ธ.ก.ส.เดินหน้าต่อเนื่องปั้นคนรุ่นใหม่ให้เป็นเกษตรกรมืออาชีพ

ข่าวหุ้น-การเงิน Thursday June 16, 2016 11:08 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--16 มิ.ย.--กลุ่มสารนิเทศการคลัง กระทรวงการคลัง ธ.ก.ส.ปั้นคนรุ่นใหม่หวังสืบสานงานเกษตรพัฒนาทายาทเกษตรกรรุ่นที่3 ร่วมกับมูลนิธิอาจารย์จำเนียร สาระนาค(มจส.) สถาบันเพื่อพัฒนาการเกษตรและชนบทจำเนียร สาระนาค (สจส.)มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช (มสธ.)และภาคีเครือข่าย มุ่งหวังให้ทายาทเกษตรกรและผู้มีใจรักอาชีพเกษตรกรรมให้เป็นเกษตรกรมืออาชีพมีความมั่นใจ มีศักดิ์ศรี มีความยั่งยืนในการดำรงชีวิตด้วยอาชีพเกษตรกรรม วันนี้(16 มิถุนายน 2559) ณ ห้องแถลงข่าวกระทรวงการคลัง นายชวลินทร์ สายหล้า ผู้ช่วยผู้จัดการธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) และนายฐานิศร์ สุทธสุวรรณ ผู้อำนวยการสถาบันเพื่อพัฒนาการเกษตรและชนบทจำเนียร สาระนาค (สจส.) ภายใต้มูลนิธิอาจารย์จำเนียร สาระนาค (มจส.) ได้ร่วมกันแถลงข่าวความร่วมมือ ในการจัดทำโครงการทายาทเกษตรกรมืออาชีพรุ่นที่3 เพื่อพัฒนาทายาทเกษตรกรสร้างคนรุ่นใหม่ที่มีคุณภาพในแวดวง งานเกษตรอย่างต่อเนื่องเปิดโอกาสทางการศึกษาให้เรียนฟรีตลอดระยะเวลาการอบรม 9 เดือน นายชวลินทร์ สายหล้า ผู้ช่วยผู้จัดการ ธ.ก.ส. กล่าวชี้แจงว่า ธ.ก.ส. ได้ร่วมกับ มจส. จัดทำโครงการทายาทเกษตรกรมืออาชีพเพื่อส่งเสริมและสนับสนุนให้มีคนรุ่นใหม่มารับช่วงงานด้านเกษตรแทนเกษตรกรรุ่นเก่าที่มีอายุมากขึ้น นับเป็นการสานต่องานหลักของประเทศไทยให้เป็นเกษตรกรมืออาชีพที่มีความรอบรู้ มีความมั่นใจ มีศักดิ์ศรี มีความยั่งยืนในการทำงานเกษตรให้สามารถยืนหยัดพัฒนาทั้งผลิตผลและการตลาด โดยรุ่นที่1 ดำเนินการในปี 2557 รับผู้สมัครจำนวน 50 คน ผู้จบหลักสูตรจำนวน 37ราย คิดเป็นร้อยละ 74 รุ่นที่ 2 ปี 2558 รับผู้สมัครจำนวน 127 ราย ผู้จบหลักสูตรจำนวน 112 ราย คิดเป็นร้อยละ 88 และรุ่นที่ 3 ดำเนินการในปี2559 นี้อย่างต่อเนื่อง เปิดรับจำนวน 200 ราย โดยผู้ที่เข้าโครงการฯจะได้รับโอกาสในการเรียนรู้จริงจากกระบวนการพัฒนาความรู้อย่างครบถ้วน ร่วมลงมือปฏิบัติจริงกับผู้ประกอบการที่ประสบผลสำเร็จ เรียนรู้การคิดวิเคราะห์เชื่อมโยง การทำแผนธุรกิจเพื่อต่อยอดการผลิตสินค้าเกษตร เรียนรู้แผนการผลิต การแปรรูป การตลาด การเงินการลงทุน การบริหารจัดการ การสร้างเครือข่ายอย่างครบวงจร นอกจากนี้ยังมีโอกาสแลกเปลี่ยนเรียนรู้กับปราชญ์เกษตรนับเป็นโอกาสในการศึกษาด้านการเกษตรที่อยากเชิญชวนให้คนรุ่นใหม่ที่มีใจรักงานเกษตรมาสมัครเข้าร่วมโครงการ ที่ผ่านมามีเกษตรกรรุ่นใหม่ไฟแรงที่รับการอบรมจากโครงการฯทั้งรุ่นที่ 1 และรุ่นที่ 2 สามารถนำไปปรับใช้ในการทำการเกษตรของตนเองจนประสบความสำเร็จ โดย ธ.ก.ส.พร้อมสนับสนุนทั้งด้านการเรียนรู้ พัฒนาผลิตผล การตลาดและเงินทุนอย่างครบวงจร เพื่อพัฒนาเกษตรกรรุ่นใหม่ ให้เป็นผู้ประกอบการธุรกิจเกษตร(SMAE) ทางด้านนายฐานิศร์ สุทธสุวรรณ ผู้อำนวยการสถาบันเพื่อพัฒนาการเกษตรและชนบท (สจส.) ภายใต้มูลนิธิอาจารย์จำเนียร สาระนาค (มจส.) ได้กล่าวเพิ่มเติมว่า สจส. ดำเนินงานฝึกอบรมเกษตรกรรุ่นใหม่ร่วมกับภาคีเครือข่ายหลายแห่ง โดยมุ่งหวังสร้างเกษตรกรรุ่นใหม่ที่ใจรักงานการเกษตรและมุ่งมั่นที่จะทำเกษตรกรรมอย่างยั่งยืน พร้อมยึดแนวทางตามหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง สานต่องานเกษตรจากรุ่นพ่อแม่เป็นทายาทเกษตรกรมืออาชีพให้เกษตรกรรุ่นใหม่มีอาชีพที่มั่นคง มีความก้าวหน้าในถิ่นฐานบ้านเกิดของตนและเป็นแรงงานสำคัญในการพัฒนาชุมชนของตนเอง เพื่อสังคมชนบทเข้มแข็งลดการแออัดของสังคมเมือง โดยคุณสมบัติผู้สมัครที่กำหนดไว้ดังนี้ ผู้สมัครมีที่ดินในการทำการเกษตร อายุตั้งแต่20-35 ปี ตั้งใจสืบทอดการเกษตรมีเวลาเข้าร่วมโครงการสม่ำเสมอ สมัครเข้าร่วมโครงการได้ โดยขอรับใบสมัครที่ ธ.ก.ส. สาขาทั่วประเทศ มูลนิธิอาจารย์จำเนียร สาระนาค(ธ.ก.ส. สาขาอาคารนางเลิ้ง) หรือdownload จาก www.chamnien.org รับสมัครจนถึงวันที่ 15 กรกฎาคมนี้เท่านั้น ทายาทเกษตรกรจะเป็นผู้ออกแบบหลักสูตรของตนเอง เรียนแล้วมั่นใจว่าเกษตรกรเป็นอาชีพที่มั่นคง พัฒนางานอย่างเป็นระบบเชื่อมโยงแนวคิด สร้างเครือข่ายงานการเกษตร รับรองว่าเรียนแล้วไม่ผิดหวัง ได้ทดลองจริงทำจริง แลกเปลี่ยนประสบการณ์จากผู้รู้จริง ได้รู้จักเพื่อนใหม่ ปราชญ์เกษตร วิทยากร รวมทั้ง ธ.ก.ส. ในฐานะพี่เลี้ยงผู้คอยติดตามดูแลตลอดระยะเวลา 9 เดือน ที่เรียนรู้ในโครงการทายาทเกษตรกรมืออาชีพ นอกจากนี้ยังมีเกษตรกรรุ่นใหม่ที่เข้ารับการอบรมจากโครงการทายาทเกษตรกรมืออาชีพมาร่วมให้ข้อมูลถึงความสำเร็จที่ได้รับจากการร่วมโครงการทายาทเกษตรกรมืออาชีพของตนเองอีกด้วย ได้แก่ผู้แทนจากผู้เข้ารับการอบรมรุ่นที่1 นางสาวเกษกาญจน์ อิ่มจิตร (ใบเตย) อายุ 29 ปี อ.เมือง จ.นครปฐม ทำเกษตรผสมผสาน รวมกลุ่มเครือข่ายเกษตรอินทรีย์ จ.นครปฐม และผู้เข้ารับการอบรมรุ่นที่ 2.นายกุลิส์ ไฝเพชร อายุ 34 ปี อ.อู่ทอง จ.สุพรรณบุรี ทำนาข้าว นาบัว เลี้ยงปลา เกษตรอินทรีย์

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ