สถาบันเพื่อการยุติธรรมแห่งประเทศไทย (TIJ) โดย TIJ POLL ร่วมกับ ชมรมขับเคลื่อนวิชาการเพื่อวิจัยความสุขชุมชน สำนักวิจัย SUPER POLL เสนอผลวิจัยเชิงสำรวจ เรื่อง สงครามยาเสพติด ในความคิดเห็นของสาธารณชน

ข่าวทั่วไป Wednesday August 17, 2016 14:11 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--17 ส.ค.--สำนักวิจัย ซูเปอร์โพล สถาบันเพื่อการยุติธรรมแห่งประเทศไทย หรือ TIJ โดย TIJ Poll จับมือ สำนักวิจัย ซูเปอร์โพล (Super Poll) หยั่งเสียงประชาชนต่อการแก้ปัญหายาเสพติดพบว่าการทำสงครามยาเสพติดไม่ใช่ทางแก้ยั่งยืน แต่ปัญหากลับรุนแรงขึ้นยากจะควบคุม แนะแยกกลุ่มผู้ค้ารายใหญ่ ผู้ผลิต จากผู้เสพและผู้ค้ารายย่อย ค้านจับกุมคุมขังผู้เสพที่ไม่มีความผิดอาญาอื่นใด แต่ควรใช้การบำบัดฟื้นฟูที่ได้ผลสำเร็จ ปิดกั้นช่องทางหากินของเจ้าหน้าที่รัฐกับผู้เสพ และเยียวยาผู้เสพให้กลับเป็นคนดีคืนสู่สังคมอย่างยั่งยืน พร้อมเปิดเวทีระดมความเห็นปรับปรุงยุทธศาสตร์และนโยบายยาเสพติด 18 สิงหาคมนี้ ดร.กิตติพงษ์ กิตยารักษ์ ผู้อำนวยการ สถาบันเพื่อการยุติธรรมแห่งประเทศไทย หรือ TIJ กล่าวว่า สถาบัน TIJ มีวัตถุประสงค์ส่งเสริมความเป็นเลิศด้านวิจัยและพัฒนากระบวนการยุติธรรม ได้ตระหนักถึงภารกิจสำคัญในการแก้ปัญหายาเสพติดให้ได้ผลสำเร็จอย่างยั่งยืน แต่จำเป็นต้องมีข้อมูลที่ถูกต้องต่อการทำข้อเสนอเชิงยุทธศาสตร์และนโยบายแก้ปัญหายาเสพติด จึงได้ตั้งคณะทำงานสำรวจความคิดเห็นของประชาชนภายใต้ชื่อ TIJ POLL ขึ้นร่วมกับ สำนักวิจัย ซูเปอร์โพล จัดทำโพลสำรวจทั้งคนกรุงเทพมหานครและต่างจังหวัดทั่วทุกภูมิภาคของประเทศ ในขณะที่ ดร.นพดล กรรณิกา ผู้อำนวยการสำนักวิจัย ซูเปอร์โพล กล่าวว่า จากการสำรวจในหัวข้อ สงครามยาเสพติดในความคิดเห็นของสาธารณชนครั้งนี้กับคนกรุงเทพมหานครจำนวน 1,121 ตัวอย่างระหว่างวันที่ 11 – 14 สิงหาคมที่ผ่านมา พบว่า ประชาชนส่วนใหญ่หรือร้อยละ 88.9 ระบุปัญหายาเสพติดกำลังรุนแรงค่อนข้างมาก ถึง มากที่สุด ในขณะที่เพียงร้อยละ 11.1 ระบุรุนแรงค่อนข้างน้อย ถึง ไม่รุนแรงเลย และส่วนใหญ่หรือร้อยละ 64.8 ระบุว่า สภาพปัญหายาเสพติดโดยรวมขณะนี้ควบคุมไม่ได้ ในขณะที่ร้อยละ 35.2 ระบุว่า ควบคุมได้ ส่วนใหญ่หรือร้อยละ 74.5 ระบุว่า การทำสงครามยาเสพติดเป็นการแก้ปัญหาได้เพียงช่วงสั้นๆ และกลับมารุนแรงกว่าเดิม ร้อยละ 55.3 และร้อยละ 19.2 ระบุการทำสงครามยาเสพติดไม่ใช่วิธีแก้ปัญหาที่ยั่งยืนเลย มีเพียงร้อยละ 25.5 เท่านั้นที่ระบุการทำสงครามยาเสพติดเป็นการแก้ปัญหาได้ยั่งยืนไม่มีปัญหาอีกเลย อย่างไรก็ตาม ส่วนใหญ่หรือร้อยละ 66.2 แนะให้ทำสงครามยาเสพติดกับผู้ค้ารายใหญ่ และ ร้อยละ 65.4 ให้ทำสงครามยาเสพติดกับผู้ผลิต แต่เพียงร้อยละ 26.6 และ ร้อยละ 21.1 เท่านั้นที่ระบุให้ทำสงครามยาเสพติดกับ ผู้ค้ารายย่อยและผู้เสพ ที่น่าพิจารณาคือ ส่วนใหญ่หรือร้อยละ 68.4 เคยได้ข่าวผู้บริสุทธิ์เสียชีวิตเพราะการทำสงครามยาเสพติด และ เกินครึ่งหรือร้อยละ 53.9 ระบุการจับผู้เสพยาเสพติดและผู้ครอบครองจำนวนน้อยเข้าคุกไม่ได้เป็นการแก้ปัญหาที่ดี ในขณะที่ร้อยละ 44.4 ระบุเป็นการแก้ปัญหาที่ได้ผลสำเร็จดี นอกจากนี้ ส่วนใหญ่หรือร้อยละ 66.8 ระบุวิธีแก้ปัญหาที่ดีที่สุดสำหรับผู้เสพยาเสพติดที่ไม่ได้ทำความผิดอื่นใดอีกคือ การบำบัดด้วยวิธีตามอาการของผู้เสพ แต่ร้อยละ 31.0 ระบุ การจับกุม คุมขังเป็นวิธีแก้ปัญหาที่ดีที่สุด โดยประชาชนส่วนใหญ่หรือร้อยละ 57.1 ระบุการจับกุม คุมขังผู้เสพแต่เมื่อออกมาพฤติกรรมของผู้เสพยังคงเหมือนเดิม (ไม่ดีขึ้น) และร้อยละ 7.3 ระบุว่าแย่ลง แต่ร้อยละ 35.6 ระบุดีขึ้น ที่น่าพิจารณา คือ สาเหตุหรือปัจจัยที่ทำให้ผู้เสพยาไม่สมัครใจเข้ารับการบำบัดด้วยตนเอง พบว่า ส่วนใหญ่หรือร้อยละ 59.1 ระบุ ผู้เสพกลัวถูกดำเนินคดีอาญาหรือ ขึ้นทะเบียนประวัติอาชญากร รองลงมาคือ ร้อยละ 38.5 ผู้เสพกลัวเป็นที่อับอายเสื่อมเสียแก่ตนเองหรือครอบครัว ร้อยละ 35.5 ระบุผู้เสพกลัวตกเป็นเครื่องมือหากินของเจ้าหน้าที่ตำรวจ และร้อยละ 33.8 ระบุผู้เสพคิดว่าหากจะเลิก ก็สามารถเลิกเองได้ไม่ต้องพึ่งสถานบำบัด และรองๆ ลงไประบุว่า ผู้เสพคิดว่า กระบวนการบำบัดไม่มีประสิทธิภาพเพียงพอ ผู้เสพกลัวจะถูกเข้าไปเป็นพวกขบวนการค้า และผู้เสพไม่คิดว่า การเสพยาเป็นปัญหา ตามลำดับ ดร.กิตติพงษ์ ผอ. สถาบัน TIJ กล่าวต่อว่า ผลสำรวจค่อนข้างตรงกับข้อมูลที่ TIJ ประเมินว่า นโยบายการทำสงครามยาเสพติดของรัฐบาลแต่ละยุคที่ผ่านมามุ่งเน้นการปราบปรามทั้งผู้เสพ ผู้ค้ารายย่อย ผู้ค้ารายใหญ่และผู้ผลิต จึงเป็นการแก้ปัญหาที่ไม่ยั่งยืน ดังนั้น ต้องแยกกลุ่มผู้เกี่ยวข้องกับยาเสพติดและนำการบำบัดฟื้นฟูที่เกิดผลกระทบทางลบน้อยที่สุดต่อผู้ติดยามาใช้ทำให้กลับเป็นคนดีคืนสู่สังคมได้อย่างแท้จริง จึงถึงเวลาแล้วที่ทุกฝ่ายควรมาพบปะช่วยกันพัฒนาข้อเสนอเชิงยุทธศาสตร์และนโยบายยาเสพติดต่อรัฐบาล โดยทางสถาบัน TIJ จะเปิดเวทีระดมความเห็นเสนอนโยบายยาเสพติดที่เหมาะสมกับสังคมไทย (Thailand's Drug Policy Revisited) ในวันพฤหัสบดีที่ 18 สิงหาคมนี้ เวลา 9.00 – 12.00 น. ณ ห้อง บอลรูม 2 – 3 ชั้น 4 โรงแรมคอนราด กรุงเทพฯ "ในการจัดเวทีครั้งนี้ได้รับเกียรติอย่างยิ่งจาก รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม และ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ทาง TIJ คาดหวังว่าผลการจัดเวทีในครั้งนี้จะเป็นประโยชน์กับรัฐบาลในการปรับปรุงยุทธศาสตร์การแก้ไขปัญหายาเสพติดและการยกร่างประมวลกฎหมายยาเสพติดของไทยต่อไป" ดร.กิตติพงษ์ กล่าว

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ