ชมรมขับเคลื่อนวิชาการเพื่อวิจัยความสุขชุมชน สำนักวิจัย ซูเปอร์โพล เสนอผลวิจัยเชิงสำรวจ เรื่อง จุ0ดยืนทางการเมืองของสาธารณชน กับ การตัดสินใจ รับ หรือ ไม่รับ ร่างรัฐธรรมนูญ กรณีศึกษาตัวอย่างประชาชนผู้มีสิทธิเลือกตั้งใน 15 จังหวัด

ข่าวทั่วไป Monday July 11, 2016 10:15 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--11 ก.ค.--สำนักวิจัย ซูเปอร์โพล ดร.นพดล กรรณิกา ประธานชมรมขับเคลื่อนวิชาการเพื่อวิจัยความสุขชุมชนและ ผอ.สำนักวิจัย ซูเปอร์โพล (SUPER POLL) เปิดผลสำรวจเรื่อง จุดยืนทางการเมืองของสาธารณชนกับการตัดสินใจรับหรือไม่รับร่างรัฐธรมนูญ กรณีศึกษาตัวอย่างประชาชนผู้มีสิทธิเลือกตั้งใน 15 จังหวัด ได้แก่ กรุงเทพมหานคร เชียงราย เชียงใหม่ พิษณุโลก นครราชสีมา มุกดาหาร ขอนแก่น อุดรธานี ปทุมธานี ลพบุรี นครปฐม ชลบุรี นครศรีธรรมราช สงขลา และนราธิวาส จำนวนทั้งสิ้น 5,687 ตัวอย่าง ดำเนินโครงการระหว่างวันที่ 1 มิถุนายน – 2 กรกฎาคม 2559 ที่ผ่านมา พบว่า เมื่อสอบถามถึง จุดยืนทางการเมืองของประชาชน พบว่า ส่วนใหญ่หรือร้อยละ 54.7 ขออยู่ตรงกลาง ในขณะที่ร้อยละ 35.2 สนับสนุนรัฐบาล และ ร้อยละ 10.2 ไม่สนับสนุนรัฐบาล และเมื่อสอบถามถึงการตัดสินใจแล้วว่าจะรับ หรือ ไม่รับ พบว่า ส่วนใหญ่หรือร้อยละ 75.4 ตัดสินใจแล้วว่าจะรับ หรือ ไม่รับ ในขณะที่ ร้อยละ 24.6 ยังไม่ตัดสินใจ และเมื่อแยกตาม จุดยืนทางการเมือง พบว่า ส่วนใหญ่หรือร้อยละ 90.7 ของกลุ่มสนับสนุนรัฐบาล ตัดสินใจแล้ว ในขณะที่ ร้อยละ 72.7 ของกลุ่มที่ขออยู่ตรงกลาง และ ร้อยละ 36.4 ของกลุ่มที่ไม่สนับสนุนรัฐบาล ตัดสินใจแล้ว เช่นกัน เมื่อขอให้ ประชาชนระบุพรรคการเมืองที่ตั้งใจจะเลือก ถ้าวันนี้เป็นวันเลือกตั้ง พบว่า ส่วนใหญ่หรือร้อย 75.7 ไม่เลือกพรรคใดเลย ในขณะที่ร้อยละ 13.6 ตั้งใจเลือก พรรคเพื่อไทย รองลงมาคือร้อยละ 9.0 ระบุพรรคประชาธิปัตย์ และร้อยละ 1.7 ระบุพรรคอื่นๆ ที่น่าพิจารณาคือ การตัดสินใจ รับ หรือ ไม่รับ ร่างรัฐธรรมนูญ แยกตาม กลุ่มนิยมพรรคการเมือง พบว่า ส่วนใหญ่หรือร้อยละ 76.8 ของกลุ่มไม่เลือกพรรคใดเลย ตัดสินใจแล้วว่าจะรับ หรือ ไม่รับ ในขณะที่ ร้อยละ 58.8 ของกลุ่มคนเลือกพรรคเพื่อไทยตัดสินใจแล้ว และ ร้อยละ 86.1 ของกลุ่มคนเลือกพรรคประชาธิปัตย์ และ ร้อยละ 90.1 ของกลุ่มคนเลือกพรรคอื่นๆ ตัดสินใจแล้วเช่นกัน ผอ.สำนักวิจัย ซูเปอร์โพล กล่าวว่า ผลสำรวจครั้งนี้ชี้ให้เห็นว่า คนส่วนใหญ่ตัดสินใจแล้วว่า จะรับหรือไม่รับ ร่างรัฐธรรมนูญ แต่อาจจะเปลี่ยนใจได้ เพราะเมื่อเปิดตำราหลักการวิเคราะห์สถานการณ์การเมืองไทยผ่าน ทฤษฎีแก้วสามใบ ต่อความคิดเห็นที่แตกต่างกันของประชาชน พบว่า แก้วใบแรกเป็นของคนหนุนรัฐบาลที่มีทั้งส่วนของตะกอนและส่วนของน้ำที่เปลี่ยนใจไหลเทไปที่แก้วใบอื่นได้ โดยในเวลานี้คนที่เคยอยู่ในแก้วใบที่หนุนรัฐบาลได้ไหลไปอยู่ในแก้วใบที่สามที่เป็นแก้วของคนที่ขออยู่ตรงกลางมากที่สุด จึงเห็นได้วว่ากลุ่มคนที่หนุนรัฐบาลและกลุ่มคนที่ขออยู่ตรงกลางส่วนใหญ่ตัดสินใจแล้ว แต่ก็ยังมีโอกาสสูงที่จะเปลี่ยนใจได้ตลอดเวลาเพราะ ยังไม่ตกตะกอน จึงขึ้นอยู่กับ กระแสข้อมูลข่าวสารในเวลานี้ที่จะมีผลต่อการตัดสินใจของสาธารณชนมากน้อยเพียงไร

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ