กระทรวงเกษตรฯ เร่งสนับสนุนและสร้างความเข้มแข็งให้กับพี่น้องเกษตรกรผู้เลี้ยงโคนมและสหกรณ์ให้สามารถดำเนินธุรกิจโคนมอย่างยั่งยืน

ข่าวทั่วไป Friday June 24, 2016 17:19 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--24 มิ.ย.--สำนักงานปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กระทรวงเกษตรฯ เร่งสนับสนุนและสร้างความเข้มแข็งให้กับพี่น้องเกษตรกรผู้เลี้ยงโคนมและสหกรณ์ให้สามารถดำเนินธุรกิจโคนมอย่างยั่งยืน เน้นการปรับโครงสร้างการผลิตสินค้าเกษตร และการลดต้นทุนการผลิตของพี่น้องเกษตรกร ในโครงการเพิ่มประสิทธิภาพและผลผลิตน้ำนมโคครบวงจร ระยะที่ 1 พลเอก ฉัตรชัย สาริกัลยะ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยภายหลังลงพื้นที่ตรวจราชการสหกรณ์โคนมไทยมิลค์ อ.มวกเหล็ก ว่า กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ให้ความสำคัญในการพัฒนาอาชีพการเลี้ยงโคนม ซึ่งเป็นอาชีพพระราชทาน โดยกระทรงเกษตรและสหกรณ์ได้สนับสนุนและสร้างความเข้มแข็งให้กับพี่น้องเกษตรกรผู้เลี้ยงโคนมและสหกรณ์ให้สามารถดำเนินธุรกิจโคนมอย่างยั่งยืน โดยการปรับโครงสร้างการผลิตสินค้าเกษตร และการลดต้นทุนการผลิตของพี่น้องเกษตรกร จึงได้ดำเนิน "โครงการเพิ่มประสิทธิภาพและผลผลิตน้ำนมโคครบวงจร ระยะที่ 1" ซึ่งเป็นการบุรณาการร่วมกับของหลายหน่วยงานในกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ อาทิ กรมปศุสัตว์ กรมส่งเสริมสหกรณ์ และองค์การส่งเสริมกิจการโคนมแห่งประเทศไทย (อสค.) รวมทั้ง ธ.ก.ส. เพื่อร่วมกันพัฒนาอาชีพโคนมของกลุ่มเกษตรกรและสหกรณ์ให้เข้มแข็งอย่างยั่งยืน โดยการสนับสนุนโครงการของรัฐบาล ตามหลักปรัญชาเศรษฐกิจพอเพียง เพื่อพัฒนาชีวิตความเป็นอยู่ของพี่น้องเกษตรกรให้ดียิ่งขึ้น นอกจากนี้ สหกรณ์ยังได้รับการสนับสนุนจากกระทรวงมหาดไทย และจังหวัดสระบุรีด้วย ซึ่งสหกรณ์โคนมไทยมิลค์ จำกัด เป็น 1 ใน 3 สหกรณ์ต้นแบบที่เข้าร่วมโครงการดังกล่าวนี้ และมีผลสัมฤทธิ์จากการดำเนินงานตามเป้าหมายการปรับโครงสร้างการผลิตและลดต้นทุนการผลิตน้ำนมโคของเกษตรกร การปรับโครงสร้างการผลิตโคนมของสหกรณ์โคนมไทยมิลค์ ดำเนินการภายใต้แนวคิด "เกษตรแปลงใหญ่ด้านปศุสัตว์" โดยเกษตรกรร่วมกันบริหารจัดการการผลิตแปลงหญ้าขนาดใหญ่กว่า 1,200 ไร่ มีการนำเทคโนโลยีเครื่องจักรกลขนาดใหญ่มาใช้ในแปลงหญ้าขนาดใหญ่ ภายใต้แนวคิด Motor Pool เพื่อลดต้นทุนการผลิต แก้ไขปัญหาการขาดแคลนแรงงานภาคเกษตรและปศุสัตว์ เพิ่มคุณภาพการผลิตอาหารสัตว์แก่โคนมให้เพียงพอ การเพิ่มปริมาณผลผลิตน้ำนมโค เพื่อนำไปสู่การแปรรูปผลิตภัณฑ์นมและจำหน่ายไปยังตลาดโดยสหกรณ์เอง เพื่อให้เกษตรกรและสหกรณ์สามารถดำเนินธุรกิจได้อย่างเข้มแข็ง ซึ่งผลสำเร็จของการดำเนินโครงการฯ สหกรณ์สามารถผลิตน้ำนมดิบเพิ่มขึ้น 15 ตันต่อวัน จากเดิมมีน้ำนมดิบเพียง125 ตันต่อวัน เพิ่มเป็น 140 ตันต่อวัน ทำให้สหกรณ์มีรายได้เพิ่มจากการขายน้ำนมดิบเพิ่มกว่า 100 ล้านบาทต่อปี นอกจากนี้ สหกรณ์จะสามารถผลิตหญ้าและอาหารหยาบคุณภาพดีไม่น้อยกว่า 2,000 ตันต่อปี บนพื้นที่แปลงใหญ่1,200 ไร่ ผลิตอาหารผสมสำเร็จครบส่วน (TMR) ไม่น้อยกว่า 10,000 ตัน/ปี และผลิตโคสาวคุณภาพดี จำนวน 1,000ตัว/ปี ซึ่งจะเป็นความสำเร็จในระยะต่อไป น.สพ.อยุทธ์ หรินทรานนท์ อธิบดีกรมปศุสัตว์ กล่าวเพิ่มเติมว่า การดำเนินโครงการดังกล่าว ดำเนินการภายใต้กิจกรรมหลัก 5 กิจกรรม คือ 1) การปรับปรุงโครงการฟาร์มโคนมของเกษตรกร มีการติดตั้งระบบรีดนม (Milking pipeline)และระบบถังเก็บนมพร้อมเครื่องทำความเย็น (Cooling tank) เพื่อพัฒนาคุณภาพการผลิตน้ำนมโคตามมาตรฐานฟาร์มโคนม(GAP) 2) การจัดตั้งศูนย์ผลิตอาหารโคนม (Feed Center) และการทำแปลงหญ้าขนาดใหญ่ โดยสหกรณ์ผลิตอาหาร TMR(Total Mix Ration) และสหกรณ์ก็จัดส่งอาหาร TMR ให้ถึงฟาร์มของเกษตรกรโดยตรง ทำให้สามารถเพิ่มปริมาณและคุณภาพการผลิตน้ำนมโค รวมทั้งยังลดต้นทุนการผลิตด้วย เพราะเกษตรกรและสหกรณ์ผลิตอาหารและหญ้าร่วมกัน ภายใต้การบริหารจัดการแบบแปลงใหญ่ และลดปัญหาการขาดแคลนแรงงานในภาคปศุสัตว์ด้วย 3) การจัดฟาร์มโคสาวทดแทนรวมของสหกรณ์ โดยเกษตรกรส่งลูกโคหย่านมมาเลี้ยงรวมกันที่ฟาร์มโคสาวทดแทนของสหกรณ์ เพื่อลดต้นทุนการเลี้ยงลูกโค รวมทั้งเกษตรกรสามารถซื้อโคสาวคุณภาพดีและตั้งท้องพร้อมรีดนม กลับไปเลี้ยงที่ฟาร์มของตนเองได้เลย โดยไม่ต้องแบกภาระการเลี้ยงลูกโคและโคสาวกว่า 2 ปี 4) การปรับปรุงการขนส่งน้ำนมดิบเพื่อลดต้นทุนโลจิสติกส์ โดยสหกรณ์จะดำเนินการรับน้ำนมดิบถึงหน้าฟาร์มของเกษตรกร ทุก 2 - 3 วัน จากเดิมที่เกษตรกรต้องมาส่งนมที่สหกรณ์เองทุกวัน โดยน้ำนมดิบจะถูกเก็บใน cooling tank ประจำฟาร์ม รอรถขนส่งนมของสหกรณ์ไปรับน้ำนมดิบที่หน้าฟาร์มเกษตรกร ซึ่งจะทำให้น้ำนมดิบของเกษตรกรถูกเก็บรักษาในอุณหภูมิที่เหมาะสมตลอดเวลา และมีคุณภาพที่ดี และ 5) มีการจัดตั้งหน่วยพัฒนาสุขภาพและผลผลิตโคนม (Dairy Herd Health Unit: DHHU) ระหว่างหน่วยงานของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ร่วมกับสหกรณ์ เพื่อให้บริการดูแลสุขภาพของโคนมของเกษตรกร เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและคุณภาพของน้ำนมดิบให้มีมาตรฐานสากล ด้าน ดร.วิณะโรจน์ ทรัพย์ส่งสุข อธิบดีกรมส่งเสริมสหกรณ์ กล่าวว่า การส่งเสริมการเลี้ยงโคนมเพื่อผลิตน้ำนมดิบนี้ จะส่งเสริมผ่านระบบสหกรณ์ ซึ่งช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการเก็บรักษาคุณภาพน้ำนมดิบ และลดต้นทุนการขนส่งผลผลิตได้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น รวมทั้งช่วยแก้ไขปัญหาการเลี้ยงโคนมของเกษตรกรให้สามารถขายน้ำนมดิบได้ในราคาที่ดีขึ้น เกษตรกรสามารถประกอบอาชีพสานต่ออาชีพพระราชทานได้อย่างยั่งยืน การดำเนินการผ่านระบบสหกรณ์ จึงมีวัตถุประสงค์เพื่อให้เกษตรกรได้รวมตัวกันเพื่อช่วยเหลือแก้ไขปัญหาทางเศรษฐกิจและสังคมของเกษตรกรที่ประกอบอาชีพอย่างเดียวกัน ซึ่งขณะนี้กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กำลังจะดำเนิน "โครงการเพิ่มประสิทธิภาพและผลผลิตน้ำนมโคครบวงจร ระยะที่ 2" ซึ่งมีสหกรณ์โคนมกว่า 20 แห่ง สนใจที่จะขอเข้าร่วมโครงการดังกล่าว ในระยะที่ 2 โดยรัฐบาลสนับสนุนเงินกู้ ผ่าน ธ.ก.ส. และหน่วยงานของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กรมปศุสัตว์ กรมส่งเสริมสหกรณ์ และ อสค. ให้การสนับสนุนเกษตรกรและสหกรณ์ในด้านเทคนิควิชาการการเลี้ยงโคนมและการบริหารจัดการธุรกิจสหกรณ์ให้มีความเข้มแข็งและยั่งยืนต่อไป

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ