โรคกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือดเฉียบพลัน รักษาไม่ทันอาจถึงตาย

ข่าวทั่วไป Thursday August 25, 2016 16:32 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--25 ส.ค.--โรงพยาบาลเวชธานี หลายครั้งที่มีคนบ่นว่าเจ็บหน้าอก เราอาจจะนึกไปถึงโรคหัวใจ แต่น้อยคนที่นึกต่อได้ว่า ที่จริงแล้วสาเหตุของอาการเจ็บหน้าอกอาจจะเกิดขึ้นได้จากหลายสาเหตุ แต่ความเป็นไปได้ที่ร้ายแรงที่สุดนั่นก็คือ ภาวะกล้ามเนื้อหัวใจตายเฉียบพลัน หรือที่เรียกว่า หัวใจวาย นั่นเอง สาเหตุของโรคดังกล่าว เกิดจากการตีบตันของหลอดเลือด ส่วนมากเป็นผลมาจากความเสื่อมตามอายุที่มากขึ้น โดยเฉพาะผู้ชายอายุมากกว่า 45 ปี และผู้หญิงอายุมากกว่า 55 ปี หรือปัจจัยอื่นๆ ที่ทำให้หลอดเลือดเสื่อมเร็วกว่าปกติ เช่น โรคความดันโลหิตสูง โรคเบาหวาน โรคไขมันในเลือดสูง ภาวะน้ำหนักเกินหรือโรคอ้วน การสูบบุหรี่ ความเครียด ขาดการออกกำลังกายและโรคทางพันธุกรรมบางอย่าง ทำให้ปัจจุบันพบผู้ป่วย โรคกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือดเฉียบพลันที่มีอายุน้อยลงเรื่อย ๆ วิธีสังเกตอาการผิดปกติ ก่อนจะเกิดอันตรายถึงขั้นเสียชีวิต 1. อาการเจ็บหน้าอกหรือแน่นหน้าอก ถือว่าเป็นอาการนำที่พบบ่อยที่สุด แต่ไม่ทุกคนที่จะมีอาการนี้ ส่วนมากลักษณะ แน่นตรงกลางหน้าอกเหมือนมีอะไรมาทับ อาจมีปวดร้าวไปที่คอ ขากรรไกร ไหล่หรือแขนด้านซ้าย อาการเจ็บหน้าอกเป็นมากและรุนแรง มักเป็นนานติดต่อกันมากกว่า 20 -30 นาที นั่งพักไม่ดีขึ้น 2. มีอาการเหงื่อออก ใจสั่น หน้ามืด ปวดท้อง คลื่นไส้อาเจียนรุนแรง ในบางรายมีอาการหายใจหอบเหนื่อย จนถึงหมดสติ ไม่รู้สึกตัว โดยผู้ป่วยอาจไม่เคยมีอาการเจ็บหน้าอกนำมาก่อนก็ได้ ทั้งหมดนี้ถือว่า เป็นสัญญาณวิกฤตของโรคกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือดเฉียบพลัน ที่ผู้ป่วยควรต้องรีบไปพบแพทย์ หรือเรียกรถฉุกเฉินของโรงพยาบาลทันที วิธีการรักษา 3 วิธี คือ 1. การรักษาโดยใช้ยาละลายลิ่มเลือด แพทย์จะฉีดยาที่มีฤทธิ์ในการละลายเลือดที่แข็งตัว เพื่อสลายลิ่มเลือดที่อุดตันอยู่ที่เส้นเลือดแดงหัวใจ 2. การรักษาโดยการขยายหลอดเลือดด้วยบอลลูน เป็นวิธีที่นิยมที่สุด ได้ผลการรักษาดีกว่าการใช้ยาละลายลิ่มเลือด ผู้ป่วยไม่ต้องมีแผลผ่าตัด พักฟื้นไม่นาน แต่ต้องทำในโรงพยาบาลที่มีความพร้อมห้องฉีดสีสวนหัวใจ ทีมแพทย์ พยาบาลที่มีความเชี่ยวชาญเพื่อผลการรักษาที่ดีที่สุด 3. การรักษาโดยการผ่าตัดบายพาสหลอดเลือดหัวใจ ส่วนมากทำในกรณีที่หลอดเลือดหัวใจตีบตันหลายเส้น และไม่สามารถทำการรักษาด้วยวิธีอื่นได้ อย่างไรก็ตาม มาตรฐานการรักษาทุกขั้นตอนควรทำให้แล้วเสร็จภายใน 60 -90 นาที เพื่อช่วยผู้ป่วยให้รอด พ้นจากการเสียชีวิต ภาวะหัวใจวายเรื้อรัง และกลับมาใช้ชีวิตได้ใกล้เคียงคนปกติมากที่สุด ที่สำคัญอย่าลืมว่าทุกนาที ที่ได้รับการรักษาช้าเท่ากับอัตราการเสียชีวิตที่เพิ่มขึ้นด้วย
แท็ก โรคหัวใจ  

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ