แนวทางเพื่อสนับสนุนการดำเนินการตามแผนยุทธศาสตร์การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน ระบบการชำระเงินแบบอิเล็กทรอนิกส์แห่งชาติ (National e-Payment Master Plan)

ข่าวทั่วไป Wednesday June 29, 2016 16:47 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--29 มิ.ย.--กลุ่มสารนิเทศการคลัง กระทรวงการคลัง นายกฤษฎา จีนะวิจารณะ ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง ในฐานะโฆษกกระทรวง การคลัง เปิดเผยว่า การประชุมคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 28 มิถุนายน 2559 ได้มีมติรับทราบในหลักการของแนวทางเพื่อสนับสนุนการดำเนินการตามแผนยุทธศาสตร์การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานระบบการชำระเงินแบบอิเล็กทรอนิกส์แห่งชาติ (แผนยุทธศาสตร์ National e-Payment) ตามที่กระทรวงการคลังเสนอ เพื่อพัฒนาระบบการชำระเงินของประเทศไทยให้เข้าสู่การชำระเงินแบบอิเล็กทรอนิกส์อย่างครบวงจร บูรณาการ และยั่งยืน และเพื่อให้การบูรณาการระบบการชำระเงินของประเทศไทยทั้งภาครัฐและภาคเอกชน เข้าสู่ระบบ การชำระเงินแบบอิเล็กทรอนิกส์เป็นไปอย่างทั่วถึงตามเป้าหมายและระยะเวลาที่กำหนดไว้ และมอบหมายให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการตามมติของคณะกรรมการขับเคลื่อนตามแผนยุทธศาสตร์ National e-Payment ต่อไป โดยมีรายละเอียด ดังนี้ 1. เห็นชอบในหลักการให้หน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้องที่มีการรับเงินจากประชาชน เช่น ส่วนราชการ รัฐวิสาหกิจ และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น เป็นต้น ติดตั้งอุปกรณ์ชำระเงินทางอิเล็กทรอนิกส์ให้เพียงพอต่อความต้องการให้บริการกับประชาชน โดยเริ่มดำเนินการติดตั้งภายในเดือนกันยายน 2559 และติดตั้งให้แล้วเสร็จภายในเดือนกันยายน 2560 ทั้งนี้ ให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องปรับปรุงระเบียบและหลักเกณฑ์เพื่อรองรับการชำระเงินทางอิเล็กทรอนิกส์โดยเร็ว และให้ดำเนินการตามแนวทางที่คณะกรรมการขับเคลื่อนตามแผนยุทธศาสตร์ National e-Paymentกำหนด 2. เห็นชอบในหลักการของการดำเนินการเกี่ยวกับการออกเลขประจำตัว 13 หลัก และให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการที่จำเป็นเพื่อรองรับการดำเนินการตามแนวทางดังกล่าว โดยมีรายละเอียด ดังนี้ 2.1 การแก้ไขปัญหาเลขประจำตัว 13 หลัก ที่ปัจจุบันมีการซ้ำซ้อนกันในส่วนของ นิติบุคคลกับเลขประจำตัวประชาชน โดยมอบหมายให้กรมพัฒนาธุรกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์ ดำเนินการแก้ไขโดยการออกเลขประจำตัว 13 หลัก ให้กับนิติบุคคลใหม่ที่ไม่ซ้ำกับเลขที่ออกโดยกรมการปกครองกระทรวงมหาดไทย 2.2. การป้องกันปัญหาการออกเลขประจำตัว 13 หลัก ซ้ำกันระหว่างหน่วยงานในอนาคต โดยมอบหมายให้กรมพัฒนาธุรกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์ ดำเนินการขอจัดสรรเลขประจำตัวของนิติบุคคล และส่งให้กรมการปกครองเพื่อกันไว้ไม่ให้ใช้ออกเลขประจำตัวประชาชน และเห็นชอบในหลักการในการกำหนดภารกิจการออกเลขประจำตัว 13 หลัก ดังนี้ 1) บุคคลธรรมดา ให้กรมการปกครอง กระทรวงมหาดไทย เป็นหน่วยงานหลัก ที่ออกเลขประจำตัว 13 หลัก 2) นิติบุคคล ให้กรมพัฒนาธุรกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์ เป็นหน่วยงานหลัก ที่ออกเลขประจำตัว 13 หลัก 3) บุคคลหรือนิติบุคคลบางประเภทที่อยู่นอกเหนือจากข้อ 1) และข้อ 2) อาทิ กองมรดกเฉพาะที่ยังไม่ได้แบ่ง คณะบุคคล และผู้จ่ายเงินได้ที่มีหน้าที่ต้องเสียภาษีตามกฎหมายของกรมสรรพากรให้กรมสรรพากรเป็นหน่วยงานที่ออกเลขให้กับบุคคลหรือนิติบุคคลดังกล่าว 2.3 เพื่อให้การดำเนินงานโครงการ Any ID (บริการพร้อมเพย์) เป็นไปอย่างมีระบบ จึงมอบหมายให้ กรมการปกครอง กรมพัฒนาธุรกิจการค้า กรมสรรพากร และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องวางแนวทางในการปฏิบัติร่วมกันเพื่อป้องกันการซ้ำซ้อนของเลขประจำตัว 13 หลักในอนาคต จากแนวทางส่งเสริมการดำเนินการตามแผนยุทธศาสตร์ National e-Payment ข้างต้น จะเป็นประโยชน์ต่อระบบเศรษฐกิจ สังคม ภาคธุรกิจ และภาคประชาชน ดังนี้ 1. แนวทางการให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องที่มีการรับเงินจากประชาชนให้ติดตั้งอุปกรณ์รับชำระเงินทางอิเล็กทรอนิกส์ให้เพียงพอต่อการให้บริการกับประชาชน จะช่วยส่งเสริมให้มีการใช้บัตรเดบิตในการชำระเงินแทนเงินสดอย่างแพร่หลาย ซึ่งจะเป็นการเพิ่มทางเลือกในการชำระเงินให้กับประชาชน และเป็นกลไกที่สำคัญในการผลักดันให้ประเทศเข้าสู่การชำระเงินทางอิเล็กทรอนิกส์อย่างกว้างขวางครบวงจรทั้งในภาคประชาชน ภาคธุรกิจ และภาครัฐ 2. แนวทางการแก้ไขปัญหาความซ้ำซ้อนของเลขประจำตัว 13 หลัก 2.1 ช่วยให้เกิดการบูรณาการข้อมูลของหน่วยงานที่มีหน้าที่ออกเลขประจำตัว 13 หลัก เช่น กรมการปกครอง การพัฒนาธุรกิจการค้า และกรมสรรพากร เป็นต้น เพื่อเป็นการป้องกันการซ้ำกันของ เลขประจำตัว 13 หลักที่ออกให้โดยหน่วยงานต่าง ๆ อย่างบูรณาการและยั่งยืนต่อไป 2.2 ช่วยสนับสนุนให้การพัฒนาระบบการชำระเงินผ่านบริการพร้อมเพย์ ประสบความสำเร็จ ไม่มีการซ้ำซ้อนระหว่างเลขประจำตัว 13 หลัก ของนิติบุคคลและบุคคลธรรมดา ซึ่งจะเป็นอุปสรรคในการโอนเงินผ่านบริการพร้อมเพย์ สำหรับผู้ที่ผูกบัญชีเข้ากับเลขประจำตัวประชาชน สำนักนโยบายระบบการเงินและสถาบันการเงิน สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง โทร. 0 2273 9020

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ