“สุราษฎร์ธานี” เปิดเวทีแลกเปลี่ยนเรียนรู้พัฒนาครูด้วย “PLC” เตรียมขยายผลหนุนพลัง “ครู” สู่การปฏิรูปการจัดการศึกษาเชิงพื้นที่

ข่าวทั่วไป Monday May 23, 2016 10:45 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--23 พ.ค.--ไอแอมพีอาร์ เป็นที่ยอมรับกันว่า "ครู" เป็นผู้ที่มีความสำคัญยิ่งในการพัฒนาศักยภาพและการเรียนรู้ของเด็กและเยาวชน เพราะครูเป็นผุ้ที่อยู้ใกล้ชิดกับนักเรียนมากที่สุด และสามารถสร้างความเปลี่ยนแปลงให้กับผู้เรียนได้มากที่สุดเช่นกนัน ดังนั้นในช่วงที่เรากำลังอยู่ในห้วงยามของการ "ปฏิรูปการศึกษา" จึงไม่อาจที่จะละเลย "การพัฒนาครู" ควบคู่กันไปได้ เพราะที่ผ่านมาเราใช้การ "ฝึก-อบรม" เพื่อพัฒนาครู ซึ่งเป็นการเอาเวลาครูไปจากเด็ก สาระความรู้ที่ได้รับก็อาจจะไม่สอดคล้องกับความต้องการ และไม่เชื่อมโยงกับปัญหาที่เกิดขึ้นในชั้นเรียนที่มีความหลากหลายตามบริบทของชุมชน จนไม่สามารถแก้ปัญหาต่างๆ ที่เกิดขึ้นกับลูกศิษย์ได้ สำนักงานส่งเสริมสังคมแห่งการเรียนรู้และคุณภาพเยาวชน(สสค.) จึงได้ชวน 5 จังหวัดนำร่องได้แก่ เชียงใหม่, น่าน, นครราชสีมา, อำนาจเจริญ และสุราษฎร์ธานี ที่สนใจในการพัฒนาครูเพื่อสร้างการเปลี่ยนแปลงสู่ผู้เรียนเข้าร่วมใน โครงการพัฒนาระบบกลไกและแนวทางการหนุนเสริมชุมชนการเรียนรู้ทางวิชาชีพเพื่อพัฒนาผู้เรียน (Professional Learning Community) หรือ PLC ซึ่งเป็นวิธีการพัฒนาครูที่ใช้สถานการณ์จริงในชั้นเรียนเป็นโจทย์ในการทำงาน ใช้ปัญหาที่เกิดการเรียนการสอนเป็นตัวตั้ง แลกเปลี่ยนเรียนรู้ซึ่งกันและกันระหว่างเพื่อนครู โดยมีผู้รู้และนักวิชาการจากภายนอกช่วยให้คำแนะนำ โดยมีเป้าหมายร่วมกันคือการพัฒนาการจัดการเรียนรู้และตัวผู้เรียน ล่าสุด จังหวัดสุราษฎร์ธานี โดย องค์การบริหารส่วนจังหวัดสุราษฎร์ธานี และ สมัชชาการศึกษาจังหวัดสุราษฎร์ธานี ได้จัดเวทีแลกเปลี่ยนเรียนรู้ภายใต้ "โครงการพัฒนาครูโดยใช้พื้นที่เป็นฐานจังหวัดสุราษฎร์ธานี" ขึ้น เพื่อถ่ายทอดประสบการณ์การพัฒนาครูโดยใช้กระบวนการ PLC เข้าไปแก้ปัญหาการจัดการเรียนการสอนจาก 11 โรงเรียนนำร่องในพื้นที่และตัวแทนจาก 5 จังหวัดที่เข้าร่วมโครงการ และการอภิปรายพิเศษในหัวข้อ "การปฏิรูปการศึกษากับการจัดการเชิงพื้นที่" ดร.สีลาภรณ์ บัวสาย รองผู้อำนวยการสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัยด้านนวัตกรรมกล่าวถึงการจัดการศึกษาเชิงพื้นที่หรือ Area-Based Education (ABE)ว่ามีความเกี่ยวข้องกับการพัฒนาครูอย่างแยกกันไม่ออก เพราะเป็นระบบการจัดการที่จะสร้างให้เกิดปัจจัยสำคัญของการปฏิรูปการศึกษา 3 ด้านคือ หนึ่งเกิดกลไกและภาคีที่จะเข้ามาทำงานร่วมกัน สองเกิดฐานข้อมูลซึ่งเป็นหัวใจสำคัญของการขับเคลื่อนงานทุกๆ ด้าน และสามเกิดกระบวนการปลดปล่อยพลังงานในพื้นที่ให้ออกมาทำงาน "ความสำเร็จของการจัดการศึกษาเชิงพื้นที่อยู่ที่การเปิดพื้นที่ให้คนได้เข้ามาริเริ่มหรือทดลองในวิธีการต่างๆ ที่จะสร้างให้เกิดการเปลี่ยนแปลงขึ้น สิ่งที่สำคัญของการทำงานก็คือเรื่องของข้อมูล ที่จะทำให้เรารู้ว่าเรามีครูที่เก่งๆ อยู่ที่ไหน และกระบวนการ PLC ก็เป็นเครื่องมือที่สำคัญที่จะเข้าไปดึงพลังเหล่านั้นออกมา และ PLC ยังเป็นการเปิดพื้นที่ให้คนที่อยากจะทำอะไรดีๆ ได้ทดลองทำ ได้ทดลองสร้างนวัตกรรมใหม่ๆ ในพื้นที่ที่จะสามารถเห็นความเปลี่ยนแปลงได้อย่างรวดเร็ว เพราะครูคือผู้ที่อยู่กับเด็กทุกวัน และตัวเด็กเองก็มีเรื่องใหม่ๆ เข้ามาท้ายทายให้ครูแก้ไขอยู่เสมอ" ผศ.ดร.ณรงค์ พุทธิชีวิน อดีตคณะกรรมาธิการปฏิรูปการศึกษาและการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ สภาปฏิรูปแห่งชาติ กล่าวถึงการจัดการศึกษาเชิงพื้นที้ในระหว่างการอภิปรายว่า ความสำเร็จของการปฏิรูปการศึกษานั้นจะต้องเกิดขึ้นจากสังคมที่เป็นพหุวัฒนธรรม เช่นรูปแบบการรวมตัวกันทำงานในลักษณะของสมัชชาการศึกษาอย่างที่จังหวัดสุราษฎร์กำลังดำเนินงานอยู่ "ตรงนี้เองที่ถือว่าเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญเหมือนที่ทาง สปช.ได้เสนอไว้ว่าจะต้องไม่มีการส่งผ่านอำนาจจากส่วนกลางมายังพื้นที่ แต่ต้องให้คนในพื้นที่ออกแบบคิดและจัดการศึกษาตามที่พื้นที่หรือตัวเองต้องการ ดังนั้นสมัชชาการศึกษาคือภาพที่ สปช.ต้องการเห็น และวันนี้สุราษฎร์ธานีก็ถือว่ามาถูกทางแล้ว แต่สิ่งสำคัญนอกเหนือไปจากการสร้างคนที่มีคุณลักษณะตามที่แต่ละจังหวัดต้องการแล้ว โจทย์อีกข้อหนึ่งของการศึกษาก็คือ ทำอย่างไรให้การศึกษาสามารถสร้างคนให้เป็นมนุษย์ที่สมบูรณ์แบบ และสามารถสร้างคนให้ตอบโจทย์ของประเทศในวันนี้และในอนาคตได้ด้วย" โดยในเวทีแลกเปลี่ยนเรียนรู้ประสบการณ์การนำ PLC ไปใช้ในการพัฒนาผู้เรียนของสถานศึกษานำร่องในพื้นที่ 5 จังหวัดที่เข้าร่วมโครงการ ยังได้ข้อสรุปที่ตรงกันว่ากระบวนการ PLC นั้นเป็นการพัฒนาครูเพื่อที่นำไปสู่การพัฒนาผู้เรียนที่เห็นผลลัพธ์และเกิดความเปลี่ยนแปลงได้อย่างชัดเจน "PLC เป็นกระบวนการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ที่ดีที่สุดในการนำปัญหามาแสวงหาวิธีการแก้ปัญหาที่ดีที่สุดให้เกิดกับผู้เรียน ที่ช่วยลดความเครียดของครูในการไปอบรมข้างนอกหรือการติดตามตรวจสอบประเมินผล เพราะ PLC เป็นการสร้างชุมชนในโรงเรียน ใช้โรงเรียนเป็นฐาน ครูจับคู่กันทำงานเพื่อหาจุดบกพร่องของการจัดการเรียนการและหาวิธีแก้ปัญหาร่วมกัน ภาพที่เห็นก็คือเด็กๆ เกิดความสนุกจากการเรียนรู้และวิธีการต่างๆ ที่ครูนำเข้าไปใช้แก้ปัญหาในห้องเรียน" ดร.หนึ่งฤทัย ชัยดารา โรงเรียนบ้านหางดง จังหวัดเชียงใหม่ หนึ่งในตัวแทนของ 5 จังหวัดระบุถึงประโยชน์และข้อดีของ PLC ด้าน รศ.ดร.บังอร เสรีรัตน์ ผู้เชี่ยวชาญ สสค. เปิดเผยว่าปัจจัยความสำเร็จของการนำ PLC ไปใช้ในโรงเรียนคือการเปิดใจยอมรับของครูและผู้บริหาร โดยกระบวนการ PLC นั้นไม่มีหลักสูตรตายตัว มีเพียงหลักการกว้างๆ มาผนวกรวมเข้ากับบริบทของแต่ละโรงเรียน จุดเริ่มต้นส่วนใหญ่จะเกิดขึ้นจากการนำเอาปัญหามาคิดร่วมกันจนนำไปสู่การพัฒนาแนวทางการแก้ไขปัญหา "องค์ความรู้ในการแก้ปัญหาการจัดการเรียนการสอนที่เกิดขึ้นของแต่ละโรงเรียนเป็นนวัตกรรมที่สามารถนำไปใช้หรือต่อยอดขยายผลได้เรื่อยๆ อย่างไม่สิ้นสุด ซึ่งการใช้กระบวนการหนุนเสริมชุมชนการเรียนรู้ทางวิชาชีพครูเพื่อพัฒนาผู้เรียนนั้นจะทำแบบรีบเร่งไม่ได้ ต้องค่อยๆ ต่อเติมและค่อยๆ เรียนรู้กันไปเรื่อยๆ แต่เมื่อทำแล้วจะเห็นผลลัพธ์และความเปลี่ยนแปลงกับตัวเด็กนักเรียนที่ชัดเจน และสิ่งที่สำคัญที่สุดของกระบวนการนี้ก็คือ PLC จะสร้างให้เกิดโรงเรียนที่มีความสุข เป็นความสุขที่เกิดขึ้นทั้งกับตัวครูผู้สอน และเป็นความสุขที่เกิดขึ้นกับตัวของผู้เรียน" "ถึงแม้ว่าชุมชนการเรียนรู้ทางวิชาชีพ หรือ PLC จะสามารถสร้างนวัตกรรมในการจัดการเรียนการสอนได้หลากหลาย แต่สิ่งที่สำคัญคือเมื่อได้นวัตกรรมแล้วจะช้อนหรือนำนวัตกรรมเหล่านั้นมาใช้ให้เหมาะสมกับพื้นที่ได้อย่างไร ซึ่งตรงนี้เป็นโจทย์สำคัญให้โรงเรียนต่างๆ ที่เข้าร่วมโครงการในรุ่นต่อไปจะต้องให้ความสำคัฐ ซึ่งหากทำตรงนี้ได้ดีทางองค์การบริหารส่วยจังหวัดสุราษฎร์ธานีก็พร้อมและยินดีที่จะขยายผลในรุ่นต่อๆไป" นายชัยวัฒน์ แก้วบัวทอง ประธานโครงการพัฒนาครูโดยใช้พื้นที่เป็นฐานจังหวัดสุราษฎร์ธานี ระบุถึงแนวทางการขยายผล PLC ต่อไปในอนาคต กระบวนการพัฒนาครูเพื่อมุ่งสู่การสร้างความเปลี่ยนแปลงให้เกิดกับผู้เรียน นับเป็นอีกหนทางหนึ่งในการสร้างให้เกิดชุมชนแห่งการเรียนรู้อย่างมีความสุขขึ้นในโรงเรียน และยังเป็นจุดเริ่มต้นของการปฏิรูปการศึกษาที่เริ่มต้นจากจุดที่สำคัญที่สุดนั่นก็คือตัวของครูนั่นเอง.

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ