สคร.10 อุบลฯ เผย หน้าฝน ไข้หวัดใหญ่ระบาด ตั้งแต้ต้นปี พบผู้ป่วยแล้ว ห้าหมื่นกว่า ราย

ข่าวทั่วไป Wednesday July 27, 2016 15:22 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--27 ก.ค.--สำนักงานป้องกันควบคุมโรคที่ 10 อุบลราชธานี นพ.ศรายุธ อุตตมางคพงศ์ ผู้อำนวยการสำนักงานป้องกันควบคุมโรคที่ 10 จ.อุบลราชธานี (สคร.10) เปิดเผยว่า ตั้งแต่ต้นปี 2559 เป็นต้นมา ประเทศไทยมีรายงานผู้ป่วยโรคไข้หวัดใหญ่เพิ่มสูงมากขึ้น เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันกับปีที่ผ่านมา โดยมีรายงานผู้ป่วยสะสม ปี 2559 ตั้งแต่เดือนมกราคมถึงพฤษภาคม จำนวน 51,044 ราย ปี 2558 จำนวน 37,415 ราย ซึ่งโรคดังกล่าวเป็นโรคที่เกิดจากเชื้อไวรัสไข้หวัดใหญ่ เป็นการติดเชื้อระบบทางเดินหายใจ พบได้ในผู้ป่วยทุกกลุ่มอายุเกิดขึ้นได้ตลอดปีแต่มักจะพบว่ามีการระบาดเพิ่มสูงขึ้นในช่วงหน้าฝนที่อากาศเย็นและชื้น สำหรับในปี 2559 สำนักงานป้องกันควบคุมโรคที่ 10 อุบลราชธานี ได้พยากรณ์โรคไข้หวัดใหญ่ในภาพรวมของ 5 จังหวัดในเขตสุขภาพที่ 10 ได้แก่ จังหวัดอุบลราชธานี ศรีสะเกษ อำนาจเจริญ ยโสธร และมุกดาหาร คาดว่าจะมีจำนวนผู้ป่วยโรคไข้หวัดใหญ่ จำนวน 6,814 ราย โดยคาดว่าจังหวัดอุบลราชธานีจะมีจำนวนผู้ป่วยมากที่สุดประมาณ 6,200 ราย กระจายในทุกเดือน แต่ในเดือนมิถุนายนถึงเดือนตุลาคมซึ่งเป็นช่วงของฤดูฝนจะมีจำนวนผู้ป่วยมากที่สุด นพ.ศรายุธ กล่าวต่ออีกว่า เชื้อไข้หวัดใหญ่จะอยู่ในน้ำมูก น้ำลาย หรือเสมหะของผู้ป่วย การติดต่อส่วนใหญ่เกิดจากการสัมผัสละอองฝอยจากการไอ จามของผู้ป่วย โดยละอองฝอยที่มีเชื้อเหล่านี้เมื่อสัมผัสกับทางเดินหายใจหรือตามเยื่อบุต่างๆ เช่น เยื่อบุตา จะทำให้เชื้อเข้าสู่ร่างกายและเป็นโรคได้ อาการโดยทั่วไป คือ มีไข้ ไอ มีน้ำมูก บางคนมีอาการเจ็บคอ ปวดเมื่อยตามตัว คลื่นไส้อาเจียน ท้องเสีย อาการส่วนใหญ่จะไม่รุนแรงเป็นอยู่ประมาณ 3-5 วัน ซึ่งบางครั้งจะคล้ายโรคไข้หวัดธรรมดา แต่ท้ายที่สุดอาการก็จะหายไปเองได้ มีเพียงส่วนน้อยเท่านั้นที่จะมีอาการรุนแรง เช่น ไอมาก หอบเหนื่อย หายใจลำบาก มีการอักเสบของปอดทำให้ปอดบวม การหายใจล้มเหลว ซึ่งอาการอาจจะ รุนแรงจนถึงเสียชีวิตได้ กลุ่มที่มีความเสี่ยงต่อโรคไข้หวัดใหญ่รุนแรง คือ กลุ่มเด็กเล็ก กลุ่มผู้สูงอายุ สตรีมีครรภ์ และผู้ป่วยที่มีโรคประจำตัว เช่น โรคเบาหวาน โรคหัวใจ โรคปอด โรคอ้วน และผู้ที่มีภูมิคุ้มกันในร่างกายต่ำ โรคนี้ไม่ถือว่าเป็นโรคร้ายแรง ส่วนมากให้การดูแลตามอาการและจะหายเองได้ หากมีบุคคลในบ้านหรือผู้ใกล้ชิดป่วยหรือสงสัยว่าเป็นไข้หวัดใหญ่จำเป็นต้องป้องกันการติดต่อ เวลาไอ จามควรสวมหน้ากากอนามัยปิดปาก ปิดจมูกเพื่อลดการแพร่กระจายของละอองฝอย ล้างมือบ่อยๆ และหลีกเลี่ยงการใช้มือ สัมผัสหน้า ตา จมูกโดยไม่จำเป็นเพราะเป็นทางแพร่เชื้อเข้าสู่ร่างกาย ถ้าปฏิบัติได้ดังนี้จะช่วยลดการติดต่อและการแพร่กระจายเชื้อไปสู่คนใกล้ชิดและผู้อื่นได้ ทั้งนี้ประชาชนสามารถสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ ศูนย์บริการข้อมูลฮ็อตไลน์กระทรวงสาธารณสุขโทรฟรีหมายเลข 1422 /นพ.ศรายุธ กล่าวปิดท้าย

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ