เปิดยุทธศาสตร์ 3 อุตสาหกรรมอนาคต ผลักดันไทยก้าวสู่ประเทศรายได้สูง

ข่าวทั่วไป Friday August 26, 2016 12:47 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--26 ส.ค.--อิมเมจ โซลูชั่น สศอ. เปิดยุทธศาสตร์ ผลักดันไทยก้าวสู่ประเทศรายได้สูง ดึง 3 ประเทศร่วมเป็นหุ้นส่วนทางยุทธศาสตร์ พร้อมชี้ 7 ลักษณะประเทศที่ติดกับดักรายได้ปานกลาง นายวีรศักดิ์ ศุภประเสริฐ รองผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม (สศอ.) เปิดเผยว่า หลังจาก สศอ.ได้ทำการศึกษาอุตสาหกรรมอนาคตที่มีศักยภาพของไทยที่จะทำให้ก้าวกับดักประเทศรายได้ปานกลาง ได้แก่ อุตสาหกรรมอาหารสำหรับอนาคต,อุตสาหกรรมเทคโนโลยีชีวภาพและอุตสาหกรรมชิ้นส่วนอากาศยานและซ่อมบำรุง จากปัจจัยต่างๆดังนี้ คือ •อุตสาหกรรมที่มีมูลค่าเพิ่มสูง •อุตสาหกรรมที่มีอุตสาหกรรมเกี่ยวเนื่องจำนวนมาก •อุตสาหกรรมที่สามารถแข่งขันได้ในอนาคต มีการลงทุนในการวิจัยและพัฒนา •อุตสาหกรรมที่สามารถต่อสู้กับนโยบายอุตสาหกรรมของต่างประเทศได้ •การเจริญเติบโตที่ถูกขับเคลื่อนด้วยนวัตกรรม (Innovation – Driven Growth) •การลงทุนในการพัฒนาทักษะแรงงานที่สำคัญ •การออกแบบที่เน้นประสิทธิภาพ •การผลิตสินค้าใหม่ ๆ โดยการปรับปรุงและพัฒนาเทคโนโลยีใหม่ •ความซับซ้อนของการส่งออก (Sophistication of Export) นอกจากนี้ปัจจัยเกื้อหนุนที่ต้องมีการพัฒนาควบคู่กันไป คือ การศึกษา (Education) โดยเฉพาะแรงงานฝีมือที่มีทักษะ จากนั้นจึงได้ กำหนดนโยบายและยุทธศาสตร์อุตสาหกรรมอนาคต ในการพัฒนาอุตสาหกรรมสาหรับอนาคต ให้เป็นอุตสาหกรรมที่สร้างมูลค่าเพิ่มอย่างสูงให้แก่ประเทศไทย โดยมีเป้าหมายให้เป็นหนึ่งในอุตสาหกรรมหลักที่จะสร้างรายได้เพิ่มให้ประเทศก้าวไปสู่ประเทศที่มีรายได้สูง ยุทธศาสตร์อุตสาหกรรมอาหารสำหรับอนาคต ประกอบด้วย 1.พัฒนาผลิตภัณฑ์อาหารฟังก์ชันที่จะเป็นผลิตภัณฑ์ที่นำตลาด (Product Champion) ในแต่ละกลุ่ม โดยใช้ทรัพยากรและวัตถุดิบในประเทศและหรือประเทศที่เป็นหุ้นส่วนยุทธศาสตร์ 2.พัฒนาและส่งเสริมผลักดันอย่างต่อเนื่องให้ผลิตภัณฑ์อาหารฟังก์ชันเป็นผลิตภัณฑ์ที่ทำให้ผู้บริโภคในตลาดโลกเปลี่ยนกระแสมาบริโภคผลิตภัณฑ์ใหม่ และทำให้ผลิตภัณฑ์ใหม่อยู่ในห่วงโซ่อาหารสำคัญของโลก ยุทธศาสตร์อุตสาหกรรมเทคโนโลยีชีวภาพ (ยุทธศาสตร์ในการพัฒนา) ประกอบด้วย 1.เพิ่มขีดความสามารถในการพัฒนาผลิตภัณฑ์เทคโนโลยีชีวภาพ (Scale Up Capability) ที่ประเทศมีฐานความรู้พร้อมอยู่แล้วและเป็นผลิตภัณฑ์ที่ประเทศไทยมีความสามารถในการผลิตและมีส่วนแบ่งสำคัญในตลาดโลก 2.พัฒนางานวิจัยและผลิตสินค้าและบริการที่ใช้เทคโนโลยีชีวภาพขั้นสูง ในอุตสาหกรรมชีวเภสัชกรรม (Bio-Pharmaceutical) และชีวเวชภัณฑ์ (Bio-Medical) รวมถึงส่งเสริมและพัฒนาระบบการทดลอง ระบบการผลิต ที่เป็นไปตามมาตรฐานโลก 3.พัฒนางานวิจัยในความหลากหลายทางชีวภาพของพืชและสิ่งมีชีวิตอื่นที่สามารถนำมาใช้ในเศรษฐกิจชีวภาพเพื่อพัฒนาเป็นผลิตภัณฑ์ที่มีมูลค่าเพิ่มในอุตสาหกรรมใหม่ได้ ยุทธศาสตร์อุตสาหกรรมชิ้นส่วนอากาศยานและซ่อมบำรุง (ยุทธศาสตร์ในการพัฒนา) ประกอบด้วย 1.มุ่งเป็นศูนย์บริการ (Service Hub) ในการซ่อมบำรุงและฐานผลิตชิ้นส่วน (Production Base)สำหรับการซ่อมบำรุงอากาศยาน โดยเข้าไปเป็นส่วนหนึ่งของห่วงโซ่อุตสาหกรรม และอาศัยการสร้างความร่วมมือ (Strategic Partnership) กับภาคเอกชนของประเทศที่เป็นผู้ผลิตอากาศยานและเครื่องยนต์อากาศยานรายใหญ่ของโลก 2.สร้างพันธมิตรกับสายการบินที่ให้บริการเส้นทางบินในภูมิภาค เพื่อชักชวนให้ใช้ประเทศไทยเป็นศูนย์บริการ ตลอดจนลงทุนหรือร่วมลงทุนในอุตสาหกรรมชิ้นส่วนอากาศยานและการซ่อมบำรุงในประเทศไทย 3.จัดหาเทคโนโลยีชิ้นส่วนอากาศยานที่อยู่ในห่วงโซ่อุตสาหกรรมจากต่างประเทศ (Technology Acquisition) เพื่อให้ผู้ประกอบการไทยใช้เป็นฐานในการเข้าสู่ห่วงโซ่อุตสาหกรรมได้เร็วขึ้น พร้อมกันนั้นยังได้ศึกษาประเทศหุ้นส่วนทางยุทธศาสตร์สำหรับอุตสาหกรรมอนาคตของไทย โดยวิเคราะห์จากความเชื่อมโยงด้านทรัพยากรและผลกระทบด้านนโยบายของ 11 ประเทศ ประกอบด้วย บรูไน มาเลเซีย อินโดนิเซีย ฟิลิปปินส์ สิงคโปร์ สปป.ลาว เมียนมา เวียดนาม กัมพูชา ติมอร์-เลสเต รวมทั้งไทย ปรากฏว่า ประเทศที่เหมาะสมเป็นประเทศหุ้นส่วนทางยุทธศาสตร์ สำหรับ อุตสาหกรรมอาหารสำรับอนาคต คือ ประเทศบรูไน เนื่องจากบรูไนมีนโยบายการสนับสนุนอุตสาหกรรมอาหาร มีความแข็งแกร่งด้านอาหารฮาลาล และมีความร่วมมือด้านอาหารกับประเทศไทยมาโดยตลอด ส่วน อุตสาหกรรมเทคโนโลยีชีวภาพ คือ ประเทศมาเลเซีย เนื่องจากมาเลเซีย เป็นหนึ่งในประเทศที่ถูกกำหนดให้เป็นแหล่งชีวพันธุ์ขนาดใหญ่ที่มีความหลากหลาย มีนโยบายสนับสนุนชีวเศรษฐกิจ (Bioeconomy) และมีเป้าหมายการพัฒนาอุตสาหกรรมเทคโนโลยีชีวภาพที่ชัดเจน รวมทั้งมีองค์ความรู้และเทคโนโลยีที่ดีและมีความพร้อมของสมาชิกในห่วงโซ่อุปทาน โดยเฉพาะอุตสาหกรรมยางพาราฯ สำหรับ อุตสาหกรรมชิ้นส่วนอากาศยานและซ่อมบำรุง คือ ประเทศสิงคโปร์ เนื่องจาก สิงคโปร์เป็นผู้นำในอุตสาหกรรมฯ ทั้งในระดับภูมิภาคและระดับโลก รวมทั้งมีองค์ความรู้และเทคโนโลยีที่ก้าวหน้า ทั้งนี้ลักษณะของการติดกับดักประเทศรายได้ปานกลาง เห็นได้จาก 1.อัตราการเติบโตการลงทุนต่ำ 2.การเติบโตการผลิตชะลอตัวลง 3.ขีดจำกัดของความหลากหลายของอุตสาหกรรม 4.ค่าจ้างแรงงานสูงขึ้น ก่อให้เกิดความสามารถในการแข่งขันลดลงและอุตสาหกรรมเคลื่อนที่ไปประเทศที่ค่าแรงต่ำกว่า ทำให้ขาดแคลนแรงงาน รวมถึงตลาดแรงงานไม่มีคุณภาพ 5.การพัฒนาและสะสมองค์ความรู้อยู่ในระดับต่ำทำให้ไม่สามารถเพิ่มมูลค่าสินค้าและบริการได้ 6.ปัญหาคอรัปชั่น/เสถียรภาพทางการเมือง 7 .ปัญหาการลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน "ดังนั้นประเทศไทยจะก้าวข้ามกับดักประเทศรายได้ปานกลางได้จะต้องเพิ่มรายได้เฉลี่ยต่อคนต่อปี หรือ GDP per capita ให้ได้ประมาณ 450,000 -500,000 บาท หรือมีรายได้เพิ่มขึ้น 2.25 เท่าของปัจจุบัน ซึ่งนโยบายและยุทธศาสตร์ ดังกล่าวจะช่วยผลักดันให้ประเทศไทยสามารถก้าวเข้าสู่ประเทศที่มีรายได้สูงในอนาคต รวมทั้งเป็นยุทธศาสตร์ที่สำคัญในการสนับสนุนและรองรับอุตสาหกรรมที่มุ่งเน้นด้านนวัตกรรมตาม แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 12 อีกด้วย" นายวีรศักดิ์ กล่าว

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ