สื่อชีวะ 3 มิติ เพื่อเด็กพิการทางสายตา

ข่าวทั่วไป Wednesday August 24, 2016 09:58 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--24 ส.ค.--มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี นักศึกษามีเดียอาตส์ มจธ. ประยุกต์องค์ความรู้ทางการแพทย์และวิทยาศาสตร์ ผลิตสื่อการเรียนรู้วิชาชีววิทยาแบบ 3 มิติ พร้อมระบบเสียง ลบข้อจำกัดการเรียนรู้วิชาวิทยาศาสตร์ให้แก่เด็กพิการทางสายตา นับเป็นอีกหนึ่งปีที่โครงการร่วมบริหารหลักสูตรมีเดียอาตส์และเทคโนโลยีมีเดีย มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี (มจธ.) ได้จัดนิทรรศการเพื่อแสดงผลงานนักศึกษาชั้นปีที่ 4 ของสาขาวิชามีเดียอาตส์ และสาขาวิชามีเดียทางการแพทย์และวิทยาศาสตร์ขึ้นเมื่อปลายเดือนกรกฏาคมที่ผ่านมา โดยจัดขึ้น ณ ศูนย์การค้าสยามเซ็นเตอร์ ซึ่งการจัดนิทรรศการดังกล่าวเพื่อเป็นเวทีเปิดโอกาสให้นักศึกษาได้แสดงออกถึงความรู้และทักษะผ่านผลงานให้เป็นที่รู้จักแก่คนไทยและชาวต่างชาติ ซึ่งจะส่งผลให้เกิดการพัฒนาในศาสตร์มีเดียระดับประเทศต่อไป ทั้งนี้มีผลงานที่น่าสนใจหลายชิ้นจาก 4 กลุ่มวิชาเอก คือ Graphic Design, Animation & Visual Effect, Movie Design และ Medical & Science Media อาทิ ผลงาน "การออกแบบสื่อเพื่อการนำเสนอเนื้อหาเรื่องเซลล์สัตว์สำหรับนักเรียนตาบอดระดับมัธยมศึกษา" ของ นางสาวกมลชนก อุปลพันธุ์ นายยุรนันท์ คาน และนายศุภกร จูฑะสุวรรณ นักศึกษาสาขาวิชามีเดียทางการแพทย์และวิทยาศาสตร์ มจธ. โดย ยุรนันท์ กล่าวว่า อยากทำหุ่นจำลองที่นำไปใช้ประโยชน์ได้จริงๆ ผนวกเข้ากับองค์ความรู้ที่เรียนมา และจากการค้นคว้าข้อมูลพบว่านักเรียนตาบอดเป็นกลุ่มคนสำคัญที่ใช้ประโยชน์จากหุ่นจำลองเพื่อการเรียนรู้ได้มากที่สุดแต่กลับขาดแคลนสื่อดังกล่าว "การเรียนวิทยาศาสตร์นั้นค่อนข้างยาก โดยเฉพาะชีววิทยานั้นเป็นรายวิชาที่มีรายละเอียดและองค์ประกอบต่างๆ จำนวนมากต้องอาศัยการท่องจำและทำความเข้าใจจากภาพหรือของจริงเป็นสัดส่วนครึ่งต่อครึ่ง แต่ถ้าคุณตาบอดการเรียนวิทย์จะยากขึ้นอีกหลายเท่าเป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้ประเทศไทยมีนักเรียนตาบอดที่เลือกศึกษาต่อด้านวิทยาศาสตร์ในระดับอุดมศึกษาน้อยมากหรือแทบไม่มีเลย ปัจจุบันวิธีที่ดีที่สุดในการเรียนวิทย์สำหรับนักเรียนตาบอดนั้นคือการท่องจำ 90 เปอร์เซ็นต์ และอีก 10 เปอร์เซ็นต์ต้องใช้การสัมผัสสื่อเข้าช่วยเพื่อสร้างจินตนาการ แต่ปัจจุบันสื่อที่ดีที่สุดสำหรับนักเรียนตาบอดเป็นเพียงภาพนูนสองมิติเท่านั้นซึ่งสำหรับคนที่มองไม่เห็นคงเป็นเรื่องยากที่จะจินตนาการ ดังนั้นเราจึงพัฒนาสื่อการเรียนรู้เรื่องเซลล์สัตว์ขึ้นมาในรูปแบบสามมิติ เพื่อช่วยให้การเรียนวิทย์ฯ ของนักเรียนตาบอดเป็นเรื่องง่ายมากขึ้น" ยุรนันท์ อธิบายต่อว่า เลือกทำหุ่นจำลองของเซลล์สัตว์ เพราะว่ามีเนื้อหาที่ยากและลึกกว่าเซลล์พืช เป็นเนื้อหากลางๆ ที่อยู่ในรายวิชาพื้นฐานระดับมัธยมศึกษา โดยออกแบบให้เป็นฐานการเรียนรู้เรื่องเซลล์สัตว์ ประกอบด้วยหุ่นจำลองทั้งหมด 11 ชิ้น เริ่มตั้งแต่หุ่นจำลองลักษณะภายนอกของเซลล์สัตว์ และหุ่นจำลองที่อธิบายโครงสร้างภายในของเซลล์ หุ่นจำลององค์ประกอบต่างๆ ภายในเซลล์ อาทิ ไรโบโซม ไมโทคอนเดรีย และนิวเคลียส เป็นต้น ซึ่งเมื่อนักเรียนตาบอดได้สัมผัสหุ่นจำลองสามมิติแล้วจะช่วยให้สามารถจินตนาการภาพของลักษณะขององค์ประกอบต่างๆ ของเซลล์ได้ชัดเจนและเกิดความเข้าใจมากขึ้นในที่สุด "นอกจากสร้างหุ่นจำลองสามมิติแล้วเราได้ออกแบบฐานการเรียนรู้ไว้ด้วย ให้นักเรียนได้เรียนรู้ทีละองค์ประกอบโดยมีการจัดเรียงลำดับเนื้อหาขึ้นใหม่จากหนังสือเรียนเพื่อให้ง่ายต่อการเรียนรู้และทำความเข้าใจของนักเรียนที่ตาบอด และยังเพิ่มฟังก์ชันเสียงอธิบายลักษณะและข้อมูลเฉพาะของหุ่นจำลองทั้ง 11 ชิ้นควบคู่กันไปด้วย เพื่อให้นักเรียนตาบอดได้เกิดการใช้ประสาทสัมผัสทั้งการฟังและการสัมผัสควบคู่กันไปในการเรียนรู้ ทั้งหมดในหนึ่งชุดการเรียนรู้ 11 ฐาน ใช้เวลา 25 นาที โดยเราได้ทำคู่มือการใช้งานไว้ด้วย เพื่อความสะดวกแก่การติดตั้งและการนำไปใช้งานในภายหลัง ทั้งยังทำให้เกิดความถูกต้องของการนำเสนอเนื้อหาหากนำไปใช้ซ้ำในสถานที่อื่น" กมลชนก กล่าวทิ้งท้ายว่า ได้นำสื่อการเรียนรู้สามมิติเรื่องเซลล์สัตว์ชุดนี้ไปทดสอบกับนักเรียนตาบอดจากโรงเรียนสันติราษฎร์วิทยาลัยทั้งสิ้น 11 คน พบว่าสื่อดังกล่าวสามารถสร้างแรงดึงดูดในการพยายามเรียนรู้และทำความเข้าใจในบทเรียนวิทยาศาสตร์จากนักเรียนตาบอดได้ดีมากขึ้น และคิดว่าหากประเทศไทยมีคนที่มีความถนัดในด้านการผลิตสื่อมาช่วยกันพัฒนาสื่อที่ช่วยสนับสนุนการเรียนรู้ด้านวิทยาศาสตร์ที่เหมาะสมกับคนพิการทางสายตาให้เป็นเรื่องที่ง่ายขึ้น ก็น่าจะทำให้นักเรียนตาบอดเปิดใจที่จะเลือกเรียนวิทยาศาสตร์มากขึ้น ทั้งยังเป็นอีกวิธีหนึ่งในการช่วยส่งเสริมศักยภาพให้กับผู้พิการในสังคมได้อีกทางหนึ่งด้วย.

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ