นักเรียนนักศึกษา คือผู้บริโภคที่จะไม่ได้รับการคุ้มครองจริงหรือ?

ข่าวทั่วไป Thursday May 26, 2016 16:48 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--26 พ.ค.--เจซีแอนด์โค พับลิครีเลชั่นส์ "การศึกษา" มีความสำคัญต่อการพัฒนาบุคลากรของประเทศอย่างมาก แต่การศึกษาของประเทศไทย กลับกำลังมีปัญหา ทั้งความเหลื่อมล้ำในโอกาสการศึกษาที่ไม่ทั่วถึง คุณภาพการสอน ผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนของผู้เรียนอยู่ในระดับต่ำ และการส่งเสริมสถานศึกษา ฯลฯ นอกจากนี้ปัญหาระดับนโยบายการขาดความต่อเนื่องเชิงนโยบายยิ่งเป็นสิ่งฉุดรั้งให้คุณภาพการศึกษาไทยอยู่รั้งท้ายอันดับโลก โดยอยู่อันดับ 8 ของอาเซียนด้วยซ้ำ ซึ่งปัญหาที่เกิดขึ้นทั้งหมดจะต้องมองดูว่าระบบการบริหารการศึกษาของประเทศเป็นเช่นไร ทั้งนี้หากเปรียบเรื่องการผลิตอาหารยังมี อย. เป็นหน่วยงานควบคุมคุณภาพ ดังนั้น ระบบการศึกษาก็เช่นกันย่อมจะต้องมีการตรวจสอบและประกันคุณภาพ เพื่อให้สถาบันการศึกษาที่มีคุณภาพ และสามารถการันตีคุณภาพการศึกษา ต่อผู้บริโภคซึ่งคือ "เยาวชน" ของประเทศ ตลอดจนยังเป็นการการันตีคุณภาพแก่พ่อแม่ผู้ปกครองมั่นใจว่า บุตรหลานของตนได้ศึกษาในสถาบันที่มีมาตรฐานซึ่งไม่เพียงเพื่อช่วยลดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาให้กับประชาชน แต่ยังเปรียบเสมือนเป็นการคุ้มครองผู้บริโภคให้ได้รับสินค้าหรือการบริการที่มีคุณภาพอย่างแท้จริง ดังนั้น บทบาทของการประกันคุณภาพการศึกษา คือการประกันความเสี่ยงต่อคุณภาพการศึกษา เพื่อเป็นหลักประกันความเชื่อมั่นของผู้รับบริการ (ผู้เรียน) และผู้รับผลกระทบ (ผู้ปกครอง/ชุมชน/สังคม/ประเทศไทย) ที่จะมั่นใจได้ว่ารูปแบบการบริหารจัดการของสถานศึกษาและวิธีการจัดการเรียนการสอนของสถานศึกษาจะมีมาตรฐานและสามารถพัฒนาผู้รับบริการให้มีความรู้ ความสามารถ คุ้มค่ากับที่ได้ส่งให้บุตรหลานไปเรียนและส่งผลต่อการพัฒนาของประเทศชาติ ซึ่งถ้าหากมีการชะลอการประเมินคุณภาพการศึกษาออกไปเป็นระยะเวลา 2 ปีจริง เท่ากับว่าการศึกษาไทย ก็จะว่างเว้นการตรวจสอบคุณภาพมาตรฐานจากองค์กรอิสระ ซึ่งไม่ใช่การแก้ไขปัญหาที่ตรงจุด ดร.รุ่ง แก้วแดง อดีตรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ กล่าวว่า การศึกษาไทยมีปัญหาเกิดขึ้นหลาย ๆ อย่าง แต่สิ่งที่สำคัญที่สุดคือ ปัญหาด้านผลสัมฤทธิ์ของผู้เรียน โดยไม่ว่าจะเป็นจากการวัดและประเมินจากภายในและภายนอกประเทศ ก็จะพบว่าอัตราด้านผลสัมฤทธิ์ของไทยอยู่ในระดับต่ำ สาเหตุมาจากเพราะการเรียนการสอนของไทยที่เน้นการท่องจำมากกว่าการคิดวิเคราะห์ เป็นเพราะผู้บริหารระดับสูงอาจไม่มีความเข้าใจถึงปัญหา ด้านการศึกษาของประเทศอย่างลึกซึ้ง กอปรกับการไม่ต่อเนื่องของนโยบาย โดยพบว่าเฉลี่ยรัฐมนตรีกระทรวงศึกษาธิการ จะอยู่ในตำแหน่งเฉลี่ยเพียงละ 8 เดือน ต่อ 1 คน จึงกลายเป็นโจทย์ใหญ่ของประเทศไทยที่มีปัญหาอยู่จนถึงปัจจุบันนี้ บทบาทของหน่วยงานในการตรวจสอบการศึกษา ในปัจจุบันประเทศไทยมี สมศ.เป็นผู้ดูแลสถานศึกษา ทั่วประเทศให้เป็นไปตามมาตรฐานการศึกษาของชาติ ซึ่งจะช่วยให้โรงเรียนได้รู้และเข้าใจในความเป็นจริง จากแต่เดิมใช้ศึกษานิเทศก์ ในการตรวจมาตรฐานการศึกษา แต่ก็พบว่าบทบาทของศึกษานิเทศก์ในอดีตจะเป็นไปในการเยี่ยมเยียน มากกว่าตรวจตราสถานศึกษา ซึ่งตลอดระยะเวลาการทำงานของ สมศ. ก็มีโรงเรียนต่าง ๆ เริ่มตื่นตัวต่อการประเมิน เพื่อพัฒนาคุณภาพของโรงเรียน และเป็นการยกระดับมาตรฐานการศึกษาให้ดียิ่งขึ้นไป แต่ทว่าก็พบว่ายังมีโรงเรียนอีกเป็นจำนวนมากที่ยังไม่ได้ตื่นตัวต่อการประเมินเพื่อพัฒนาคุณภาพการศึกษา และการปล่อยปละละเลยจากรัฐมนตรี จึงทำให้ปัญหาด้านต่าง ๆ ยังไม่ได้รับการสะสางในทางที่ถูกต้องจนถึงปัจจุบัน ดร. ชัยณรงค์ อินทรมีทรัพย์ อดีตกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิด้านการบริหารสถาบันระหว่างประเทศเพื่อการค้าและการพัฒนา กล่าวว่า หน่วยงานที่ทำหน้าที่ตรวจสอบคุณภาพการศึกษาอย่าง สำนักงานรับรองมาตรฐานและประเมินคุณภาพการศึกษา (องค์การมหาชน) หรือ สมศ. ถูกสร้างขึ้นในฐานะที่เป็นกลไกเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภค ตามที่พระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ ปี 2542 และตามพระราชกฤษฎีกา พ.ศ.2543 กำหนดว่าสถานศึกษาจะต้องดำเนินการประกันคุณภาพการศึกษาและได้รับการประเมินคุณภาพภายนอก เพื่อนำไปสู่การพัฒนาคุณภาพและมาตรฐานการศึกษา ซึ่งเป็นครั้งแรกที่มีหน่วยงานที่คุ้มครองผู้บริโภคด้านการศึกษา โดย สมศ. เป็นองค์กรอิสระจากภาครัฐ ที่สามารถพิสูจน์ได้ว่าคุณภาพของสถาบันการศึกษาระดับประเทศนั้นดีหรือไม่ดีอย่างไร เช่นเดียวกับประเทศพัฒนาแล้วจะต้องทำเพื่อเป็นการตรวจสอบว่าคุณภาพหรือมาตรฐานรวมทั้งระบบการทำงานของกระทรวงศึกษาทั้งระบบทำงานเป็นไปตามวัตถุประสงค์ที่ตั้งไว้หรือไม่ ทั้งนี้ การดำเนินงานของ สมศ. มีกฎหมายรองรับชัดเจนว่าในทุก 5 ปี สถาบันการศึกษาจะต้องได้รับการประเมินอย่างน้อย 1 ครั้ง จึงแสดงให้เห็นว่าผู้ที่เห็นด้วยกับการชะลอการประเมินยังไม่เข้าใจถึงกฎเกณฑ์ กติกา และเงื่อนไขของระบบการประเมินอย่างแท้จริง รวมทั้งไม่เข้าใจในบทบาทหน้าที่ของ สมศ. หรือผู้ที่วิพากษ์วิจารณ์โดยอ้างว่าการประเมินคุณภาพการศึกษาทำให้เสียเวลาในการเตรียมการเรียนการสอนนั้น แสดงว่ายังไม่เข้าใจในปรัชญาของการประเมินคุณภาพการศึกษา จึงเป็นคำวิจารณ์ที่ไม่สมเหตุสมผล ดังนั้น หากมีการชะลอการประเมินก็อาจจะกระทบต่อระบบการศึกษาไทยได้ ดังนั้น การชะลอการตรวจสอบจึงเป็นเรื่องที่ไม่ควรทำอย่างยิ่ง เพราะถือว่าเป็นการสร้างความเสียหายให้แก่ผู้บริโภค หรือเท่ากับเป็นการหลอกลวงผู้บริโภค ศาสตราจารย์พิเศษ ดร. ภาวิช ทองโรจน์ อดีตเลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา กล่าวว่า การศึกษาไทยในวันนี้มีปัญหาที่สั่งสมมาเยอะแยะมากมายจนกลายเป็นปัญหาระดับประเทศ เกิดจากปัญหาด้านคุณภาพครู และระบบการผลิตครูก็มีปัญหา ส่งผลให้เกิดปัญหาขึ้นทั้งในระดับการศึกษาขั้นพื้นฐาน อาชีวศึกษา และอุดมศึกษา ซึ่งในการศึกษาแต่ละประเภทก็จะมีปัญหาที่แตกต่างกันไป ยกตัวอย่างเช่น ปัญหาด้านการศึกษาขั้นพื้นฐานที่เป็นการศึกษาขั้นพื้นฐานของคนไทยทุกคน เป็นพื้นฐานทางความรู้ที่จะต่อยอดไปในระดับ อาชีวศึกษา หรืออุดมศึกษาต่อไป แต่กลับพบว่าเด็กไทยมีผลสัมฤทธิ์ค่อนข้างต่ำ ไม่ว่าจะเป็นการสอบในระดับสากลอย่าง PISA ก็พบว่าเด็กไทยมีคะแนนอยู่ในเกณฑ์ที่ค่อนข้างต่ำ หรือแม้แต่การสอบ ONET ก็พบว่าเด็กไทยสอบตกกว่าครึ่ง ดังนั้น การแก้ปัญหาจึงต้องมีความแตกต่างกันออกไป และการที่พยายามรวบเอาหน่วยงานด้านการศึกษาทุกฝ่ายเข้าไว้ที่กระทรวงศึกษาธิการเพียงแห่งเดียวนั้น ถือเป็นแนวคิดที่ล้าสมัยและสมควรที่จะต้องปฏิรูปอย่างเร่งด่วน บทบาทของการตรวจสอบคุณภาพการศึกษานั้นถือเป็นสิ่งที่จำเป็น แต่ทั้งนี้ สมศ.ก็จะต้องมีการปรับปรุงขั้นตอนการประเมิน และเกณฑ์การประเมินก็ต้องพิจารณาถึงความเหมาะสมว่าสามารถทำให้สถานศึกษาได้รับการพัฒนา ที่แท้จริงหรือไม่ สมศ. ต้องแก้ปัญหาของตัวเองในจุดนี้ให้ได้ และในเรื่องการชะลอการประเมิน ตามหลักการแล้วไม่มีความจำเป็นเลยที่จะต้องชะลอการประเมินออกไป ถ้าจะชะลอจริงต้องมีงานวิจัยออกมายืนยัน โดยงานวิจัยนั้นต้องเป็นผลงานวิจัยที่เชื่อถือได้ และมีเกณฑ์ในการวัดและประเมินอย่างถูกต้องแม่นยำ มากกว่าเพียงคำพูด ศาสตราจารย์พิเศษ ดร. ภาวิช กล่าวทิ้งท้าย ทั้งนี้ ได้มีผลวิจัยเปรียบเทียบระหว่างประเทศที่มีระบบการประกันคุณภาพ กับประเทศที่ยังไม่ได้ดำเนินการ ในหลาย ๆ ประเทศ เช่น อังกฤษ อเมริกา เยอรมัน เวียดนาม เป็นต้น พบว่า สิ่งที่เด่นชัดที่สุดคือ ในประเทศที่ไม่มีระบบการประกันคุณภาพจะมีอัตราความเจริญก้าวหน้าทางวิทยาการหรือนวัตกรรมใหม่ ๆ เกิดขึ้นช้ามากหรือแทบจะมีเพียง 5% ต่อ 5 – 10 ปี เมื่อเปรียบเทียบกับประเทศที่นำระบบการประกันคุณภาพไปดำเนินการใช้แล้ว 3 ถึง 5 ปี จะมีอัตราการเกิดนวัตกรรมหรือวิธีการใหม่ ๆ เร็วขึ้นกว่าเดิม 3-5% ต่อปี ในประเทศที่ไม่มีระบบการประกันคุณภาพ มักเกิดอาการที่เรียกว่า "หลากหลายความคิดเห็น แต่ไม่เป็นเอกภาพในเชิงพัฒนา" คล้าย ๆ กับว่าแต่ละสถานศึกษาก็มีวิธีการดี ๆ ที่จะพัฒนาคุณภาพตนเอง แต่พอมาดูภาพรวมของประเทศ สิ่งต่าง ๆ ที่ทำดูเหมือนว่าไม่ได้ช่วยผลักดันให้เกิดการพัฒนาประเทศใด ๆ ที่ ชัดเจน เรียกว่า "พัฒนาได้เป็นหย่อม ๆ " ที่สนใจก็พัฒนาไป ที่ไม่สนใจก็เลยตามเลย อยู่ไปวัน ๆ สำหรับคณาจารย์ นักเรียน นิสิต นักศึกษา หรือประชาชนทั่วไป สามารถสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่สำนักงานรับรองมาตรฐานและประเมินคุณภาพการศึกษา (องค์การมหาชน) หรือเข้าไปที่www.onesqa.or.th

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ