มหาวิทยาลัยนเรศวรพัฒนาเส้นทางการท่องเที่ยวชุมชนทุ่งหลวง คีรีมาศ สุโขทัย เรียนรู้คู่ความสนุกสนาน สู่การสืบสานศิลปวัฒนธรรม

ข่าวท่องเที่ยว Wednesday June 29, 2016 14:40 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--29 มิ.ย.--มหาวิทยาลัยนเรศวร เพราะศิลปวัฒนธรรมคือรากเหง้าแห่งตัวตน ซึ่งจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องมีการศึกษา อนุรักษ์และสืบทอด "นั่นคือโจทย์สำคัญของสถานอารยธรรมศึกษา โขง-สาละวิน มหาวิทยาลัยนเรศวร ภายใต้พันธกิจด้านการทำนุบำรุงศิลปวัฒนธรรม นำมาสู่การจัดการการท่องเที่ยวชุมชนเชิงศิลปวัฒนธรรม ภายใต้แนวคิด "Culdutainment" ที่ก่อให้เกิดความสนุกสนานผสมผสานการเรียนรู้ นำไปสู่ความเข้าใจ อันเป็นแนวทางสำคัญในการศึกษาและพัฒนาการท่องเที่ยว ตลอดจนสร้างจิตสำนึกและเพิ่มมูลค่าให้แก่ตลาดผ่านการท่องเที่ยว มุ่งรักษาคุณค่าของชุมชนท้องถิ่น โดยมีเป้าหมายคือ ตำบลทุ่งหลวง อำเภอคีรีมาศ จังหวัดสุโขทัย" ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.วศิน ปัญญาวุธตระกูล ผู้อำนวยการสถานอารยธรรมศึกษา โขง-สาละวิน มหาวิทยาลัยนเรศวรเล่าถึงแนวคิด การลงพื้นที่ศึกษาวิถีชีวิต แหล่งท่องเที่ยว ตลอดจนวัฒนธรรม ประเพณีของชาวทุ่งหลวง ได้รับความร่วมมืออย่างดีจากเทศบาลตำลทุ่งหลวง นำโดยนายวันชัย โมรัษเฐียร รองนายกเทศมนตรีตำบลทุ่งหลวง ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.วศิน ปัญญาวุธตระกูล เล่าถึงกระบวนการว่า "เราเริ่มต้นจากวิถีดั้งเดิมที่มีมาตั้งแต่สมัยกรุงสุโขทัย อันเป็นเอกลักษณ์ของชุมชน นั่นคือ เครื่องปั้นดินเผา โดยการศึกษาค้นคว้าวิธีการปั้นแบบดั้งเดิมคือการปั้นมือ ไปจนถึงการปั้นขึ้นรูปด้วยแป้นหมุน และการปั้นหล่อ จากนั้นเชื่อมโยงโดยให้ศิลปะองค์ความรู้ของวิชาชีพการปั้นเหล่านี้ไปสู่การท่องเที่ยว โดยการศึกษาว่าทุ่งหลวงมีแหล่งท่องเที่ยวอะไรบ้าง" การท่องเที่ยวเชิงศิลปวัฒนธรรมชุมชนทุ่งหลวง เริ่มจากการเรียนรู้ ลงมือทำเครื่องปั้นเดินเผาที่มีแทบทุกหลังคาเรือน ตามมาด้วยการทำน้ำตาลโตนดที่ปลูกกันมาแต่โบราณ ทั้งน้ำตาลสด การเคี่ยว การหยอดน้ำตาลปึก ชิมจาวตาล ลอนตาลสดหวานหอมชื่นใจ หรือจะนำไปเชื่อม ไปปรุงเป็นอาหารหวาน คาวได้อย่างหลากหลาย ถึงเวลาเตรียมอาหารกลางวัน ช่วยหยิบ ช่วยจับ และอิ่มอร่อยกับอาหารพื้นบ้าน ได้แก่ ชะเริ่มไก่ ขนมพับและขนมดอกดิน อิ่มท้องแล้วภาคบ่ายไปไหว้พระในวัดลายและวัดดุสิตตาราม โดยวัดลายมีโบสถ์ วิหาร โบราณสถานเก่าแก่อายุนับร้อยปี โดยเฉพาะอย่างยิ่งศาลาการเปรียญที่หน้าบันมีลวดลายแกะสลักรูปครุฑและเทพพนมที่มีลักษณะพิเศษ แตกต่างจากทั่วไป นอกจากนี้ยังมีพิพิธภัณฑ์พื้นบ้านวัดลายที่รวบรวมเครื่องปั้นดินเผาข้าวของเครื่องใช้โบราณ ซึ่งสถานอารยธรรมศึกษาโขง-สาละวินได้เข้ามาจัดหมวดหมู่ เพื่อทำทะเบียนวัตถุแต่ละชิ้น ส่วนวัดดุสิตตาราม มีจุดเด่นคือ สถาปัตยกรรม ลวดลาย จิตรกรรม สะท้อนอารยธรรมการแลกเปลี่ยนกับชุมชนจีนและมอญ ตกเย็น ปั่นจักรยานชมชุมชนโบราณ อาคารบ้านเรือนในแต่ละยุคสมัย พร้อมวิถีชีวิตแบบดั้งเดิม บอกเล่าประวัติศาสตร์ของท้องถิ่นธรรมชาติ ชมสวนแตงโมขนาด 500 ไร่ ถ่ายภาพนกเป็ดน้ำจำนวนหลายพันตัว แถมมีควายเผือกซึ่งเป็นขวัญใจของเหล่านักท่องเที่ยวโดยเฉพาะชาวต่างชาติ เมื่อตะวันตกดิน พักผ่อนในโฮมเสตย์ เก็บผัก ผลไม้ เตรียมอาหารมื้อค่ำ สังสรรค์พร้อมชมการศิลปะการแสดงระบำชาวดินรำพัน ด้วยลีลาการบอกเล่าวิถีและกระบวนการทำเครื่องปั้นดินเผา ตั้งแต่การเตรียมดิน การปั้น จนสำเร็จเป็นผลิตภัณฑ์ เมื่อการลงพื้นที่ศึกษา รวบรวมข้อมูลเสร็จสมบูรณ์ จะมีการจัดอบรมมัคคุเทศก์ อบรมเส้นทางการท่องเที่ยวให้แก่คนในชุมชน เพื่อพร้อมรับผู้มาเยือน จากวิถี เรื่องราวอันหลากหลาย ชวนให้มาศึกษาท่องเที่ยว ดื่มด่ำกับอารยธรรมแห่งทุ่งหลวง ชุมชนโบราณ อาหารพื้นถิ่น ดินเผาเลื่องชื่อ คือท่วงท่าระบำ หอมล้ำตาลโตนด โจษจันวัดเก่า บ้านเราโฮมเสตย์... พรปวีณ์ ทองด้วง

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ