมไทยเริ่มตื่นตัวกับปัญหาของเด็กติดเกมและเด็กติดจอ ซึ่งนับวันจำนวนเด็กติดเกมและติดจอยิ่งเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ ข้อมูลวิชาการล่าสุดพบว่า เฉลี่ยเด็กไทย 8 คนจะมีติดเกม 1 คน เท่ากับขณะนี้มีเด็กไทยติดเกมสูงถึง 2.7 ล้านคน พบในช่วงอายุ 7-20 ปีมากที่สุด นอกจากนี้ยังพบว่าเด็กผู้ชายมีความเสี่ยงในการติดเกมและติดจอมากกว่าเด็กผู้หญิง 2 : 1 คน และที่น่าเป็นห่วงที่สุดคือ ตัวเลขเด็กติดเกมและติดจอมีช่วงอายุเฉลี่ยน้อยลงเรื่อยๆ และพบว่าเด็ก-เยาวชนในภูมิภาคเอเชียมีความเสี่ยงสูงกว่าเด็ก-เยาวชนในประเทศแถบยุโรป ซึ่งเป็นประเทศที่มีความเจริญด้านเทคโนโลยีกว่าประเทศไทยอย่างมาก ซึ่งสาเหตุทีทำให้เด็กติดเกมและติดจอน้อยกว่าไทยเพราะประเทศในแถบยุโรป ให้ความสำคัญกับเรื่องกฎ กติกา และระเบียบอย่างมาก ขณะเดียวกันยังส่งเสริมด้านสุขอนามัย และสิ่งแวดล้อมให้กับเด็กและเยาวชนอย่างจริงจัง เช่น การสร้างสถานที่ออกกำลังกาย ทำให้เด็กมีสถานที่สำหรับการพักผ่อนหย่อนใจไม่หมกมุ่นกับโลกของเทคโนโลยีอย่างเดียว "โครงการฯ นี้ มีเป้าหมายสำคัญคือ เพื่อลดภาวะการติดเกมและติดจอของเด็กและวัยรุ่น โดยสร้างลักษณะนิสัยที่ดีให้มีความรับผิดชอบ รู้จักหน้าที่ สามารถแบ่งเวลาให้ถูกต้อง รวมทั้งสร้างความสัมพันธ์ที่ดีในครอบครัว เพื่อช่วยลดปัญหาความก้าวร้าวในสังคมไทย อันเนื่องมาจากได้อิทธิพลจากการเล่นเกมบางประเภท และป้องกันไม่ให้เด็กกลับไปมีพฤติกรรมเช่นเดิมอีก" ดร.ณัฐพงศ์ กล่าว ดร.นพ.ไพโรจน์ เสาน่วม ผู้อำนวยการสำนักสร้างเสริมวิถีชีวิตสุขภาวะ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) กล่าวว่า ปัจจุบันเด็กใช้เวลาอยู่กับสื่อวันละ 3-5 ชั่วโมง มากกว่าอยู่ในห้องเรียนหรือครอบครัว สื่อจึงถือเป็นแหล่งการเรียนรู้ทางสังคมที่สำคัญ และมีอิทธิพลต่อการเรียนรู้และพฤติกรรมของคนในสังคม โดยเฉพาะเด็กและเยาวชน เนื่องจากพฤติกรรมส่วนใหญ่เป็นการเรียนรู้จากการสังเกตจากผู้อื่นหรือตัวต้นแบบ ซึ่งเด็กและเยาวชนยังขาดทักษะเท่าทันสื่อทั้งด้านการรับสื่อและการใช้สื่อ จากการสำรวจทัศนคติด้านการเข้าถึงและการใช้สื่อของเด็กเยาวชน โดยเครือข่ายเสียงประชาชน (We Voice) ในปี 2556 พบว่า ทุกกลุ่มเห็นตรงกันว่าปัจจุบันเด็กและเยาวชนมีโอกาสเข้าถึงสื่อไม่ดีมากกว่าสื่อดี อุปสรรคสำคัญที่สุด 3 อันดับแรกที่ทำให้เด็กเยาวชนไม่ได้นำสื่อไปใช้ให้เกิดประโยชน์ คือ พ่อแม่ไม่ส่งเสริม รองลงมาคือตัวเด็กเองไม่สนใจ และขาดการส่งเสริมจากภาครัฐ/ ท้องถิ่น ตามลำดับ ซึ่งการจัดค่ายดิจิตอลเด็กดี จะสร้างการรู้เท่าทันสื่อให้กับเด็กและเยาวชน และช่วยเผยแพร่สื่อเกี่ยวกับการจัดสมดุลของชีวิต รวมถึงสร้างความสัมพันธ์ภาพที่ดีของครอบครัว "สสส. มียุทธศาสตร์ส่งเสริมสื่อและพื้นที่สร้างสรรค์ในการพัฒนาเด็กเยาวชนและครอบครัว เพื่อส่งเสริมให้เกิดสื่อสร้างสรรค์ที่เหมาะสม ดี และเพียงพอ โดยใช้สื่อเป็นเครื่องมือสำคัญในการสร้างภูมิคุ้มกันและเสริมพลังให้เด็ก เยาวชน และครอบครัว ผ่านยุทธศาสตร์ 3 ดี คือ สื่อดี พื้นที่ดี และภูมิดี ผลจากการทำงานที่ผ่านมา พบว่า กิจกรรมสื่อและพื้นที่สร้างสรรค์ เป็นส่วนสำคัญในการสร้างภูมิคุ้มกันและทักษะชีวิตของเด็กและเยาวชนให้มีความฉลาดรู้ทางสื่อ (Media Literacy) ความฉลาดรู้ทางสุขภาพ (Health Literacy) และความตื่นรู้ทางปัญญา (Spiritual Literacy) ได้อย่างทรงพลัง" ดร.นพ.ไพโรจน์ กล่าว ด้าน รศ.นพ.ชาญวิทย์ พรนภดล หัวหน้าสาขาวิชาจิตเวชเด็กและวัยรุ่น คณะแพทยศาสตร์ ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล อธิบายถึงพฤติกรรมที่แสดงว่าติดเกมและติดจอว่า หมายถึงเด็กที่หมกมุ่นอยู่กับจอและเล่นเกมมากเกินไป จนไม่สามารถควบคุมตนเองให้เล่นในเวลาที่กำหนดได้ และเล่นนานมากขึ้นเรื่อยๆ บางคนเล่นข้ามวันข้ามคืน เมื่อถูกบังคับให้เลิก หรือหยุดจะมีพฤติกรรมในเชิงต่อต้าน หงุดหงิด ไม่พอใจอย่างรุนแรง บางคนถึงขั้นก้าวร้าว ถ้ามีอาการแบบนี้ถือว่าเข้าข่ายติดเกมและติดจอแล้ว โดยพ่อแม่ ที่เป็นกลุ่มเสี่ยงให้ลูกมีโอกาสติดเกมและติดจอมี 8 กลุ่มได้แก่ 1. พ่อแม่ Busy 2. พ่อแม่ที่รู้เท่าไม่ถึงการณ์ 3. พ่อแม่ที่กลัวอารมณ์ลูก 4. พ่อแม่ชอบใจอ่อน 5. พ่อแม่ที่ละเลยความสำคัญของวินัย 6.พ่อแม่ที่ขัดแย้งกันเอง 7. พ่อแม่ละเลยกิจกรรมในครอบครัว 8. พ่อแม่ที่เอาแต่บ่น เป็นต้นดังนั้น เมื่อไม่สามารถแยกเด็กออกจากการเล่มเกมหรือจอได้ จึงต้องมีกฎกติกาอย่างเคร่งครัด การเล่นเกมหรือดูจอต่างๆ ไม่ทำร้ายสุขภาพถ้าเป็นการเล่นเพื่อการผ่อนคลาย หรือเพื่อความสนุกสนานเท่านั้น ประการสำคัญพ่อแม่ควรให้เวลากับลูก และหากิจกรรมดีๆ ทำร่วมกัน นอกจากเป็นการดึงลูกออกจากเกมและจอได้แล้ว ยังสร้างความรักความอบอุ่น และความสัมพันธ์อันดีในครอบครัวอีกด้วย สำหรับกิจกรรมการอบรมค่ายสร้างสรรค์จะจัดขึ้นทั้งหมด 5 ค่าย ในภูมิภาคต่างๆ ทั่วประเทศ ได้แก่ กรุงเทพฯ, เชียงใหม่, ขอนแก่น, สงขลา และชลบุรี สำหรับค่ายแรกจัดขึ้นในกรุงเทพฯ ระหว่างวันที่ 6-7 พ.ค. 2559 ที่โรงแรมสยามแอทสยาม ดีไซน์ กรุงเทพฯ มีผู้เข้าร่วมกิจกรรมทั้งหมดกว่า 150 คน รวม 70 ครอบครัว จากจำนวนผู้สนใจสมัครเข้าร่วมโครงการแล้วว่า 300 ครอบครัวทั่วประเทศ การอบรมมีทั้งการบรรยายและกิจกรรมสร้างสรรค์ผลงาน โดยกำหนดให้ผู้ปกครองเป็นที่ปรึกษา และกลุ่มเด็กสามารถขอคำแนะนำจากผู้ปกครองได้ มุ่งเน้นการจัดกิจกรรมที่มีการวางแผนงานร่วมกัน คิด วิเคราะห์ เพื่อให้เกิดผลลัพธ์ร่วมกัน โดยรูปแบบกิจกรรมจะมีความสร้างสรรค์ สามารถต่อยอดเป็นงานอดิเรก มีประโยชน์ต่อสังคม และสามารถทำร่วมกันในครอบครัวได้ เช่น กิจกรรมเวิร์กช้อป กิจกรรมทำสิ่งประดิษฐ์ DIY เป็นต้น ทั้งนี้ หลังจากจัดกิจกรรมค่ายแล้ว โครงการจะมีการติดตามประเมินผล โดยการลงพื้นที่สังเกตพฤติกรรมเด็กที่เข้าร่วมโครงการ เพื่อให้ผลของการจัดกิจกรรมดังกล่าวมีความยั่งยืน ทำให้เด็กไม่มีพฤติกรรมเสี่ยงหรือมีแนวโน้มกลับไปติดเกมหรือติดจอได้อีก สำหรับผู้ที่สนใจติดตามโครงการดีๆ ของ "ดิจิตอลของเด็กดี" สามารถติดตามได้ที่www.facebook.com/DigitalDekD

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ