ชมรมขับเคลื่อนวิชาการเพื่อวิจัยความสุขชุมชน สำนักวิจัย ซูเปอร์โพล เสนอผลวิจัยเชิงสำรวจ เรื่อง สำรวจ ครบรอบ 2 ปี รัฐบาล บิ๊กตู่ และ คสช. กับ ข้อเท็จจริงและความรู้สึกของสาธารณชน กรณีศึกษาตัวอย่างประชาชนผู้มีสิทธิเลือกตั้งใน 15 จังหวัด

ข่าวทั่วไป Tuesday May 24, 2016 15:40 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--24 พ.ค.--สำนักวิจัย ซูเปอร์โพล ดร.นพดล กรรณิกา ประธานชมรมขับเคลื่อนวิชาการเพื่อวิจัยความสุขชุมชน สำนักวิจัย ซูเปอร์โพล (SUPER POLL) เปิดเผยผลสำรวจเรื่อง สำรวจ ครบรอบ 2 ปีรัฐบาล บิ๊กตู่ และ คสช. กับ ข้อเท็จจริงและความรู้สึกของสาธารณชน กรณีศึกษาตัวอย่างประชาชนผู้มีสิทธิเลือกตั้งใน 15 จังหวัด ได้แก่ กรุงเทพมหานคร เชียงราย เชียงใหม่ พิษณุโลก นครราชสีมา มุกดาหาร ขอนแก่น อุดรธานี ปทุมธานี ลพบุรี นครปฐม ชลบุรี นครศรีธรรมราช สงขลา และนราธิวาส จำนวนทั้งสิ้น 6,154 ตัวอย่าง ดำเนินโครงการระหว่างวันที่ 1 – 21 พฤษภาคม 2559 ที่ผ่านมา จากการสำรวจข้อเท็จจริงและความรู้สึกของสาธารณชน ต่อประเด็น เศรษฐกิจ สังคม และการเมืองในช่วงก่อน และ หลัง รัฐบาล คสช. เข้ามาครบรอบ 2 ปี พบว่า ก่อน รัฐบาล และ คสช. เข้ามา ร้อยละ 79.3 พบราคาน้ำมันที่เคยสูงมาก โดยเบนซินเกือบ 50 บาทต่อลิตร แก๊สโซฮอล์ร่วม 40 บาทต่อลิตร และดีเซล ร่วม 30 บาทต่อลิตร แต่หลังจาก รัฐบาล และ คสช. เข้ามาครบรอบ 2 ปี เหลือร้อยละ 0.0 หรือไม่พบราคาน้ำมันที่สูงมากดังกล่าว นอกจากนี้ ก่อน รัฐบาล คสช. เข้ามา ร้อยละ 93.8 ระบุ ราคา หวย ขายเกินราคา แต่หลังจาก รัฐบาล และ คสช. เข้ามา ลดลง เหลือเพียงร้อยละ 12.5 ที่ยังคงพบว่ามีการขายหวยเกินราคาอยู่ แต่ประเด็นที่ยังน่าเป็นห่วงคือ ร้อยละ 64.5 ระบุราคาอาหาร ข้าวแกง แพง ในช่วงก่อน รัฐบาล และ คสช. เข้ามา ล่าสุด ร้อยละ 65.1 ยังคงพบว่าราคาอาหารและข้าวแกง ยังแพง อยู่ ดร.นพดล กล่าวต่อว่า ในประเด็นทางสังคม พบว่า ร้อยละ 95.5 ระบุ สามารถเข้าถึงบริการสุขภาพได้ เพิ่มขึ้นเป็น ร้อยละ 98.9 นอกจากนี้ ความสุขของประชาชนต่อระบบการศึกษา เพิ่มขึ้นจากร้อยละ 63.2 เป็นร้อยละ 71.4 อย่างไรก็ตาม ที่น่าเป็นห่วงคือ ในเรื่อง ความรู้สึกไม่ปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สิน ก่อนรัฐบาล และ คสช. เข้ามา พบประชาชน ร้อยละ 57.0 รู้สึกไม่ปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สิน เพิ่มขึ้นเป็นร้อยละ 62.7 ที่รู้สึกไม่ปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินเพิ่มขึ้น แต่ที่น่าพิจารณาคือ ประเด็นทางการเมือง พบว่า บ้านเมืองอยู่ในความสงบเรียบร้อยมากขึ้น จากร้อยละ 14.3 ก่อน รัฐบาลและ คสช. เข้ามา เป็นร้อยละ 70.5 หลังรัฐบาล และ คสช. เข้ามา ที่พบว่า บ้านเมืองอยู่ในความสงบเรียบร้อย ดร.นพดล กล่าวต่อว่า ประชาชนส่วนมาก หรือ ร้อยละ 46.5 ยังคงให้โอกาส คสช. แก้ปัญหาประเทศต่อไปอีก 2 ปีขึ้นไป ในขณะที่ร้อยละ 25.9 ให้โอกาสอีก 1 – 2 ปี และร้อยละ 27.6 ให้โอกาสน้อยกว่า 1 ปี และเมื่อแยกออกตามภูมิภาค พบว่า ประชาชนทุกภาค ยกเว้น ภาคอีสานที่สนับสนุนให้โอกาส คสช. ให้ทำงานแก้ปัญหาของประเทศต่อไปอีก 2 ปีขึ้นไป โดยพบว่า ร้อยละ 56.2 ของคนในภาคกลาง ร้อยละ 54.8 ของคนในภาคใต้ ร้อยละ 47.3 ของคนกรุงเทพมหานคร และร้อยละ 45.1 ของคนในภาคเหนือ ที่ให้โอกาส คสช. ทำงานแก้ปัญหาของประเทศมากกว่า 2 ปีขึ้นไป ยกเว้น คนในภาคอีสานที่มีอยู่ร้อยละ 29.9 ให้โอกาส คสช. เกิน 2 ปีขึ้นไป และร้อยละ 25.1 ให้โอกาส 1 – 2 ปี ตามลำดับ และเมื่อถามถึง คนที่เหมาะสมกับตำแหน่งนายกรัฐมนตรีมากกว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ในสถานการณ์การเมืองขณะนี้ เปรียบเทียบระหว่าง เดือนมีนาคม กับ เดือนพฤษภาคม พบว่า แนวโน้มยังเหมือนเดิม คือ ประชาชนส่วนใหญ่ร้อยละ 76.1 ในเดือนมีนาคม และร้อยละ 76.6 ในเดือนพฤษภาคม ระบุ ยังไม่มีคนอื่นที่เหมาะสมกว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ในสถานการณ์การเมืองขณะนี้ ดร.นพดล กรรณิกา กล่าวว่า ผลสำรวจครั้งนี้ ชี้ให้เห็นว่า รัฐบาลและ คสช. กำลังเผชิญกับ กฎแห่งการลดน้อยถอยลง ( Law of Diminishing Returns) คล้ายๆ กับการรับประทานไอศครีมที่จะอร่อยชื่นใจในคำแรกๆ แต่เมื่อรับประทานหลายๆ คำเข้าไปจะให้อร่อยชื่นใจเหมือนคำแรกๆ คงยาก จากผลสำรวจนี้ ราคาอาหาร ข้าวแกงแพง และความรู้สึกไม่ปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สิน กำลังเป็นจุดอ่อนที่ต้องเร่งแก้ไข โดยเสนอให้นำ แนวคิด "ประชารัฐพลัส (Pracharat+)" มาเป็นแนวทาง โดยมีภาคีเครือข่าย 3 กลุ่มได้แก่ กลุ่มนายทุน กลุ่มผู้ไม่หวังผลกำไร (NGO) และกลุ่มภาครัฐ โดยภาครัฐเป็นผู้ออกกฎ (Regulator) วางแนวทางให้ กลุ่มนายทุน และ กลุ่มผู้ไม่หวังผลกำไร เป็นผู้ปฏิบัติ (Operators) เข้ามารับงานไปจัดการควบคุมราคาอาหาร ข้าวแกง หรือ สร้างความรู้สึกปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินของประชาชนให้สำเร็จโดยทำสัญญากับภาครัฐว่า ถ้าทำได้สำเร็จก็จะได้รับงบประมาณว่าจ้างตามสัญญา แต่ถ้าทำไม่สำเร็จ ภาครัฐก็ไม่ต้องจ่ายใดๆ และเม็ดเงินภาษีของประชาชนก็จะอยู่ครบ โดยภาครัฐก็ยังคงทำงานปกติควบคู่ไปด้วยเพียงแต่บริหารจัดการทรัพยากรใหม่ตอบให้ตรงโจทย์ "แนวทางประชารัฐเช่นนี้จึงเป็นการปฏิรูประบบการเงินการคลัง ไม่ใช่ประชานิยมที่นักการเมืองจะมาแสวงหาผลประโยชน์ได้อีกต่อไป เพราะประชานิยมนั้น ภาครัฐเป็นทั้งผู้ออกกฎและผู้ปฏิบัติ ทำให้ฝ่ายการเมืองแย่งกันเข้ามามีอำนาจออกกฎเกณฑ์ตัดสินใจใช้จ่ายงบประมาณให้ลงพื้นที่และกลุ่มฐานเสียงการเมืองของตนเป็นสำคัญ โดยภาครัฐเป็นผู้ปฏิบัติเสียเองเหมือนตำน้ำพริกละลายแม่น้ำในการใช้งบประมาณที่ไม่เป็นธรรมต่อคนทั้งประเทศ ขณะที่กลุ่มข้าราชการและเจ้าหน้าที่รัฐก็เสี่ยงสูงที่จะตกเป็นเหยื่อความผิดฐานทุจริตคอร์รัปชั่นมากกว่านักการเมือง" ดร.นพดล กล่าว

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ