แถลงผลงานรัฐบาลในโอกาสครบรอบ 2 ปี ในส่วนของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์

ข่าวทั่วไป Monday September 19, 2016 12:17 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--20 ก.ย.--สำนักงานปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ได้แถลงผลงานรัฐบาลในโอกาสครบรอบ 2 ปี ณ ตึกสันติไมตรี ทำเนียบรัฐบาล โดยมอบหมายให้รองนายกรัฐมนตรีทั้ง 6 คน แถลงสรุปผลงานในแต่ละด้าน พล.อ.อ.ประจิน จั่นตอง รองนายกรัฐมนตรี ได้แถลงผลงานด้านเศรษฐกิจที่เกี่ยวข้องกับกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ว่า ในช่วงเวลาที่ผ่านมา ภาคเกษตรและเกษตรกรเผชิญปัญหาราคาสินค้าเกษตรตกต่ำ เนื่องจากความผันผวนของเศรษฐกิจโลก ทำให้เกษตรมีรายได้น้อย มีหนี้สินและส่วนใหญ่เป็นเกษตรกรรายย่อยที่ยากจน นอกจากนั้น ประชากรภาคเกษตรและแรงงานเกษตรมีแนวโน้มลดลง เนื่องจากเคลื่อนย้ายไปสู่ภาคอุตสาหกรรมและบริการที่มีรายได้และสวัสดิการดีกว่า รวมทั้งเกษตรกรเริ่มเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุมากขึ้น อีกทั้งพื้นที่เกษตรของไทย ร้อยละ 80 เป็นเกษตรน้ำฝน โดยบางพื้นที่มีการปลูกพืชไม่เหมาะสมกับสภาพแวดล้อม เช่น ดิน น้ำ อากาศ และตลาด เป็นต้น ตลอดจนสถาบันเกษตรกร (สหกรณ์ กลุ่มเกษตรกร วิสาหกิจชุมชน) ยังมีโครงสร้างพื้นฐานการผลิตแปรรูปและการตลาดไม่เพียงพอ มีการเชื่อมโยงเครือข่ายและมีองค์ความรู้ด้านเทคโนโลยีที่สร้างมูลค่าเพิ่มค่อนข้างน้อย พล.อ.อ.ประจิน จั่นตอง กล่าวต่อว่า กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ได้ดำเนินมาตรการต่าง ๆ เพื่อช่วยเหลือเกษตรกรและการแก้ไขปัญหาเร่งด่วน (ปี 2558 - 2559) ดังนี้ 1) ช่วยเหลือเกษตรกรผู้ปลูกข้าวที่มีรายได้น้อย ไร่ละ 1,000 บาท ครัวเรือนละไม่เกิน 15 ไร่ โดยช่วยเหลือรวม 3.63 ล้านครัวเรือน วงเงิน 39,506 ล้านบาท 2) ชดเชยรายได้แก่เกษตรกรชาวสวนยาง ที่มีเอกสารสิทธิ์ไร่ละ 1,000 บาท ครัวเรือนละไม่เกิน 15 ไร่ ช่วยเหลือรวม 827,742 ครัวเรือน วงเงิน 8,315 ล้านบาท 3) สร้างความเข้มแข็งให้แก่เกษตรกรชาวสวนยาง โดยจ่ายเงินครัวเรือนละไม่เกิน 15 ไร่ ได้ช่วยเหลือรวม 710,016 ครัวเรือน วงเงิน 10,450 ล้านบาท 4) แก้ไขปัญหาภัยแล้งปี 2557/58 และปี 2558/59 โดยบูรณาการทุกหน่วยงาน แก้ปัญหาช่วยเหลือประชาชน/เกษตรกร โดยการบริหารจัดการน้ำให้มีน้ำเพียงพอสำหรับการอุปโภคบริโภค รักษาระบบนิเวศน์ ทั้งการเจาะบ่อบาดาล และรถส่งน้ำ และช่วยเหลือเกษตรกรที่ไม่สามารถทำการเกษตรในฤดูแล้งได้ อาทิ การจ้างแรงงาน การลดค่าใช้จ่าย การสร้างรายได้ และ การขยายโอกาสพัฒนาอาชีพ มีเกษตรกรรับประโยชน์ 6.97 ล้านคน นอกจากนี้ ยังพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานทางการเกษตรเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตของชุมชน จ้างแรงงาน และสนับสนุนความต้องการของชุมชนผ่านกระบวนการมีส่วนร่วมรวม 6,596 โครงการ วงเงิน 2,993 ล้านบาท 5) การแก้ไขปัญหาการทำประมงผิดกฎหมาย ขาดการรายงาน และไร้การควบคุม โดยดำเนินการแก้ไขปัญหาร่วมกับ ศปมผ. และข้อเสนอแนะของ EUประกอบด้วย การออกพระราชกำหนดการประมง พ.ศ.2558 และกฎหมายลำดับรองที่เกี่ยวข้อง 91 ฉบับ จัดทำแผนการบริหารจัดการประมงทะเลไทย ปี 2558 – 2562 ติดตั้งตรวจสอบระบบตำแหน่งเรือ (VMS) โดยมีเรือที่มีขนาดมากกว่า 30 ตันกรอส จำนวน 5,921 ลำ ขนาด 60 ตันกรอส จำนวน 2,609 ลำ ตรวจอาชญาบัตรเรือประมง จำนวน 2,848 ลำ นอกจากนี้ ยังมีการบังคับใช้กฎหมายโดยจับกุมผู้กระทำผิด 323 คดี ผู้ต้องหา 1,007 ราย รวมถึงจัดทำความร่วมมือประมงอย่างยั่งยืนกับประเทศอื่น ๆ 7 ประเทศ ได้แก่ เกาหลี ไต้หวัน สเปน มาเลเซีย อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ และปาปัวนิวกินี 6) แก้ไขปัญหาและพัฒนาบริหารจัดการนมโรงเรียนทั้งระบบ ยกระดับคุณภาพน้ำนมดิบ โดยให้เพิ่มปริมาณของแข็งรวม จากมาตรฐานเดิม 12.00% ให้เป็น 12.15% ในปีการศึกษา 1/2559 และเป็น 12.50% ในภาคเรียนที่ 2/2560 7) บังคับใช้กฎหมาย ในการจับกุมและปราบปรามปุ๋ยปลอม เนื้อเถื่อน และโรงฆ่าสัตว์เถื่อน และ 8) สร้างความโปร่งใสภายในองค์กร จากการเปิดกว้างและโปร่งใสในการประมูลงาน โดยเฉพาะงานด้านการชลประทาน ซึ่งสามารถประหยัดงบประมาณได้มากถึง 13,900 ล้านบาท นายธีรภัทร ประยูรสิทธิ ปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้กล่าวถึงผลการดำเนินงานการปฏิรูปภาคเกษตรในช่วงที่ผ่านมา ประกอบด้วย 1) การลดต้นทุนการผลิตและเพิ่มโอกาสในการแข่งขันสินค้าเกษตร โดยส่งเสริมการเรียนรู้ผ่านศูนย์เรียนรู้การเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตสินค้าเกษตร (ศพก.) 882 ศูนย์ ส่งเสริมระบบเกษตรแปลงใหญ่ ใช้รูปแบบประชารัฐ มีเกษตรกรรวมกลุ่มเป็นแปลงใหญ่ รวม 569 แปลง พื้นที่ 1.47 ล้านไร่ เกษตรกร 93,260 ครัวเรือน บริหารจัดการพื้นที่เกษตรตามแผนที่การเกษตรเชิงรุก (Zoning by Agri - Map) รวมทั้งพัฒนาเกษตรอินทรีย์ โดยเพิ่มพื้นที่เกษตรอินทรีย์ในจังหวัดยโสธร จากเดิม 35,000 ไร่ เป็น 55,000 ไร่ เน้นข้าวหอมมะลิอินทรีย์ พืชผัดอินทรีย์ มีเกษตรกรเข้าร่วม 1,200 ราย ยกระดับมาตรฐานสินค้าเกษตร ตลอดจนพัฒนาสหกรณ์ให้เข้มแข็ง 2) การบริหารจัดการน้ำตามแผนยุทธศาสตร์บริหารจัดการทรัพยากรน้ำปี 2558 - 2569 โดยเพิ่มพื้นที่ชลประทานปีละประมาณ 3 แสนไร่ ซึ่งคาดว่าปี 2569 จะมีพื้นที่ชลประทานเพิ่มขึ้นอีก 8.7ล้านไร่ รวมพื้นที่ชลประทานปี 2569 ประมาณ 39 ล้านไร่ หรือเพิ่มขึ้น 26% 3) การยึดคืนที่ดิน ส.ป.ก. ที่ครอบครองโดยมิชอบด้วยกฎหมาย ตามมาตรา 44 มีพื้นที่เป้าหมายที่ต้องตรวจสอบ ประมาณ 440,000 กว่าไร่ ?ขณะนี้ยึดคืนที่ ส.ป.ก. ได้แล้วกว่า 140,000 ไร่ ที่เหลือยังอยู่ระหว่างกระบวนการตรวจสอบและจะนำคืนพื้นที่ที่ยึดคืนมาได้ จัดที่ดินทำกินให้ชุมชนตามนโยบายประชารัฐ 4) การบริหารจัดการสินค้าเกษตรแบบครบวงจรตลอดห่วงโซ่การผลิต โดย?มีแผนการผลิตและการตลาดข้าวครบวงจร ปี2559/60 ส่งเสริมการปลูกข้าวรวม 57.41 ล้านไร่ เพื่อให้สอดคล้องกับความต้องการรวม 27.17 ล้านตันข้าวเปลือก ?สนับสนุนการใช้เมล็ดพันธุ์ข้าวหอมมะลิคุณภาพดี 23 จังหวัด 64,000 ครัวเรือน รวมพื้นที่ 640,000 ไร่ ปรับเปลี่ยนการปลูกข้าวไปปลูกพืชที่หลากหลายฤดูนาปรังปี 2560 วงเงิน 648 ล้านบาท ในพื้นที่ 22 จังหวัดลุ่มเจ้าพระยา 60,000 ครัวเรือน พื้นที่ 300,000 ไร่ เพื่อลดรอบการปลูกข้าวในฤดูนาปรัง ไปปลูกพืชที่หลากหลายตามความต้องการของเกษตรกร ไม่เกิน 5 ไร่/ครัวเรือน สนับสนุนสินเชื่อให้กลุ่มชาวนาผู้ผลิตข้าวแปลงใหญ่สินเชื่อรวม 2,130 ล้านบาท 426 กลุ่ม ๆ ละ ไม่เกิน 5 ล้านบาท อัตราดอกเบี้ยที่เกษตรกรต้องจ่าย 0.01 ต่อปี ระยะเวลากู้ 1 ปี 5) การสนับสนุนการพัฒนาในเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษ ?โดยพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด่านตรวจและระบบตรวจสินค้าเกษตรให้ได้มาตรฐานสากล พัฒนาระบบอิเล็กทรอนิกส์ ในการนำเข้า - ส่งออก National Single Window (NSW) และจัดหาที่ดิน และพัฒนาระบบชลประทานรวม 42,700 ไร่ ในพื้นที่ตาก ตราด มุกดาหาร สงขลา หนองคาย นครพนม 6) การพัฒนาการเกษตรแบบสมัยใหม่ตามแนวทางประชารัฐ ?มีคณะทำงานพัฒนาการเกษตรสมัยใหม่ภายใต้คณะกรรมการสานพลังประชารัฐ ?และ 7) การปรับปรุงและออกกฎหมายใหม่

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ