พิธีมอบทุนการศึกษาแก่บุตรธิดาของผู้พิทักษ์ป่า ในโครงการ SCG Sharing the Dream

ข่าวทั่วไป Tuesday August 23, 2016 16:25 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--23 ส.ค.--เอสซีจี อาชีพเจ้าหน้าที่พิทักษ์ป่าไม่เคยเป็นเรื่องง่าย ไม่ว่าจะในป่าไพศาลผืนไหน โดยเฉพาะชุดลาดตระเวนที่ต้องเสี่ยงภัยอันตราย ตรงข้ามกับผลตอบแทนอันไม่มากมายนักหากเทียบกับทั้งชีวิตที่เขาพร้อมอุทิศ และทุกครั้งที่ต้องแบกกระบอกปืนเข้าสู่ดงพงไพร นั่นหมายถึงการทิ้งครอบครัวให้รออยู่ข้างหลัง แต่ยามที่พวกเขาออกไปพิทักษ์ผืนป่าแทนคนไทยทั้งชาติ ใครกันเล่าจะดูแลครอบครัวของเขาแทนได้? ด้วยตระหนักถึงความสำคัญอันยิ่งยวดของหน้าที่นี้ และหมายช่วยแบ่งเบาภาระค่าใช้จ่ายของเจ้าหน้าที่พิทักษ์ป่าผู้เสียสละ มูลนิธิเอสซีจี ภายใต้โครงการ SCG Sharing the Dream จึงมีการมอบทุนสนับสนุนการศึกษาให้แก่บุตรธิดาของเหล่าผู้พิทักษ์ป่า โดยจัดขึ้นเป็นปีที่ 2 ครอบคลุม 5 พื้นที่ปฏิบัติงาน คือ เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้ง จ.อุทัยธานี อุทยานแห่งชาติทับลาน จ.ปราจีนบุรี เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าทุ่งใหญ่นเรศวร (ด้านตะวันตก) จ.กาญจนบุรี อุทยานแห่งชาติน้ำตกโยง จ.นครศรีธรรมราช และอุทยานแห่งชาติถ้ำผาไท จ.ลำปาง รวมถึงนักเรียนทุนจากมูลนิธิสืบ นาคะเสถียร ที่พ่อของพวกเขาเสียชีวิตระหว่างออกปฏิบัติหน้าที่ในป่า แม้ไม่มีพ่อเป็นเรี่ยวแรงหลักแล้ว ทุนการศึกษานี้อาจเป็นหนึ่งแรงหนุนให้พวกเขาได้เล่าเรียนต่อไป มูลนิธิเอสซีจีได้เชิญพ่อและลูกมาร่วมพิธีรับมอบทุนฯ อย่างพร้อมหน้า ณ เอสซีจี สำนักงานใหญ่ บางซื่อ ภายในห้องพิธี ผู้เป็นพ่อภาคภูมิอยู่ในชุดลายพรางอันทรงเกียรติ จนเมื่อสมควรแก่เวลา พี่จ้อน-ขจรเดช แสงสุพรรณ กรรมการบริหารมูลนิธิเอสซีจี ได้ขึ้นกล่าวเปิดงานว่า ทางมูลนิธิฯ หวังให้ทุนการศึกษาที่มอบแก่ลูกๆ ของเจ้าหน้าที่พิทักษ์ป่า จะช่วยให้ผู้ปฏิบัติหน้าที่ทุกท่านสามารถทำงานได้อย่างเต็มที่ คลายความกังวลเรื่องภาระค่าใช้จ่ายในการส่งเสียลูกเรียนหนังสือ และนี่คือสิ่งที่มูลนิธิฯ สามารถทำได้อย่างทันที เพื่อเป็นการตอบแทนที่เจ้าหน้าที่พิทักษ์ป่าทุกท่านที่เสียสละตนเอง เสียสละความสุขสบายส่วนตนเข้าปกป้องผืนป่าและสัตว์ป่าของไทยให้ยังดำรงอยู่ ซึ่งทุนจากมูลนิธิเอสซีจีเป็นทุนที่ให้อย่างต่อเนื่องจนถึงระดับปริญญาตรี และเป็นทุนที่ไร้ภาระผูกพัน เพียงขอให้นักเรียนทุนตั้งใจใฝ่เรียนให้ตลอดรอดฝั่ง เพื่อเป็นอนาคตที่ดีของชาติ ให้สมกับที่พ่อของพวกเขาปฏิบัติหน้าที่พิทักษ์ผืนป่ามาอย่างเต็มกำลัง ให้สมกับที่ได้เกิดมาเป็นลูกของผู้กล้า จากนั้นตัวแทนของเจ้าหน้าที่พิทักษ์ป่าได้ร่วมพูดคุย เพื่อบอกเล่าประสบการณ์การทำงานในป่าใหญ่ ถ่ายทอดภาระหน้าที่ที่ต้องเสี่ยงภัย และแสดงทรรศนะถึงหน้าที่อันสำคัญยิ่งต่อประเทศนี้ อำนาจ ฝั่นเฝือ หรือพี่เบิ้ม คือหนึ่งในผู้พิทักษ์ป่าในวงสนทนา ในฐานะเจ้าหน้าที่ลาดตระเวนในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าทุ่งใหญ่นเรศวร (ด้านตะวันตก) จ.กาญจนบุรี พี่เบิ้มเป็นคนในพื้นที่ เกิดและโตพร้อมความผูกพันในถิ่นอาศัยของตน นั่นทำให้เขารักและหวงแหนผืนป่าทุ่งใหญ่นเรศวรอย่างสุดใจ โดยเริ่มอาชีพด้วยตำแหน่งลูกจ้างชั่วคราวรายวัน กระทั่งเลื่อนเป็นพนักงานราชการ และปฏิบัติหน้าที่ในพื้นที่ทุ่งใหญ่นเรศวรมาจวบจนปัจจุบัน รวมเวลาถึง 20 ปี ป่าใหญ่เป็นทั้งที่ทำงาน ที่หลับ ที่นอน และที่กินของเขา แต่เส้นทางที่เหยียบย่ำจนคุ้นเท้าไม่ได้การันตีว่าทุกก้าวจะปลอดภัย วันหนึ่งขณะกำลังออกลาดตระเวน พี่เบิ้มถูกกระทิงจู่โจมเข้าทางด้านหลังอย่างไม่ทันรู้เนื้อรู้ตัว ทำให้กระดูกซี่โครงขวาของเขาเกิดรอยร้าว และเส้นเอ็นแขนขวาขาดถึงสองเส้น โชคยังดีที่พรรคพวกนำตัวเขาส่งโรงพยาบาลได้ทันการณ์ "ตอนนั้น ผมคิดแค่ว่าขอให้ครอบครัวมารอรับผมที่โรงพยาบาลก็พอแล้ว" ด.ญ. เสาวลักษณ์ ฝั่นเฝือ หรือน้องนุ่น เป็นลูกสาวของพี่เบิ้ม นุ่นเรียนอยู่ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3 โรงเรียนบ้านทุ่งเสือโทน จ.กาญจนบุรี และได้รับทุนฯ จากมูลนิธิเอสซีจีในครั้งนี้ นุ่นเล่าว่าวันที่เธอรู้ข่าวว่าพ่อของตนโดนกระทิงขวิด เข่าของเธอแทบทรุด "หนูเคยคิดว่าไม่อยากให้พ่อทำงานนี้แล้ว เพราะถ้าพ่อเป็นอะไรไป คงไม่มีเสาหลักของบ้าน" ใช่ว่าคนเป็นพ่อจะไม่เคยคิดว่าถ้าไม่มีตนสักคน ครอบครัวจะอยู่กันอย่างไร แต่การเป็นเจ้าหน้าที่พิทักษ์ป่ามาถึงสองทศวรรษของพี่เบิ้มคงเป็นคำตอบที่ชัดเจนแล้วว่าเขาภักดีในอาชีพนี้ และมีความรักต่อผืนป่าเพียงไหน สิ่งที่เขาทำมีความหมายมากกว่าความหวาดกลัวในอนาคต แม้จะได้เงินเดือนเพียงต้นหลักหมื่น เขาบอกว่าทุนการศึกษาที่ลูกสาวได้รับ ช่วยให้เขาวางใจในอนาคตของลูกไปได้บ้าง และเงินเดือนจากการทำงานก็จะสามารถแบ่งเก็บออมเพื่อใช้ในด้านอื่นๆ ของชีวิต อย่างน้อยก็สำหรับบ้านที่ยังซ่อมไม่เสร็จดีเสียที ฝั่งลูกๆ ได้นั่งฟังพ่อบอกเล่าถึงหน้าที่การทำงาน ลูกบางคนอาจไม่เคยได้รับรู้ถึงความยากลำบากที่พ่อต้องเผชิญมาก่อนด้วยซ้ำ เช่นน้องเฟมส์ หรือ ด.ช. ณัฐวุฒิ อินทร์จันทร์ ที่เคยมองอาชีพผู้พิทักษ์ป่าผ่านสายตาของความเป็นเด็ก จึงหลงคิดว่าที่พ่อหายเข้าป่าไปหลายวันติด หมายถึงการแต่งตัวเท่แล้วออกไปท่องเที่ยวป่า แต่เมื่อเฟมส์เติบโตขึ้น กระทั่งถึงวัยขึ้นชั้นมัธยมศึกษาปี 2 โรงเรียนปากพนัง เขาจึงค่อยๆ รับรู้ความจริงอันต่างไปจากที่หนุ่มน้อยในวันวานเคยคิดมากนัก เสรี อินทร์จันทร์ หรือพี่เส เจ้าหน้าที่พิทักษ์ป่า หน่วยลาดตระเวนของอุทยานแห่งชาติน้ำตกโยง จ.นครศรีธรรมราช คือพ่อของน้องเฟมส์ พี่เสเล่าว่าเมื่อรู้ว่าลูกชายเข้าใจผิดไปในภารกิจของพ่อ เขาจึงหมั่นอธิบายว่าหน้าที่ปกป้องผืนป่ามีความสำคัญกว่าที่ลูกคิด "ผมบอกลูกถึงความสำคัญของป่าไม้ อธิบายว่าพ่อเข้าป่าไปทำอะไรบ้าง แม้งานที่ผมทำอยู่จะเป็นงานที่เสี่ยง แต่นี่คืออาชีพที่ผมภาคภูมิใจ ก่อนผมจะมาทำงานตรงนี้ ผมไม่เคยรู้หรอกว่าความหมายของคำว่า ป่า จริงๆ คืออะไร การลักลอบตัดไม้สร้างปัญหาอย่างไร พอผมได้มาเห็นด้วยตาของตัวเอง จึงรู้ว่าต้นเหตุมาจากการที่ป่าถูกทำลายทั้งนั้น" พี่เสไม่ได้อยู่บ้านหลังเดียวกับลูกๆ เขาและภรรยาอาศัยอยู่ในบ้านพักของหน่วยฯ ส่วนลูกชายและลูกสาวอยู่กับญาติที่ปากพนัง แม้พ่อและแม่จะไปหาลูกทุกอาทิตย์ แต่ช่วงเวลาที่ได้อยู่พร้อมหน้าเต็มวันยังนับว่าน้อยนัก การมาร่วมพิธีรับมอบทุนฯ ของมูลนิธิเอสซีจีในคราวนี้ พี่เสและน้องเฟมส์จึงได้ใช้เวลาร่วมกันถึงสองวันเต็มๆ "ผมคิดอยู่ตลอดถึงอันตรายที่อาจเกิดขึ้นในป่าได้ทุกเมื่อ ไม่กับคนด้วยกัน ก็กับสัตว์ป่า เราก็ต้องอยู่ในความไม่ประมาท ครอบครัวของผมไม่เคยบอกว่าให้ผมเลิกทำงานนี้ กลับเป็นกำลังใจให้ผมมาเสมอ" ตำแหน่งของพี่เส คือ พนักงานจ้างเหมาบริการ ได้รับเงินเดือนยังไม่เต็มหนึ่งหมื่นบาท เมื่อเฟมส์ทราบว่าตนได้รับทุนการศึกษาจากมูลนิธิเอสซีจี อันเป็นผลมาจากความทุ่มเทในหน้าที่ของผู้เป็นพ่อ เฟมส์บอกว่าเขาดีใจที่ได้รับทุนฯ นี้ และคงจะแบ่งเบาภาระของพ่อได้บ้าง ก่อนเวลาจะเดินทางมาถึงลำดับการฟังธรรม โดยพระอาจารย์นิวัฒน์ มหาโชติวฑุฒโน ในหัวข้อ ธรรมะกับวัยรุ่น ตอน ความกตัญญู และก่อนพ่อลูกจะรับประทานอาหารกลางวันร่วมกัน รวมถึงก่อนจะจบวันด้วยกิจกรรมพาพ่อและลูกเที่ยวเพื่อให้เขาทั้งสองได้ใช้จ่ายโมงยามที่ได้ผ่อนคลายจากงานในป่าและการเรียน ในท้ายพิธี มือของเด็กๆ ประคองมาลัยพวงน้อย นี่คือโอกาสอันดีที่ลูกๆ จะได้แสดงความรักต่อพ่อ ได้กระซิบบอกว่าเขาภูมิใจในตัวพ่อมากแค่ไหน ส่วนพ่อได้กอดลูกอย่างเต็มกอดสะท้อนถึงความห่วงใย น้ำตาแห่งความปิติรื้นอยู่ในดวงตาทุกคู่ สายใยความอบอุ่นถักทอและปกคลุมไปทั่วห้อง เสียงขอบคุณจากใจลูกส่งตรงถึงใจพ่อ เด็กๆ รู้ว่าโอกาสครั้งนี้ที่พวกเขาได้รับมีขึ้นได้เพราะใคร ไม่ใช่เพียงลูกจะขอบคุณพ่อเท่านั้น แต่ผู้พิทักษ์ป่าทุกนายควรค่าแก่การได้รับคำขอบคุณจากคนไทยทั้งประเทศ และนี่คือสิ่งที่มูลนิธิเอสซีจีระลึกรู้เสมอ ทุนการศึกษาที่เด็กๆ ได้ไปจึงเสมือนเป็นการตอบแทน และเป็นขวัญกำลังใจให้ผู้เป็นพ่อได้วางใจว่าหนทางการศึกษาของลูกจะยังทอดต่อ ไม่ว่าในป่าใหญ่นั้นจะเกิดสิ่งใดขึ้นกับพ่อก็ตาม

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ