วธ. เผยยอดผู้เข้าชมพิพิธภัณฑ์ – โบราณสถาน – หอสมุด – หอจดหมายเหตุ เพิ่มขึ้นร้อยละ 7.53 มอบ กรมศิลป์ เร่งพัฒนาแหล่งเรียนรู้ทางวัฒนธรรมเพิ่มยอดผู้เข้าชม

ข่าวทั่วไป Tuesday August 9, 2016 14:14 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--9 ส.ค.--กลุ่มประชาสัมพันธ์ กระทรวงวัฒนธรรม นายวีระ โรจน์พจนรัตน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม เปิดเผยภายหลังการประชุมผู้บริหาร กรมศิลปากร เมื่อเร็วๆนี้ว่า ได้รับรายงานสถิติจำนวนผู้เข้าใช้–เข้าชมแหล่งเรียนรู้ของกรมศิลปากร ภายหลังการดำเนินงานโครงการจัดกิจกรรม ลดเวลาเรียน เพิ่มเวลารู้ นำเยาวชนสู่พิพิธภัณฑ์และอุทยานประวัติศาสตร์ โดยภาพรวมการเข้าชมแหล่งเรียนรู้อุทยานประวัติศาสตร์ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ โบราณสถาน หอสมุดแห่งชาติ และหอจดหมายเหตุ ตั้งแต่เดือนต.ค. 58– มิ.ย.59 มีจำนวน 7,452,486 คน เพิ่มขึ้นจากปี 2558 จำนวน 522,153 คน คิดเป็นร้อยละ 7.53 ซึ่งจำนวนผู้เข้าชมยังคงเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องโดยมอบให้จัดทำแผนบริหารจัดการแหล่งเรียนรู้กระตุ้นการเข้าชมของประชาชน และนักท่องเที่ยวชาวไทยและชาวต่างประเทศอย่างต่อเนื่อง โดยที่ประชุมมอบหมายให้สำนักพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ จัดทำแผนการดำเนินงานและกำหนดระยะเวลาในการปรับปรุงพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติทั่วประเทศ จำนวน 41 แห่ง ทั้งนี้จะต้องปรับปรุงพิพิธภัณฑ์ทั้ง 41 แห่งให้แล้วเสร็จภายใน 5 ปี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม กล่าวต่อว่า นอกจากนี้ หน่วยงานในสังกัดกรมศิลปากรได้รายงานผลการดำเนินงานและปัญหาอุปสรรคในการดำเนินงานของปีงบประมาณ 2559 เบื้องต้นมีประเด็นปัญหาที่จะต้องเร่งแก้ปัญหาในกรณีเร่งด่วน ดังนี้ 1.การบุกรุกพื้นที่โบราณสถาน ที่ประชุมได้มอบหมายให้สำนักศิลปากรที่ 1–15 เร่งสำรวจการบุกรุก โดยจัดทำรายละเอียดจำนวนผู้บุกรุก และจำนวนพื้นที่ที่ถูกบุกรุกทั้งหมด เพื่อหาทางแก้ไขปัญหาต่อไป รวมถึงการสำรวจโบราณสถานทั่วประเทศที่ยังไม่ได้ขึ้นทะเบียนอีกประมาณ 1,000 แห่ง และเร่งจัดทำผังบริเวณโบราณสถานเพื่อขึ้นทะเบียนเป็นโบราณสถานต่อไป เพื่อป้องกันการบุกรุกพื้นที่เพิ่มเติม 2.ตรวจพบโบราณวัตถุไทยที่จัดแสดงในต่างประเทศ ที่ประชุมได้มอบหมายให้อธิบดีกรมศิลปากร ประสานงานกับกระทรวงต่างประเทศ เพื่อขอความร่วมมือจากสถานทูตไทยในต่างประเทศเพื่อสำรวจโบราณวัตถุของไทยที่จัดแสดงในพิพิธภัณฑ์ในต่างประเทศ โดยระบุสถานที่ที่จัดแสดง พร้อมทั้งสืบค้นเส้นทางการออกนอกประเทศของโบราณวัตถุดังกล่าว เพื่อรวบรวมข้อมูลและหาแนวทางนำกลับมายังประเทศไทยต่อไป 3.จัดสรรงบประมาณเพื่อจัดซื้อหนังสือของสำนักหอสมุดแห่งชาติที่ได้รับงบประมาณปีละ 2 ล้านบาท ซึ่งไม่เพียงพอต่อความต้องการจะต้องเร่งหารือกับสำนักงบประมาณ เพื่อหาแนวทางการของบประมาณเพิ่มเติม คาดว่าจะต้องใช้งบประมาณ 10 ล้านบาท เพื่อให้เพียงพอต่อความต้องการของหอสมุดทั่วประเทศ และ4.การสแกนภาพจากฟิล์มกระจกบนสื่ออิเล็กทรอนิกส์ของหอจดหมายเหตุแห่งชาติ ซึ่งดำเนินการแล้วเสร็จประมาณ 30,000 กว่ารายการ คงเหลือที่ยังไม่ได้สแกนอีก 9,000 กว่ารายการ ซึ่งจะต้องเร่งดำเนินการให้แล้วเสร็จ นอกจากนี้ จะต้องเร่งการอ่านภาพเก่าเป็นกรณีเร่งด่วน เนื่องจากปัญหาการขาดแคลนบุคลากรที่มีความสามารถในการอ่านภาพโบราณลดลงเรื่อยๆ จึงจะต้องมีการเร่งดำเนินการให้แล้วเสร็จเพื่อเผยแพร่ให้ประชาชนสืบค้น และนำไปใช้ประโยชน์ต่อไป

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ