มจธ.พัฒนาเทคนิคการขึ้นรูปไม้ไผ่สาน หวังสืบสานงานหัตถกรรมชุมชน

ข่าวทั่วไป Wednesday June 29, 2016 16:05 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--29 มิ.ย.--มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี เมื่อยุคสมัยเปลี่ยนแปลงไป วิถีชีวิตของคนก็เปลี่ยนตาม งานหัตถกรรมจากภูมิปัญญากลายเป็นสิ่งล้าสมัย คนรุ่นใหม่วัยหนุ่มสาวหันไปทำงานตามโรงงานอุตสาหกรรม คงเหลือไว้เพียงผู้เฒ่าผู้แก่ที่ยังคงสืบสานงานหัตถกรรมนี้ไว้ แต่เนื่องจากต้องใช้ความละเอียดและใช้เวลานานในการผลิตอีกทั้งได้รายได้น้อย ทำให้นับวันคนที่จะมาสานงานหัตถกรรมจักสานนั้นลดน้อยลงทุกวัน โดยปกติการผลิตงานจักสานนั้นมีหลายขั้นตอนและต้องใช้เวลานานในการผลิตตั้งแต่การเหลาไม้ สาน ขึ้นรูป ประกอบชิ้นส่วนและพ่นแล็คเกอร์เพื่อความเงางามถึงจะได้ผลิตภัณฑ์ออกมาหนึ่งชิ้นต้องใช้เวลาประมาณ 2-3 วันในการผลิต เนื่องจากเป็นงานหัตถกรรมที่มีความละเอียดสูง ยิ่งหากไม่มีความเชี่ยวชาญแล้วอาจจะต้องใช้เวลาเป็นสัปดาห์ต่อการผลิตชิ้นงานหนึ่งชิ้น อีกทั้งยังต้องอาศัยความละเอียดอย่างมากในการผลิตทำให้ต้องใช้ทรัพยากรไม้ไผ่อย่างสิ้นเปลือง เนื่องจากการจักตอกต้องให้ได้เส้นขนาดที่เล็กเป็นพิเศษ และเศษที่เหลือจากการจักตอกก็ไม่สามารถนำมาใช้งานได้อีก ส่วนมากจะถูกนำไปเป็นเชื้อฟืน จึงเป็นที่มาของ "การพัฒนากระบวนการขึ้นรูปไม้ไผ่สานด้วยการกดโมล" ผลงานและไอเดียของนางสาวพุธิดา เศตะพราหมณ์ นักศึกษาชั้นปีที่ 5 สาขาออกแบบอุตสาหกรรม คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์และการออกแบบ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี (มจธ.) ปัจจุบันจบการศึกษาแล้วและทำงานอยู่บริษัทโฆษณาแห่งหนึ่ง โดยมีอาจารย์นันทนา บุญลออ เป็นอาจารย์ที่ปรึกษา อาจารย์นันทนา กล่าวว่า การผลิตแบบกระบวนการขึ้นรูปไม้ไผ่สานจากการกดโมลนั้น ถือเป็นแนวคิดที่ต้องการพัฒนาเทคนิคขึ้นใหม่ให้กับชุมชนหัตถกรรมจักสานไม้ไผ่ ซึ่งเป็นเทคนิคที่ไม่ยากนัก เพื่อผ่อนแรง ลดระยะเวลาในการผลิตให้เร็วขึ้น และทำให้เด็กรุ่นใหม่หันมาสนใจมากขึ้น วิธีการง่ายๆ คือ ผู้ผลิตไม่ต้องเสียเวลาในการสานขึ้นรูปซึ่งปกติต้องใช้เวลานานมาก แต่ด้วยวิธีนี้สามารถสานไม้ไผ่ออกมาเป็นแผงตามขนาดที่ต้องการก่อน และนำไปกดขึ้นรูป ซึ่งใช้เวลาเพียง 3- 6 ชั่วโมงในการคงรูปเท่านั้น เมื่อกาวแห้งและทรงอยู่ตัวแล้วก็นำชิ้นงานดังกล่าวออกจากโมล มีลักษณะคล้ายๆ เบ้าตัวผู้และเบ้าตัวเมียที่ถูกออกแบบให้สามารถประกบกันได้พอดี หลังจากนำชิ้นงานออกมาก็นำไปเก็บขอบด้วยหวายหรือวัสดุอื่นที่ต้องการเพียงเท่านี้ก็เป็นอันเสร็จ และเนื่องจากเป็นวิธีที่ง่าย เด็กหรือผู้สูงอายุที่สายตาฝ้าฟาง นิ้วไม่มีแรง หรือแม้กระทั่งคนที่เพิ่งเริ่มฝึกหัดการสานไม้ไผ่ก็สามารถทำได้เช่นกัน "จะเห็นว่ากระบวนการขึ้นรูปไม้ไผ่สานด้วยการกดโมลนั้น ประกอบด้วยขั้นตอนง่ายๆ เพียงนำแผงไม้ไผ่ที่สานเป็นแผ่นมีลวดลายตามที่ต้องการ นำมาแช่น้ำจนยืดหยุ่น ทากาว และนำแผงไม้ไผ่วางลงในเบ้าหรือโมล แล้วใช้แรงกด ระยะเวลาขึ้นอยู่กับลวดลายและความหนาแน่นของวัสดุที่ใช้ รวมทั้งรูปทรงและความลึกที่ต้องการ เมื่อไม้ไผ่ที่ถูกขึ้นรูปทำให้แห้งแล้ว นำมาตกแต่งขอบและเก็บรายละเอียด ขั้นตอนนี้ใช้ระยะเวลาเพียง 1 วันเท่านั้น ซึ่งกระบวนการนี้สามารถนำไปต่อยอดผลิตภัณฑ์อื่นๆ ได้ เช่น หมวก เก้าอี้ โคมไฟ ภาชนะ ถาด หรือ บรรจุภัณฑ์ต่างๆ เป็นต้น นอกจากนี้ยังสามารถนำไปประยุกต์ใช้กับวัสดุอื่นๆ ได้เช่นกัน อาทิ หวาย กระจูด เป็นต้น ซึ่งกระบวนการนี้ ได้รับการจดอนุสิทธิบัตรไว้เรียบร้อยแล้ว" เนื่องจากยุคสมัยที่เปลี่ยนไป การสืบสานงานหัตถกรรมจักสานลดน้อยลงเรื่อยๆ การคิดค้นนวัตกรรมวิธีใหม่ๆ เพื่อมาตอบโจทย์ของการผลิตที่ง่ายขึ้น และสามารถผลิตผลิตภัณฑ์ในรูปแบบใหม่ที่ตอบโจทย์วิถีชีวิตของคนในปัจจุบันมากขึ้น การขึ้นรูปไม้ไผ่สานโดยการกดโมลจึงเชื่อว่าจะเป็นนวัตกรรมการผลิตผลิตภัณฑ์รูปแบบใหม่ที่สามารถแก้ปัญหาที่มีในปัจจุบันได้ เนื่องจากมีการผลิตที่ง่ายขั้นตอนไม่ยุ่งยาก และสามารถผลิตผลิตภัณฑ์ไม้ไผ่สานในรูปแบบใหม่ออกมาได้จริง นอกจากนี้กระบวนการผลิตแบบสานกดโมล ยังสามารถใช้ขี้ไม้ไผ่หรือเศษไม้ไผ่ส่วนที่เหลือใช้จากการจักตอกมาใช้ได้อีกด้วย เนื่องจากเป็นวิธีที่สามารถเพิ่มความแข็งแรงให้กับผลิตภัณฑ์ได้ ซึ่งจะช่วยให้สามารถใช้ทรัพยากรไม้ไผ่ได้อย่างคุ้มค่ามากยิ่งขึ้น

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ