วสท. ชี้จุดอ่อนแผนรับมือน้ำท่วม กทม. พร้อมเสนอแนะแนวทางระยะสั้น กลาง ยาว

ข่าวทั่วไป Wednesday July 27, 2016 17:00 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--27 ก.ค.--Brainasia Communication จากเหตุการณ์ฝนตกหนักคืนวันที่ 20 มิถุนายน 2559 ต่อเนื่องถึงเช้าวันที่ 21 ก่อให้เกิดปัญหาน้ำท่วมขังใน 36 พื้นที่ทั่วกรุงเทพมหานคร นำมาสู่ปัญหาจราจรอย่างหนักในหลายพื้นที่ ซึ่งต่อมาผู้ว่าราชการกรุงเทมหานครได้ออกมาแถลงถึงสถานการณ์ดังกล่าวว่าเกิดจากฝนตกหนักเป็นประวัติการณ์ รวมทั้งลักษณะทางกายภาพของกรุงเทพฯ เป็นเมืองต่ำ จะต้องมีน้ำรอระบาย ประกอบกับปัญหาขยะอุดตันท่อระบายน้ำและคลองรับน้ำต่างๆ เป็นอุปสรรคต่อการระบายน้ำ โดยยืนยันว่าประสิทธิภาพการรอระบายน้ำของ กทม.ดีขึ้นและในอนาคตเมื่อการก่อสร้างอุโมงค์ยักษ์เสร็จสมบูรณ์จะทำให้การแก้ปัญหามีประสิทธิภาพดีขึ้น รวมทั้งขอให้เรียกสถานการณ์ครั้งนี้ว่า "น้ำรอระบาย" วิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทย ในประพบรมราชูปถัมภ์ (วสท.) เห็นว่าการให้ข้อมูลของผู้ว่าฯ กทม. ดังกล่าวข้างต้นก่อให้เกิดความเข้าใจผิดของสาธารณชนและสื่อมวลชน ทั้งต่อสถานการณ์ที่เกิดขึ้นและต่อศักยภาพการระบายน้ำของ กทม. เอง รวมทั้ง ศัพท์ใหม่ "น้ำรอระบาย" ที่ผู้ว่าฯ กทม.บัญญัติขึ้นใหม่นั้นไม่เหมาะสมต่อการอ้างถึงในการบริหารจัดการน้ำ ก่อให้เกิดความเข้าใจที่คลาดเคลื่อนในแวดวงอุทกศาสตร์และชลศาสตร์ จึงได้จัดงานแถลงทางวิชาการต่อ "กรณีน้ำท่วมรอระบายของกรุงเทพมหานคร" เมื่อวันที่ 30 มิถุนายน 2559 นำโดย รศ. ดร. บัญชา ขวัญยืน ประธานคณะอนุกรรมการสาขาวิศวกรรมแหล่งน้ำ วสท. ร่วมด้วย รศ. ดร. สุวัฒนา จิตตลดากร ผศ. ทีฆวุฒิ พุทธภิรมย์ ที่ปรึกษาคณะอนุกรรมการสาขาวิศวกรรมแหล่งน้ำ ดร.สุรศักดิ์ คลังสุภาวิพัฒน์ คณะอนุกรรมการสาขาวิศวกรรมแหล่งน้ำ และ ผศ. ดร. สิตางศุ์ พิลัยหล้า เลขานุการ คณะอนุกรรมการสาขาวิศวกรรมแหล่งน้ำ ในเบื้องต้น ได้มีการให้ข้อมูลเกี่ยวกับปัญหาน้ำท่วม กทม. ปัจจัยทางธรรมชาติที่เกิดจากน้ำฝน น้ำทุ่ง น้ำเหนือ และน้ำทะเลหนุน และข้อจำกัดของ กทม. ซึ่งเป็นสิ่งที่กทม. และผู้มีหน้าที่รับผิดชอบตระหนักอยู่แล้ว ไม่ว่าจะเป็นปัญหาผังเมือง ปัญหาระบบระบายน้ำ ปัญหาแผ่นดินทรุด โดยได้ให้รายละเอียดสถิติตัวเลขฝนย้อนหลังไปถึงปี 2533 ซึ่งเกณฑ์ค่าเฉลี่ยอยู่ที่ 30 – 60 มิลลิเมตรต่อชั่วโมง และเป็นปริมาณที่พบได้ในทุกรอบ 2- 3 ปี ทั้งนี้ ฝนที่ตกในช่วงวันที่ 20 – 21 มิถุนายนนั้นอยู่ที่ประมาณ 90 มิลลิเมตรต่อวัน ไม่เกินไปจากค่าการออกแบบระบบระบายน้ำของ กทม. ซึ่งออกแบบที่คาบการเกิด 2 ปีที่ค่าความเข้มฝน 60 มิลลิเมตรต่อชั่วโมง ดังนั้น เหตุการณ์น้ำท่วมขังในช่วงเวลาดังกล่าวจึงสะท้อนให้เห็นถึงความไม่พร้อมของ กทม.ในการรับมือกับฝนที่ตกในพื้นที่ การขาดการเตรียมการล่วงหน้าและปัญหาด้านเทคนิคในการบริหารจัดการน้ำท่วมขัง อย่างไรก็ตาม ได้ชี้ให้เห็นถึงจุดอ่อนของระบบระบายน้ำของ กทม. ซึ่งขาดจุดรวบรวมน้ำหลัก ระบบระบายน้ำขาดความเชื่อมโยงตั้งแต่ระบบรวบรวมน้ำจากถนนและที่พักอาศัย ลงสู่ท่อรอง ท่อหลักและคลองระบายสายหลัก ก่อนลงสู่แม่น้ำเจ้าพระยา ทั้งนี้ ในหลายพื้นที่เป็นระบบระบายน้ำเก่าที่ออกแบบด้วยข้อมูลน้ำฝนน้ำท่าในสมัยก่อน ซึ่งปัจจุบันลักษณะทางกายภาพของพื้นที่ได้เปลี่ยนแปลงไปมากจากการใช้ที่ดินและการขยายตัวของเมืองที่ขาดการกำหนดทิศทาง และขาดการควบคุมอย่างเหมาะสม คูคลองพื้นที่รับน้ำถูกถม ทำให้ฝนที่ตกลงมาซึมผ่านลงในดินได้น้อยลง กลายเป็นน้ำที่ขังนองมากกว่าในอดีต บางแห่งยังเกิดการทรุดตัวของพื้นที่กลายเป็นแอ่ง ทำให้น้ำไม่สามารถไหลไปลงท่อรับน้ำและอุโมงค์ระบายน้ำของกทม. ซึ่งสร้างและใช้งานอยู่แล้ว 7 แห่ง โดย 3 แห่งเป็นอุโมงค์ขนาดใหญ่ หรือที่เรียกว่าอุโมงค์ยักษ์ กล่าวได้ว่า อุโมงค์ยักษ์ทั้งที่มีอยู่แล้วและที่อยู่ระหว่างการดำเนินการก่อสร้างไม่ใช่เครื่องมือที่ใช้แก้ปัญหาน้ำท่วมขัง กทม. ได้ เนื่องจากน้ำไม่สามารถไหลลงสู่ท่อระบายน้ำได้ อย่างไรก็ตาม ด้วยขีดความสามารถของคลองรับน้ำที่มีขนาดค่อนข้างเล็ก ไม่สอดคล้องกับปริมาณน้ำท่าที่เพิ่มขึ้นถึงแม้ไม่มีปัญหาขยะอุดตัน ก็ยังอาจเกิดปัญหาการระบายน้ำของ กทม. แต่การขยายคลองระบายก็ทำได้ยากเนื่องจากถูกจำกัดด้วยการขยายตัวของชุมชนที่อยู่สองข้างทางของคลองรับน้ำ ดังนั้น วสท. จึงได้มีข้อเสนอแนะให้ กทม. จัดลำดับความสำคัญของปัญหาเพื่อดำเนินมาตรการเพื่อรับมือกับฝน ทั้งในระยะสั้น ระยะกลาง และระยะยาว ดังนี้ ระยะสั้น: 1. ทำความสะอาดคูคลอง กำจัดขยะ สิ่งกีดขวาง อันเป็นอุปสรรคต่อการไหลของน้ำในคลองรับน้ำและคลองระบายน้ำ ทั้งสายรองและสายหลัก 2.การเพิ่มชุดเครื่องสูบน้ำ เพื่อรวบรวมน้ำที่ขังให้ลงสู่ทางรับน้ำโดยเร็ว 3. การตรวจสอบระดับท่อระบายน้ำในเขตพื้นที่เสี่ยง เพื่อประเมินศักยภาพการระบายน้ำ 4. การทบทวนมาตรการบริหารจัดการน้ำ ที่เรียกว่า ระบบพื้นที่ปิดล้อมย่อย ซึ่ง กทม.ได้กำหนดจุดอ่อนไหวน้ำท่วมที่สำคัญไว้แล้ว 20 พื้นที่ ทั้งนี้ ระบบพื้นที่ปิดล้อมดังกล่าวไม่ใช่การก่อสร้างคันกั้นน้ำหรือกำแพงกันน้ำ แต่เป็นการบริหารจัดการรายพื้นที่ซึ่งต้องตรวจสอบศักยภาพการรับน้ำของแต่ละพื้นที่ ระดับความสูงต่ำของแต่ละพื้นที่ การแบ่งน้ำจากพื้นที่หนึ่งไปสู่อีกพื้นที่หนึ่งเมื่อน้ำท่วมขังนานเกิน 15 นาที เหล่านี้ ต้องใช้หลักความรู้ทางวิศวกรรม ระยะกลาง: 1. เพื่อช่วยให้ระบบระบายน้ำธรรมชาติดีขึ้น ควรกำหนดให้มีการสร้างสถานีสูบน้ำ ประตูระบายน้ำ และจัดหาที่ว่างรับน้ำขนาดใหญ่เพิ่มเติมเพื่อรับน้ำได้ในปริมาณมาก 2. พัฒนาและบริหารจัดการประสิทธิภาพของระบบอุโมงค์ใต้ดินรวบรวมน้ำหลัก 3. ทบทวนนโยบายด้านผังเมืองและการขยายตัวของเมือง ควรกำหนดให้มีพื้นที่สีเขียว เช่น สวนสาธารณะ และพื้นที่รับน้ำสำหรับเก็บกักน้ำเป็นการชั่วคราวเมื่อเกิดฝนตกหนัก ซึ่งอาจเป็นพื้นที่แก้มลิง หนอง คลอง บึง หรืออาจพิจารณาไปถึงการสนับสนุนให้ผู้พักอาศัยเก็บกักน้ำ 4. ในอนาคตอันใกล้ ซึ่งระบบขนส่งมวลชน เช่น รถไฟฟ้า จะก่อสร้างเสร็จเรียบร้อยใช้งานได้ ทำให้คนอาจสัญจรด้วยรถยนต์ทางถนนลดลง กทม. ควรพิจารณาปรับปรุง เพิ่มศักยภาพระบบระบายน้ำที่มีอยู่ให้สามารถรองรับน้ำท่าที่เพิ่มมากขึ้น โดยต้องมีการประสานงานระหว่างสำนักระบายน้ำ สำนักโยธาธิการ และสำนักงานเขต ระยะยาว: ในอนาคต การก่อสร้างระบบขนส่งคมนาคม โทรคมนาคมการสื่อสารต่างๆ ควรคำนึงถึงผลกระทบต่อการระบายน้ำและสิ่งแวดล้อม โดยต้องประสานงานกันอย่างบูรณาการ ทั้งนี้ วสท.ได้แสดงความกังวลต่อฝนที่กำลังจะมาในช่วงเดือนสิงหาคม – ตุลาคมนี้ หาก กทม. ยังไม่ดำเนินการใดๆ เพื่อเป็นการรับมือในระยะสั้น อาจประสบปัญหาการระบายน้ำ น้ำท่วมขัง ที่รุนแรงยิ่งกว่าที่ผ่านมา อนึ่ง คณะอนุกรรมการสาขาวิศวกรรมแหล่งน้ำ วิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทย เรียกร้องให้ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร เลิกบัญญัติศัพท์ใหม่ "น้ำรอระบาย" ซึ่งนำมาสู่ความเข้าใจที่คลาดเคลื่อนจากหลักวิชาการ ไม่นำไปสู่การแก้ปัญหาอย่างยั่งยืน ซึ่งทำให้กรุงเทพยังคงมีความเสี่ยงอย่างมากที่จะประสบปัญหาน้ำท่วมแบบซ้ำซากเมื่อมีฝนตกมากในอนาคต
แท็ก น้ำท่วม  

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ