“การเตรียมความพร้อมเด็กในศตวรรษที่ 21 (Early School Readiness in 21st Century)”

ข่าวทั่วไป Thursday July 28, 2016 11:08 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--28 ก.ค.--เอ ลอยัลตี้ กรุ๊ป Dr.Anat R. Sela นักการศึกษาผู้เชี่ยวชาญจากอิสราเอลให้ข้อคิดก้าวตามให้ทันลูกในยุคไอซีทีแห่งศตวรรษที่ 21 นับเป็นโอกาสอันดีเมื่อสถาบันส่งเสริมการสอนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (สสวท.) ได้จัดงานประชุมวิชาการวิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์ และเทคโนโลยี ในระดับปฐมวัยและประถมศึกษา ครั้งที่ 3 หัวข้อ "การเตรียมความพร้อมเด็กในศตวรรษที่ 21 (Early School Readiness in 21st Century)" เมื่อต้นเดือนที่ผ่านมา ณ โรงแรมวินเซอร์ สวีทส์ สุขุมวิท 20 กรุงเทพฯ ภายในงานมีการจัดกิจกรรมและการเสวนาที่น่าสนใจ โดยเฉพาะเมื่อ Dr.Anat R. Sela นักการศึกษาผู้เชี่ยวชาญด้านวิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์ และเทคโนโลยีจากประเทศอิสราเอล ได้มาให้การอบรมเชิงปฏิบัติการในหัวข้อ "เด็กปฐมวัยเรียนรู้เทคโนโลยีได้อย่างไร" หรือ "How Early Childhood Learn Technology" เพื่อเป็นแนวทางในการส่งเสริมการเรียนรู้เทคโนโลยีสารสนเทศให้กับเด็กในระดับอนุบาลและประถมศึกษา ปัญหาหนึ่งที่ตระหนักเหมือนกันทั่วโลกก็คือ การดูแลเด็กในศตวรรษที่ 21 เพราะทุกคนต่างก็อยู่ท่ามกลางความก้าวหน้าอย่างรวดเร็วของเทคโนโลยี โดยเฉพาะเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร หรือไอซีที (Information and Communication Technology-ICT) จึงจำเป็นที่พ่อแม่ ผู้ปกครองและครู ต้องเตรียมความพร้อมหรือรู้เท่าทันไปพร้อมกับการให้เด็กได้รู้จักใช้เทคโนโลยีอย่างเหมาะสม Dr.Anat R. Sela กล่าวถึงการที่จะให้เด็กได้ใช้อุปกรณ์ไอซีทีก็ต้องย้อนถามตัวผู้ใหญ่ก่อนว่า ให้เด็กใช้เพื่อวัตถุประสงค์อะไร ผู้ปกครองต้องระมัดระวังอย่าให้อุปกรณ์ไอซีทีเหล่านี้เป็นเหมือนพี่เลี้ยงคอยดูแลลูกแทน ในอดีตครอบครัวนั่งโต๊ะกินข้าวพร้อมหน้า มีการพูดคุยเล่าเรื่องราวที่น่าสนใจสู่กันฟัง แลกเปลี่ยนความคิดเห็นกัน ทำให้ลูกเรียนรู้มารยาทและการประพฤติตนให้เหมาะสมจากโต๊ะอาหาร และเรียนรู้เรื่องราวต่างๆ จากสิ่งที่พ่อแม่หรือผู้ใหญ่พูดคุยกัน ทำให้ผู้ใหญ่เองก็ต้องระมัดระวังในสิ่งที่จะพูด "แต่ปัจจุบันเรากลับเป็นฝ่ายส่งไอแพดและที่เสียบหูฟังให้ลูก เหมือนแยกเด็กออกไป ใช้ครอบแก้วครอบตัวเด็กให้หลุดอยู่ในโลกส่วนตัว ปล่อยให้เด็กมุ่งอยู่กับการเล่นเกมส์ โดยไม่ได้เรียนรู้สิ่งรอบข้างอะไรเลย จนขาดทักษะในการดำเนินชีวิตอย่างเหมาะสม ส่วนพ่อแม่เองเวลาพูดคุยกันบางเรื่องที่ไม่เหมาะสมสำหรับเด็ก ก็จะไม่สนใจว่ามีลูกนั่งอยู่ตรงนั้นด้วย เพราะคิดว่าลูกไม่สนใจฟัง ไม่ตระหนักว่า ควรหลีกเลี่ยงที่จะพูดถึงบางเรื่อง" Dr.Anat เล่าให้ฟังด้วยว่า วันหนึ่งได้มีโอกาสนั่งรถเที่ยวในกรุงเทพฯ กับครอบครัวหนึ่งที่มีลูกวัยสองขวบอยู่ในรถ ภายในรถมีจอวิดีโอให้เด็กนั่งดูสนใจกับสิ่งตรงนี้ โดยไม่ได้คิดที่จะให้ลูกเรียนรู้ที่จะมองสิ่งรอบข้างภายนอกรถ ว่ากำลังวิ่งผ่านไปไหน พบเห็นอะไรบ้าง หรือชวนลูกพูดคุยใช้เวลาด้วยกัน ต่อข้อถามที่ว่าในเมื่อโลกนี้ไม่สามารถปฏิเสธการมีของไอซีทีที่นับวันมีการพัฒนามากขึ้นเป็นลำดับ ขณะที่เด็กก็ควรมีเวลาสนใจสิ่งรอบข้างอย่างอื่นด้วย พ่อแม่จะมีส่วนรับผิดชอบตรงนี้อย่างไร Dr. Anat กล่าวว่า ประการแรก ผู้ปกครองต้องเข้าใจก่อนว่า เด็กเรียนรู้การใช้เทคโนโลยีได้อย่างรวดเร็ว ไม่ต้องให้พ่อแม่มาคอยสอน ไม่ว่าเด็กจะมีอายุ 4-5 ขวบหรืออายุ 10 ขวบสามารถเรียนรู้เทคนิควิธีการใช้อุปกรณ์ได้เร็วกว่าพ่อแม่ พ่อแม่ไม่สามารถแข่งกับลูกในเรื่องนี้ได้ แต่พ่อแม่ควรทำหน้าที่คอยแนะนำและส่งเสริมให้เด็กรู้จักการใช้เครื่องไม้เครื่องมืออย่างเหมาะสม "ยกตัวอย่าง หากพ่อแม่ต้องเดินทางไกลสามารถใช้โปรแกรมสไกป์ (Skype) พูดคุยผ่านอินเตอร์เน็ตกับลูกๆ ได้ เป็นการใช้เครื่องมือเพื่อสร้างความสัมพันธ์กับลูก หรือกรณีปู่ย่าอยู่ไกลอีกที่หนึ่ง ให้หลานๆ ทำอีการ์ด (E-Card) หรือบัตรอวยพรอิเลคทรอนิคส์ ออกแบบภาพประกอบเอง ใส่เสียงลงไปส่งถึงปู่ย่าได้เช่นกัน" เมื่อไอซีทีเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตแล้ว แน่นอนว่าความสัมพันธ์ระหว่างคนในครอบครัวต้องมาก่อน ต้องจัดวางให้ไอซีทีเป็นเพียงเครื่องมือหรือตัวช่วยสร้างความสัมพันธ์ ไม่ควรปล่อยให้ลูกอยู่กับไอซีทีตามลำพังโดยไม่มีการแนะนำ การที่ลูกแม้จะอยู่ในบ้าน คิดว่ามีความปลอดภัยแล้ว แต่หาเป็นเช่นนั้นไม่ เพราะเมื่อลูกมีโอกาสเปิดเครื่องและเล่นอินเตอร์เน็ต เท่ากับมีการเปิดประตูใหม่ให้ลูกไปสู่อีกโลกหนึ่งโดยไม่รู้ตัว ซึ่งเป็นเรื่องที่น่าอันตรายมาก "ขณะที่เด็กเล่นเกมส์คอมพิวเตอร์จะเกิดความขัดแย้งขึ้นในตัว อาจจะเห็นเด็กแค่นั่งนิ่งๆ เล่นเกม แต่ในจิตใจของเด็กแล้วกำลังตื่นเต้นตกอยู่ในภวังค์ของสิ่งที่จดจ่ออยู่ตรงหน้า เนื้อหาของเกมส์มีทั้งการต่อสู้ การแก่งแย่งชิงดี ดังนั้น เราควรนำอุปกรณ์เหล่านี้มาใช้ให้เกิดคุณประโยชน์มากกว่า เช่น การทำอีการ์ดอวยพรวันเกิด ส่งถึงครอบครัว ญาติพี่น้อง เด็กสามารถใช้จินตนาการในการออกแบบหน้าตาอีการ์ด เติมข้อความลงไป" สมัยพ่อแม่เป็นเด็กยังได้สัมผัสกับธรรมชาติรอบข้าง ออกไปวิ่งเล่นกับเพื่อน เล่นน้ำในคลอง ปีนต้นไม้อย่างสนุกสนาน แต่ปัจจุบันเด็กไม่สามารถอยู่ในบรรยากาศเช่นนั้นได้ ต้องอยู่กับเทคโนโลยีใหม่ๆ แทน Dr.Anat ให้ข้อคิดว่าในเมื่อเราปฏิเสธไม่ได้ ก็ต้องมีความรับผิดชอบมากขึ้นเพราะสถานการณ์เปลี่ยนไปแล้ว เราจำเป็นต้องเรียนรู้สิ่งใหม่ๆ ไปพร้อมกับเด็ก "เมื่อก่อนเราอาจทะเลาะกับเพื่อนๆ ที่เล่นด้วยกัน แต่สามารถจะเรียนรู้ที่จะอยู่ร่วมกัน รู้จักประนีประนอมกัน ปัจจุบัน พ่อแม่ซื้อของเล่นให้ลูกๆ ที่ข้างกล่องบอกวิธีการใช้การเล่นเสร็จสรรพ ไม่มีส่วนที่จะให้เด็กได้จินตนาการถึงสิ่งของนั้นๆ มีข้อคิด 3 ข้อที่น่าสนใจ คือ 1. ให้เด็กได้เรียนรู้ด้วยกันโดยการเล่นอย่างอิสระไม่ต้องจัดโครงสร้างการเล่นที่ตายตัว 2.ให้เด็กได้สัมผัสกับการเล่นสิ่งของจากธรรมชาติ และ 3.ให้เด็กออกมาสำรวจธรรมชาตินอกบ้าน เช่น มาเจอกับต้นไม้บ้าง ได้เรียนรู้และสัมผัสต้นไม้โดยตรง แม้จะอาศัยอยู่ในเมืองก็สามารถสังเกตต้นไม้สักเพียงต้นหนึ่งได้ แล้วเอาอุปกรณ์ไอซีทีมาเสริมใช้หาข้อมูลต้นไม้นั้นๆ เช่น ต้นไม้ต้นนั้นมีชื่อว่าอะไร มีการเปลี่ยนแปลงไปตามฤดูกาลหรือไม่อย่างไร ถ้าต้นไม้นั้นอยู่ตามธรรมชาติจะมีลักษณะเป็นอย่างไรและเปรียบเทียบกับลักษณะของต้นไม้ที่พบในเมือง หรืออาจให้เด็กสังเกตดาวบนท้องฟ้าในยามค่ำคืน หรือแม้แต่นกที่บินมาเกาะต้นไม้ในบ้านก็สามารถให้เด็กๆ ที่อยู่ในเมืองสังเกตได้" เมื่อเด็กเรียนรู้ธรรมชาติรอบตัว และมีโอกาสใช้อุปกรณ์ไอซีทีในการค้นหาข้อมูลเกี่ยวกับสิ่งนั้น จะเป็นประโยชน์ต่อตัวเด็กมากกว่าที่จะให้ใช้ไอซีทีในการเล่นมากเกินไปจนเป็นโทษ Dr. Anat ยังชี้ให้เห็นถึงกรณีไอซีทีเข้ามาครอบงำจนเราตามไม่ทันว่า จะเกิดอะไรขึ้นถ้ายังปล่อยปละละเลย ตอนเราเป็นเด็ก พ่อแม่รู้จักโลกใบนี้มากกว่าลูก แต่ปัจจุบันนี้ ลูกๆ รู้จักโลกนี้มากกว่าและเร็วด้วย จนทำให้พ่อแม่เกิดความไม่มั่นใจเหมือนเป็นคนล้าหลัง การดูแลลูกเหมือนถูกสั่นคลอน ดังนั้นสิ่งหนึ่งที่สามารถอบรมสั่งสอนลูกได้ก็คือเรื่องของศีลธรรม จริยธรรม และวัฒนธรรม ซึ่งไอซีทีให้ตรงนี้ไม่ได้ "ปัจจุบันโรงเรียนต้องการให้เด็กประสบความสำเร็จในการใช้เครื่องมือไอซีที ถือว่าเป็นการมองแบบมุมแคบ พ่อแม่จึงต้องเข้ามามีส่วนเสริมให้เวลาอยู่กับลูกมากขึ้น อย่างเช่น เวลานั่งบนโต๊ะอาหารร่วมกัน ก็ไม่ควรมีเครื่องมือสมาร์ตโฟนมาอยู่บนโต๊ะเด็ดขาด ต้องพยายามสร้างในส่วนนี้ให้ได้" Dr.Anat ยังเสริมอีกด้วยว่า "มนุษย์มาก่อนเครื่องมือเครื่องจักรกล เราสามารถเรียนรู้การใช้มันได้ แต่ในขณะเดียวกัน มันไม่สามารถรู้วิธีการคิดแบบสมบูรณ์ได้อย่างคน พ่อแม่จึงควรคิดว่า จะสร้างเด็กอย่างไรให้เป็นคนที่มีคุณภาพ มีความสมบูรณ์ในองค์รวม เด็กต้องอยู่ในสังคมบนโลก การที่จะให้ทุกคนประสบความสำเร็จไม่ใช่แค่เรียนหนังสือเก่ง หรือใช้อุปกรณ์ไอซีทีอย่างคล่องแคล่ว หากแต่ในความเป็นจริง ควรทำให้เด็กได้รู้จักการใช้ชีวิตอย่างเหมาะสม และเรียนรู้ประสบการณ์จากสิ่งรอบข้างอย่างแท้จริงมากกว่า"

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ