มทร.ธัญบุรีเตรียมใช้คะแนนวีเน็ตคัดเด็กอาชีวะเข้าเรียนปี 60

ข่าวทั่วไป Tuesday May 31, 2016 14:43 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--31 พ.ค.--มทร.ธัญบุรี รศ.ดร.ประเสริฐ ปิ่นปฐมรัฐ อธิการบดีมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคล (มทร.) ธัญบุรี กล่าวว่า เมื่อเร็ว ๆ นี้ ตนได้หารือกับ รศ.ดร.สัมพันธ์ พันธุ์พฤกษ์ ผู้อำนวยการสถาบันทดสอบทางการศึกษาแห่งชาติ (สทศ.) เพื่อนำผลทดสอบทางการศึกษาระดับชาติด้านอาชีวศึกษา หรือ วีเน็ต มาใช้เป็นคะแนนส่วนหนึ่งของการสอบเข้าเรียนต่อใน มทร.ธัญบุรี โดยจะมีการลงนามบันทึกข้อตกลงในเร็วๆ นี้ ซึ่ง มทร.ธัญบุรีจะเป็นมหาวิทยาลัยแรกที่จะนำร่องในเรื่องดังกล่าว ทั้งนี้ที่ผ่านมาการสอบวีเน็ต มักไม่ได้รับความใส่ใจจากนักศึกษาอาชีวะมากนัก เพราะเห็นว่าเป็นการวัดมาตรฐานสถานศึกษา แต่หากมีการนำผลวีเน็ตมาใช้เป็นส่วนหนึ่งในการคัดเด็กเข้าเรียนต่อ เชื่อว่าจะทำให้การสอบวีเน็ตมีการพัฒนที่สูงขึ้นในเรื่องของมาตรฐาน เพราะระหว่างเรียนนักศึกษาจะมีความตั้งใจมากยิ่งขึ้น ส่วนเรื่องของมาตรฐานข้อสอบนั้น เชื่อว่าจะไม่ปัญหา เพราะในเบื้องต้นจะมีการนำอาจารย์ของ มทร.ธัญบุรี เข้าไปเป็นส่วนหนึ่งของการออกข้อสอบพื้นฐานวิชาชีพอีกด้วย อธิการบดี มทร.ธัญบุรี กล่าวอีกว่า เชื่อว่าการนำผลคะแนนวีเน็ตมาใช้คัดเลือกนักศึกษาเพื่อเข้าเรียนต่อ จะส่งผลดีต่อสถานศึกษา เพราะหนึ่งในแบบทดสอบของวีเน็ต จะมีการวัดเรื่องทักษะสังคม ทั้งในเรื่องของทัศนคติและนิสัย ซึ่งหากนำจุดนี้มาใช้ประกอบการสัมภาษณ์ เชื่อว่าจะได้ผลดี เพราะการสัมภาษณ์เด็กเพียง 5-10 นาที อาจารย์ผู้สัมภาษณ์อาจไม่เข้าใจเด็กอย่างถ่องแท้ อย่างไรก็ตาม คาดว่าจะนำผลสอบวีเน็ตเข้ามาใช้ประกอบในการสอบเข้าเรียนได้ในปีการศึกษา 2560 โดยอาจจะใช้วีเน็ตในบางรายวิชา ซึ่งนักศึกษาที่ใช้วีเน็ตในการสอบก็จะลดรายวิชาที่จะสอบลง ส่วนรายละเอียดอื่นๆ จะมีการหารืออีกครั้ง "อยากเห็นการสอบวีเน็ตที่ประเทศลงทุนไปหลายสิบล้าน แต่ที่ผ่านมากลับไม่ได้มีผลต่อการสอบเข้าเรียนหรือใช้ประโยชน์เท่าใดนัก ซึ่งถือเป็นเรื่องที่น่าเสียดาย ทั้งยังทำให้เด็กไม่ได้ตั้งใจสอบด้วย เพราะวัดแต่สถานศึกษา ทำให้ขาดความเข้มแข็งของมาตรฐาน หากมีการดำเนินการจริงๆ จังๆ จะช่วยลดความซ้ำซ้อนในการสอบหลายๆ อย่างได้ ทุกวันนี้สอบวีเน็ตแล้วยังต้องสอบเข้าศึกษาต่อ ทำให้เด็กไม่ค่อยสนใจ วันนี้จะต้องช่วยกันคิดหน่วยงานการศึกษาของรัฐทั้ง 100% ต้องร่วมมือ ว่าจะนำอะไรมาใช้ร่วมกัน ซึ่งหากร่วมมือกันได้จะช่วยลดการซ้ำซ้อน ลดค่าใช้จ่าย รวมถึงช่วยพัฒนามาตรฐานในการเข้าเรียนต่อด้วย"รศ.ดร.ประเสริฐ กล่าว

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ