มาสเตอร์โพลล์ (Master Poll) เสนอผลวิจัยเชิงสำรวจ เรื่อง บริษัทประชารัฐเป็นอย่างไรในใจประชาชน

ข่าวทั่วไป Tuesday June 28, 2016 14:19 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--28 มิ.ย.--มาสเตอร์โพลล์ รศ.ดร.เชษฐ รัชดาพรรณาธิกุล ประธานชมรมนักวิจัยไทยเพื่อความสุขชุมชน (Thai Researchers in Community Happiness Association, TRICHA) เปิดเผยผลวิจัยเชิงสำรวจมาสเตอร์โพลล์(Master Poll) เรื่อง บริษัทประชารัฐเป็นอย่างไรในใจประชาชน :กรณีศึกษาตัวอย่างแกนนำชุมชนทั่วประเทศ จำนวนทั้งสิ้น 1,102 ตัวอย่างจากจังหวัดทั่วทุกภูมิภาคของประเทศ โดยวิธีการสุ่มตัวอย่างแบบใช้ความน่าจะเป็นทางสถิติแบบแบ่งกลุ่มเชิงชั้นภูมิหลายขั้น (Stratified Multi-Stage Sampling) จากบัญชีรายชื่อฐานข้อมูลแกนนำชุมชนทั่วทุกภูมิภาคของประเทศ โดยมีช่วงความคลาดเคลื่อนบวกลบร้อยละ 7 ดำเนินโครงการระหว่างวันที่ 3-11 มิถุนายน 2559 ผลการสำรวจ พบว่า เมื่อสอบถามความคิดเห็นของตัวอย่างแกนนำชุมชนถึงการติดตามข่าวสารผ่านสื่อมวลชนในรอบสัปดาห์ที่ผ่านมาพบว่าตัวอย่างร้อยละ 53.3 ระบุติดตามทุกวัน/เกือบทุกวัน ในขณะที่ร้อยละ 33.1 ระบุติดตาม 3-4 วัน/สัปดาห์ ร้อยละ 9.7 ระบุติดตาม 1-2 วันต่อสัปดาห์ ร้อยละ 3.4 ติดตามเป็นบางวัน และร้อยละ 0.5 ระบุไม่ได้ติดตามเลย และเมื่อคณะผู้วิจัยได้สอบถามถึงการติดตามข่าวสารเกี่ยวกับการจัดตั้งบริษัทประชารัฐนั้นพบว่า ร้อยละ 20.4 ระบุติดตามอย่างต่อเนื่อง ในขณะที่มากกว่าครึ่งหนึ่งหรือร้อยละ 62.5 ระบุติดตามบ้าง ในขณะที่ร้อยละ 17.1 ระบุไม่ได้ติดตามเรื่องนี้เลย สำหรับความคิดเห็นของตัวอย่างแกนนำชุมกรณีที่มีตัวแทนกลุ่มทุนขนาดใหญ่เข้ามามีส่วนร่วมในการขับเคลื่อนบริษัทประชารัฐ พบว่า แกนนำชุมชนร้อยละ 50.2 คิดว่าน่าจะมีผลในเชิงบวก ในขณะที่ร้อยละ 8.9 ระบุคิดว่าน่าจะมีผลในเชิงลบ และเป็นที่น่าสนใจว่าตัวอย่างมากกว่า 1 ใน 3 หรือร้อยละ 40.9 ระบุยังไม่แน่ใจว่าจะเป็นผลบวกหรือลบ ประเด็นสำคัญที่น่าพิจารณาคือ เมื่อสอบถามถึงความเชื่อมั่นในความจริงใจของกลุ่มทุน/กลุ่มธุรกิจที่เข้ามามีส่วนร่วมในบริษัทประชารัฐนั้น พบว่า ร้อยละ 46.2 ระบุเชื่อมั่นว่าจะมีความจริงใจ ในขณะที่ร้อยละ 10.4 ระบุไม่เชื่อมั่น และร้อยละ 43.4 ระบุไม่แน่ใจว่าจะมีความจริงใจหรือไม่ และเมื่อสอบถามถึงความเชื่อมั่นต่อรัฐบาลในการป้องกันไม่ให้กลุ่มทุน/กลุ่มธุรกิจขนาดใหญ่เข้ามาแสวงหาผลประโยชน์จากบริษัทประชารัฐได้นั้น พบว่า ร้อยละ 50.5 ระบุเชื่อมั่นว่ารัฐบาลจะทำได้ ในขณะที่ร้อยละ 9.3 ระบุไม่เชื่อมั่น และร้อยละ 40.2 ระบุไม่แน่ใจ นอกจากนี้ผลการสำรวจยัง พบว่า แกนนำชุมชน ร้อยละ 48.5 ระบุเชื่อมั่นว่าบริษัทประชารัฐนี้จะช่วยสร้างความเข้มแข็ง พัฒนาเศรษฐกิจในระดับฐานราก และเป็นบริษัทของประชาชนอย่างแท้จริงได้ ในขณะที่ร้อยละ 8.3 ระบุไม่เชื่อมั่น และร้อยละ 43.2 ระบุไม่แน่ใจ อย่างไรก็ตาม เมื่อสอบถามถึงระยะเวลาที่คิดว่าบริษัทประชารัฐจะสามารถบรรลุเป้าหมายในการลดความเหลื่อมล้ำและสร้างรายได้ให้กับประชาชนในพื้นที่ได้สำเร็จนั้นพบว่า ตัวอย่างมากกว่าครึ่งหนึ่งคือร้อยละ 61.9 ระบุคิดว่าน่าจะใช้เวลามากกว่า 2 ปี ร้อยละ 26.3 ระบุคิดว่าประมาณ 1-2 ปี ร้อยละ 5.0 ระบุคิดว่าไม่เกิน 1 ปี ในขณะที่ร้อยละ 6.8 ระบุคิดว่าไม่น่าจะทำได้สำเร็จ สำหรับความพร้อมในการสนับสนุนการจัดตั้งบริษัทประชารัฐในพื้นที่จังหวัดของตนนั้นพบว่า ตัวอย่างแกนนำชุมชนร้อยละ 56.9 ระบุพร้อมที่จะสนับสนุน ร้อยละ 2.5 ระบุไม่พร้อม ในขณะที่กว่า 1 ใน 3 คือ ร้อยละ 40.6 ระบุยังไม่แน่ใจ เพราะยังไม่มีข้อมูลเกี่ยวกับเรื่องนี้ ประเด็นสำคัญสุดท้าย คณะผู้วิจัยได้สอบถามถึงความคิดเห็นเกี่ยวกับความสุข-ความทุกข์ จากการมี คสช. ซึ่งผลการสำรวจพบว่า ตัวอย่างร้อยละ 60.5 ระบุคสช.ทำให้มีความสุขมากกว่าทุกข์ ในขณะที่ร้อยละ 2.6 ระบุทำให้มีความทุกข์มากกว่า และประมาณ 1 ใน 3 หรือร้อยละ 36.9 ระบุมีทั้งสุขและทุกข์พอๆกัน ทั้งนี้ตัวอย่างส่วนใหญ่เกือบร้อยละ 80 ระบุคิดว่าประเทศไทยควรมี คสช.ต่อไปอีกตั้งแต่ 2 ปีขึ้นไป (พิจารณารายละเอียดในตารางที่ 9-10) คุณลักษณะทั่วไปของผู้ตอบแบบสอบถาม ตัวอย่างแกนนำชุมชนร้อยละ 87.7 เป็นเพศชาย ในขณะที่ร้อยละ 12.3 เป็นเพศหญิง ร้อยละ 4.3 มีอายุต่ำกว่า 40 ปี ร้อยละ 30.0 ระบุอายุ 40-49 ปีและร้อยละ 65.7 ระบุอายุตั้งแต่ 50 ปี ขึ้น ไป ทั้งนี้ เมื่อ พิจารณาจำแนกตามระดับการศึกษาที่สำเร็จมาชั้นสูงสุดพบว่า ร้อยละ 33.7 สำเร็จการศึกษาระดับมัธยมศึกษาตอนต้น/ต่ำกว่า ร้อยละ 48.4 สำเร็จการศึกษาระดับมัธยมศึกษาตอนปลาย/ป.ว.ช. ร้อยละ 5.8 ระบุสำเร็จการศึกษาระดับอนุปริญญา/ป.ว.ส. และร้อยละ 12.1 สำเร็จการศึกษาระดับปริญญาตรีขึ้นไป ตามลำดับ ตัวอย่างแกนนำชุมชนร้อยละ 71.0 มีอาชีพประจำคือเกษตรกร/รับจ้างทั่วไป ร้อยละ 17.2 ระบุประกอบธุรกิจส่วนตัว/ค้าขาย ในขณะที่ร้อยละ 11.8 ระบุมีอาชีพอื่นๆ อาทิ ข้าราชการ/พนักงานรัฐวิสาหกิจ และไม่ได้ประกอบอาชีพใดๆ ทั้งนี้เมื่อพิจารณารายได้ต่อเดือนของครอบครัวพบว่า ตัวอย่างแกนนำชุมชนร้อยละ 11.1 ระบุมีรายได้ครอบครัวไม่เกิน 10,000 บาทต่อเดือน ร้อยละ 19.7 ระบุมีรายได้ครอบครัว 10,001–15,000 บาทต่อเดือน ร้อยละ 28.5 ระบุมีรายได้ 15,001-20,000 บาทต่อเดือน ในขณะที่ตัวอย่างแกนนำชุมชนร้อยละ 40.7 ระบุมีรายได้ครอบครัวมากกว่า 20,000 บาทต่อเดือน ตามลำดับ ทั้งนี้เมื่อพิจารณาจำแนกตามรายภูมิภาคพบว่าตัวอย่างแกนนำชุมชนร้อยละ 33.4 อยู่ในพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ รองลงมาคือร้อยละ 24.9 ระบุอยู่ในพื้นที่ภาคกลาง ร้อยละ 19.1 ระบุอยู่ในพื้นที่ภาคเหนือ ร้อยละ 14.0 ระบุอยู่ในพื้นที่ภาคใต้ ในขณะที่ร้อยละ 8.6 ระบุอยู่ในพื้นที่กรุงเทพมหานคร ตามลำดับ
แท็ก community   APP  

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ