กระทรวงเกษตรฯ ปรับแผนการระบายน้ำเขื่อนแควน้อยฯ และเขื่อนปาสักฯ รองรับน้ำหลากปลายฤดูฝน หลังกรมอุตุนิยมวิทยา คาดฤดูฝนปีนี้ปริมาณฝนตกชุกกว่าค่าเฉลี่ยเล็กน้อย ส่งผลดีต่อพื้นที่ลุ่มต่ำของลุ่มน้ำเจ้าพระยา

ข่าวทั่วไป Monday July 11, 2016 15:54 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--11 ก.ค.--สำนักงานปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ พลเอก ฉัตรชัย สาริกัลยะ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดภายหลังเป็นประธานคณะกรรมการอำนวยการบูรณาการแก้ไขปัญหาวิกฤตภัยแล้ง ปี 2558/59 ว่า จากสถานการณ์ที่มีฝนตกอย่างต่อเนื่องนั้น กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ โดยกรมชลประทาน กรมอุตุนิยมวิทยา และกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี โดยสถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำและการเกษตร (องค์การมหาชน) ได้ประเมินสถานการณ์ตรงกันว่า ขณะนี้คาดว่าไม่มีปรากฏการณ์เอลนีโญแล้ว แต่ปรากฏการณ์ลานีญาอาจจะเกิดขึ้นได้ในช่วงปลายปี 2559 ประมาณเดือน ก.ย.- ต.ค. 59 ซึ่งอาจจะส่งผลกระทบในพื้นที่ภาคใต้ที่จะมีปริมาณฝนมากกว่าทุกภาค แต่ปริมาณฝนยังใกล้เคียงกับค่าปกติ ขณะที่ปริมาณฝนในปัจจุบันมากกว่าปี 2558 โดยปริมาณฝนรวมเฉลี่ยรายภาค ระหว่างวันที่ 1ม.ค. - 6 ก.ค.59 สูงกว่าปี 2558 ในทุกภาค และส่วนใหญ่ใกล้เคียงกับค่าปกติ สำหรับสถานการณ์น้ำใช้การได้ใน 33 เขื่อนหลัก ขณะนี้ (ณ วันที่ 8 ก.ค.59) มีปริมาณ 7,816 ล้าน ลบ.ม.เปรียบเทียบกับปี 2556, 2557, 2558 พบว่ามีปริมาณที่ใกล้เคียงกัน โดยมีปริมาณ 8,600 , 9,200 และ 8,400 ล้าน ลบ.ม. ตามลำดับ ส่วนน้ำใน 4 เขื่อนหลักลุ่มเจ้าพระยา ได้แก่ เขื่อนภูมิพล เขื่อนสิริกิติ์ เขื่อนแควน้อยบำรุงแดน และเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ ขณะนี้มีปริมาณรวม 1,579 ล้าน ลบ.ม. ซึ่งมากกว่าปี 2558 ที่มีปริมาณ 703 ล้าน ลบ.ม. จึงนับว่าเป็นสัญญาณที่ดี อย่างไรก็ตาม หากเปรียบเทียบใน 4 เขื่อนหลัก น้ำในเขื่อนภูมิพลยังคงมีปริมาณน้อย โดยขณะนี้เก็บกักน้ำได้เพียง 287 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็นร้อยละ 30 ของพื้นที่เก็บกักน้ำ เมื่อเปรียบเทียบกับปี 2556,2557 และ 2558 ในวันเดียวกัน ที่มีปริมาณ 3,090 ล้าน ลบ.ม. 290 ล้าน ลบ.ม. และ 200 ล้าน ลบ.ม. ตามลำดับ ดังนั้น จึงต้องหาแนวทางเก็บกับน้ำในเขื่อนภูมิพลให้มากขึ้นอย่างต่อเนื่อง ส่วนการคาดการณ์ปริมาณน้ำใช้การได้ใน 33 เขื่อนหลักนั้น ขณะนี้ (ณ วันที่ 8 ก.ค. 59) มีปริมาณน้ำ7,816ล้าน ลบ.ม. คาดการณ์ ณ วันที่ 1 ส.ค. 59 จะมีปริมาณ 10,134 ล้าน ลบ.ม. , วันที่ 1 ก.ย. 59 มีปริมาณ 16,038 ล้าน ลบ.ม. และวันที่ 1 ต.ค.59 มีปริมาณ 23,746 ล้าน ลบ.ม. ขณะที่น้ำใช้การได้ใน 4 เขื่อนหลักลุ่มเจ้าพระยา ซึ่งขณะนี้มีน้ำใช้การได้ 1,579 ล้าน ลบ.ม. นั้น คาดการณ์ ณ วันที่ 1 ส.ค. 59 จะมีปริมาณน้ำ 2,155 ล้าน ลบ.ม. ณ วันที่ 1 ก.ย. 59 มีปริมาณ4,614 ล้าน ลบ.ม. และ ณ วันที่ 1 ต.ค.59 คาดการณ์ว่ามีปริมาณ 8,304 ล้าน ลบ.ม. ทั้งนี้ เขื่อนภูมิพลและเขื่อนสิริกิติ์ ซึ่งรับน้ำฝนจากพื้นที่ภาคเหนือตอนบน จะมีน้ำเข้ามากช่วงเดือน ส.ค. ก.ย. และ ต.ค. ส่วนเขื่อนแควน้อยบำรุงแดน จะมีน้ำเข้ามามากในช่วงเดือน ส.ค.และ ก.ย. หลังจากนั้นน้ำจะล้นเขื่อน จึงต้องระบายออก ขณะที่เขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ จะมีน้ำเข้ามากช่วงเดือน ส.ค.และ ก.ย. หลังจากนั้นน้ำจะล้นเขื่อนต้องระบายออก นายทองเปลว กองจันทร์ รองอธิบดีกรมชลประทาน กล่าวถึงการเตรียมปรับแผนการระบายน้ำ ว่า ในช่วงเดือน ก.ย.- ต.ค. ปริมาณน้ำไหลลงเขื่อนเขื่อนแควน้อยบำรุงแดน จะอยู่ที่ประมาณ 1,200 ล้าน ลบ.ม. ส่วนเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ จะอยู่ที่ประมาณ 2,000 ล้าน ลบ.ม. ขณะที่ทั้งสองเขื่อนสามารถรับน้ำได้เพียง 611 ล้าน ลบ.ม. และ 784 ล้าน ลบ.ม. ตามลำดับ ทำให้เมื่อสิ้นสุดฤดูฝน เขื่อนทั้งสองแห่งมีแนวโน้มที่น้ำจะเต็มเขื่อน ดังนั้น เพื่อไม่ให้ต้องระบายน้ำเพิ่มมากขึ้นในช่วงฤดูน้ำหลาก จึงได้ปรับแผนการระบายน้ำจากเขื่อนแควน้อยฯและเขื่อนป่าสักฯเพิ่มมากขึ้น ในช่วงเดือน ก.ค. – ส.ค. นี้ จากเดิมเขื่อนแควน้อยฯ ระบายน้ำในอัตราวันละ 2.44 ล้าน ลบ.ม. เป็นระบายน้ำวันละ 5 ล้าน ลบ.ม. ส่วนเขื่อนป่าสักฯ จะเพิ่มการระบายน้ำจากเดิมที่ระบายในอัตราวันละ 2.16 ล้าน ลบ.ม. เพิ่มเป็น 3 – 5 ล้านลบ.ม. ต่อวัน โดยการปรับเพิ่มการระบายน้ำในครั้งนี้ จะช่วยสนับสนุนและส่งผลดีต่อพื้นที่เพาะปลูก ข้าวนาปี ในเขตของโครงการชลประทานเขื่อนแควน้อยฯ และโครงการชลประทานเขื่อนป่าสักฯ ที่ยังไม่ได้เพาะปลูกอีกประมาณ220,000 ไร่ จะสามารถทำนาปีได้อย่างเต็มพื้นที่ รวมไปถึงพื้นที่ลุ่มต่ำของลุ่มน้ำเจ้าพระยา ที่ยังไม่ได้เพาะปลูกอีกกว่า814,000 ไร่ จะสามารถทำนาปีได้อย่างเต็มพื้นที่ ทั้งนี้ การเพิ่มการระบายน้ำจากทั้งสองเขื่อน จะไม่ส่งผลกระทบกับปริมาณน้ำเก็บกักสำหรับใช้ในฤดูแล้งที่จะมาถึง ถึงแม้ว่าปริมาณน้ำไหลลงเขื่อนจะน้อยกว่าค่าเฉลี่ยร้อยละ 10 เมื่อสิ้นสุดฤดูฝน คาดการณ์ว่าสถานการณ์ในน้ำเขื่อนทั้งสองแห่ง จะมีปริมาณเต็มเขื่อนพอดี ขณะที่การประเมินผลโครงการบูรณาการมาตรการช่วยเหลือเกษตรกรที่ได้รับผลกระทบจากภัยแล้ง ปี 2558/59 โดยสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร ได้สำรวจข้อมูลการดำเนินโครงการช่วยเหลือเกษตรกรที่ได้รับผลกระทบจากภัยแล้ง 8 มาตรการ ตั้งแต่วันที่ 25 เม.ย.-15 พ.ค.59 ในพื้นที่จังหวัดต่างๆ ทุกภาคของประเทศ จำนวน 61 จังหวัด รวมทั้งสิ้น 4,085 ราย พบว่า เกษตรมีความพึงพอใจในระดับมาก – มากที่สุด ในภาพรวมทุกมาตรการ ร้อยละ 53 และมีความพึงพอใจในระดับมาก – มากที่สุด ในมาตราที่ 3 การจ้างงาน ร้อยละ 48 มาตราที่ 4 โครงการตามความต้องการของชุมชน ร้อยละ 66 มาตราที่ 7 การเสริมสร้างสุขภาพและความปลอดภัย ร้อยละ 62 และมาตรการที่ 8 การช่วยเหลือตามระเบียบ ของกระทรวงการคลัง การอบรมเพิ่มผลิตภาพการผลิต (อบรมช่วงภัยแล้ง) ร้อยละ 53

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ