Thailand Trust Mark สัญลักษณ์การันตีสินค้าไทยในต่างแดน เชื่อมั่นมาตรฐานแรงงานไทยสร้างความมั่นคงของแบรนด์ได้

ข่าวทั่วไป Tuesday July 26, 2016 10:06 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--26 ก.ค.-- กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ เร่งผลักดันผู้ประกอบการไทยตีตราสัญลักษณ์ Thailand Trust Mark ให้กับสินค้าและบริการไทยที่มีความพร้อมด้านคุณภาพและมาตรฐาน โดยเฉพาะอย่างยิ่งมาตรฐานการใช้แรงงานที่เป็นธรรม มั่นใจผู้ประกอบการที่ได้รับการรับรองมาตรฐานแรงงานไทยสามารถสร้างความมั่นคงของแบรนด์ได้ นางมาลี โชคล้ำเลิศ อธิบดีกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ กล่าวว่า "ตามนโยบายรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ นางอภิรดี ตันตราภรณ์ ในการส่งเสริมภาพลักษณ์สินค้าและบริการของไทยในตลาดต่างประเทศนั้น การจัดทำตราสัญลักษณ์ Thailand Trust Mark จะช่วยส่งเสริมภาพลักษณ์ที่ดีในเชิงคุณภาพของสินค้าและบริการ รวมถึงจริยธรรมของผู้ประกอบการไทย เพื่อเสริมสร้างการยอมรับและความเชื่อมั่นของประเทศคู่ค้าและผู้บริโภคในตลาดโลก ที่ผ่านมาพบว่าผู้บริโภคทั้งในประเทศและต่างประเทศไว้วางใจสินค้าที่มีตราสัญลักษณ์ Thailand Trust Mark จนทำให้สินค้าอุตสาหกรรมมียอดการส่งออกเป็นที่น่าพอใจ โดยผู้ประกอบการที่ได้รับตราสัญลักษณ์ Thailand Trust Mark จะต้องผ่านการตรวจประเมินหลัก คือ 1) อุตสาหกรรมสีเขียว (Green Industry) และ 2) มาตรฐานแรงงานที่เป็นธรรม" "มาตรฐานแรงงานเป็นเรื่องที่สำคัญที่ผู้ประกอบการจะละเลยไม่ได้ การดูแลพนักงานถือได้ว่าเป็นเรื่องของความรับผิดชอบทางสังคม ภายใต้หลักธรรมาภิบาลทางธุรกิจ ล่าสุดเพื่อบูรณาการรับรองมาตรฐานแรงงานไทย กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ ได้ร่วมกับกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน กระทรวงแรงงาน เร่งขับเคลื่อนนโยบายยกระดับมาตรฐานแรงงานไทยและส่งเสริมผู้ประกอบการทุกกลุ่มอุตสาหกรรมให้เตรียมพร้อมเพื่อขอการรับรองมาตรฐานแรงงานไทย มรท. 8001-2553 (Thailand Labour Standard : TLS 8001-2010) โดยมีกำหนดเปิดรับคำขอตลอดปี แบ่งการรับรองเป็น 2 ระดับ คือ 1) การรับรองระดับพื้นฐาน ซึ่งเกี่ยวกับสภาพการจ้างงานและสภาพการทำงาน เช่น ชั่วโมงการทำงาน ค่าตอบแทน ความปลอดภัย อาชีว- อนามัย และสภาพแวดล้อมในการทำงาน ตลอดจนสวัสดิการที่นายจ้างได้จัดให้แก่ลูกจ้าง มีระยะเวลาการรับรอง 2 ปี 2) การรับรองระดับสมบูรณ์ คือ การรับรองสถานประกอบกิจการที่ได้ปฏิบัติสอดคล้องกับข้อกำหนด มรท.8001 - 2553 ทุกข้อกำหนด โดยให้มีการรับรองทั้งหมด 4 ขั้น ซึ่งแต่ละขั้นจะมีชั่วโมงการทำงานล่วงเวลาต่างกัน ดังนี้ 1) ขั้นริเริ่ม ไม่เกิน 36 ชม. 2) ขั้นพัฒนา ไม่เกิน 24 ชม. 3) ขั้นก้าวหน้า ไม่เกิน 18 ชม. และ 4) ขั้นสูงสุด ไม่เกิน 12 ชม. และมีระยะเวลาการรับรอง 3 ปี ปัจจุบัน มีผู้ประกอบการไทยที่ผ่านการรับรองมาตรฐานแรงงานไทยแล้ว อาทิ บริษัท ชาเขียว จำกัด บริษัท โจ-ลี่ แฟมิลี่ จำกัด บริษัท ยูโรเปี้ยนฟู้ด จำกัด (มหาชน) บริษัท สแตนดาร์ด แมนูแฟคเจอริ่ง จำกัด บริษัท สวัสดิ์อุดมเอ็นจิเนียริ่ง (ระยอง) จำกัด บริษัท เอ๊กโก้ ฟอร์จจิ้ง โปรดักส์ จำกัด เป็นต้น ซึ่งการได้รับการรับรองนี้ถือเป็นอีกหนึ่งความเข้มแข็งของสินค้าและต่อยอดการเติบโตให้กับธุรกิจได้" นางมาลี โชคล้ำเลิศ กล่าวเพิ่มเติม กรมฯ เปิดรับสมัครให้ผู้ประกอบการส่งออกสามารถสมัครขอรับตราสัญลักษณ์ Thailand Trust Mark ได้ถึง 3 ครั้ง ทุกๆ 4 เดือน เปิดโอกาสให้ผู้ประกอบการได้มีการพัฒนาตนเองให้มีคุณสมบัติครบตามที่กำหนด ปัจจุบัน มีผู้ประกอบการส่งออกไทยได้รับตราสัญลักษณ์ TTM แล้วกว่า 685 บริษัท แบ่งเป็นอุตสาหกรรมอาหาร 233 บริษัท อุตสาหกรรมหนัก 177 บริษัท อุตสาหกรรมไลฟ์สไตล์ 127 บริษัท อุตสาหกรรมแฟชั่น 49 บริษัท อุตสาหกรรมอิ่น 83 บริษัท และธุรกิจบริการ 16 บริษัท (ข้อมูล ณ เดือนมิถุนายน 2559) สำหรับผู้ประกอบการที่มีความสนใจ กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ ได้เปิดให้ลงทะเบียนสมัครเพื่อขอรับตราสัญลักษณ์นี้ได้ผ่านเว็บไซต์www.thailandtrustmark.com สามารถสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่โทร.1169

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ