ปภ. รายงานเกิดน้ำไหลหลากและดินสไลด์ใน 7 จังหวัด พร้อมเตือน 27 จังหวัดรับมือภาวะฝนตกหนักถึงหนักมากในระยะนี้

ข่าวทั่วไป Wednesday September 21, 2016 10:27 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--21 ก.ย.--กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย กระทรวงมหาดไทย โดยกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) รายงานเกิดน้ำไหลหลากและดินสไลด์ใน 7 จังหวัด ได้แก่ สุโขทัย พะเยา แม่ฮ่องสอน พิษณุโลก ตาก หนองบัวลำภู และระยอง รวม 14 อำเภอ 52 ตำบล พร้อมประสานแจ้งเตือน 27 จังหวัดเตรียมพร้อมรับมือฝนตกหนักถึงหนักมากบางแห่ง โดยจัดเจ้าหน้าที่ติดตามสภาพอากาศและเฝ้าระวังสถานการณ์ภัย รวมถึงจัดชุดเคลื่อนที่เร็วและเครื่องมืออุปกรณ์ประจำพื้นที่เสี่ยงให้พร้อมปฏิบัติการเผชิญเหตุและช่วยเหลือผู้ประสบภัยตลอด 24 ชั่วโมง นายฉัตรชัย พรหมเลิศ อธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) เปิดเผยว่า ภาวะฝนตกหนักในระยะนี้ ส่งผลให้เกิดน้ำไหลหลากและดินสไลด์ใน 7 จังหวัด รวม 14 อำเภอ 52 ตำบล แยกเป็น สุโขทัย น้ำจากแม่น้ำยมล้นตลิ่งไหลเข้าท่วมพื้นที่ 5 อำเภอ ได้แก่ อำเภอเมืองสุโขทัย อำเภอสวรรคโลก อำเภอศรีสำโรง อำเภอกงไกรลาศ และอำเภอบ้านด่านลานหอย รวม 21 ตำบล 141 หมู่บ้าน 26 ชุมชน ประชาชนได้รับผลกระทบ 4,618 หลังคาเรือน ถนน 25 สาย ตลิ่ง 4 แห่ง พื้นที่การเกษตรได้รับความเสียหาย 40,703 ไร่ ปัจจุบันอำเภอเมืองสุโขทัย เข้าสู่ภาวะปกติแล้ว ส่วนอำเภออื่นๆ ยังคงมีน้ำท่วมขังในพื้นที่ลุ่มต่ำทางการเกษตร พะเยา น้ำไหลหลากเข้าท่วมพื้นที่ 3 อำเภอ ได้แก่ อำเภอเมืองพะเยา อำเภอดอกคำใต้ และอำเภอภูกามยาว รวม 15 ตำบล ปัจจุบันสถานการณ์กลับเข้าสู่ภาวะปกติแล้ว แม่ฮ่องสอน เกิดน้ำป่าไหลหลากในพื้นที่ 3 อำเภอ ได้แก่ อำเภอปางมะผ้า อำเภอเมืองแม่ฮ่องสอน และอำเภอปาย รวม 8 ตำบล ปัจจุบันสถานการณ์กลับเข้าสู่ภาวะปกติแล้ว พิษณุโลก น้ำจากแม่น้ำยมไหลหลากเข้าท่วมพื้นที่อำเภอบางระกำ ประชาชนได้รับผลกระทบ 500 หลังคาเรือน พื้นที่การเกษตรได้รับความเสียหาย 2,800 ไร่ บ่อปลา 4 บ่อ ปัจจุบันยังคงมีน้ำท่วมขังในพื้นที่ลุ่มต่ำทางการเกษตร ตาก น้ำป่าไหลหลากเข้าท่วมพื้นที่อำเภอท่าสองยาง บ้านเรือนประชาชนได้รับความเสียหาย 1 หลังคาเรือน ปัจจุบันสถานการณ์กลับเข้าสู่ภาวะปกติแล้ว หนองบัวลำภู น้ำเอ่อล้นเข้าท่วมพื้นที่อำเภอศรีบุญเรืองประชาชนได้รับผลกระทบ 3 หลังคาเรือน พื้นที่การเกษตรได้รับความเสียหาย 100 ไร่ ปัจจุบันระดับน้ำลดลง ระยอง น้ำไหลหลากเข้าท่วมพื้นที่อำเภอเมืองระยอง ปัจจุบันสถานการณ์กลับเข้าสู่ภาวะปกติแล้ว ทั้งนี้ สำนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัดที่ประสบภัย ได้ร่วมกับหน่วยทหารและองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นสำรวจความเสียหายและให้การช่วยเหลือผู้ประสบภัยในเบื้องต้นแล้ว อย่างไรก็ตาม จากการติดตามสภาพอากาศกับกรมอุตุนิยมวิทยา พบว่า มรสุมตะวันตกเฉียงใต้กำลังค่อนข้างแรงพัดปกคลุมทะเลอันดามัน ภาคใต้ และอ่าวไทย ในขณะที่บริเวณความกดอากาศสูงกำลังปานกลางได้แผ่ลงมาปกคลุมภาคเหนือตอนบน และภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบน ทำให้ร่องมรสุมมีกำลังแรงขึ้นและได้เคลื่อนลงมาพาดผ่านภาคกลางตอนล่าง ภาคตะวันออก และภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนล่าง ส่งผลให้บริเวณดังกล่าวมีฝนตกหนักถึงหนักมากบางแห่ง กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจึงได้ประสาน 27 จังหวัด แยกเป็น ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 6 จังหวัด ได้แก่ ชัยภูมิ นครราชสีมา บุรีรัมย์ สุรินทร์ ศรีสะเกษ และอุบลราชธานี ภาคตะวันออก 4 จังหวัด ได้แก่ ปราจีนบุรี สระแก้ว จันทบุรี และตราด ภาคกลาง 14 จังหวัด ได้แก่ นครนายก ราชบุรี สมุทรสงคราม สุพรรณบุรี กาญจนบุรี อุทัยธานี ชัยนาท นครสวรรค์ ลพบุรี สระบุรี พระนครศรีอยุธยา นครปฐม เพชรบุรี และประจวบคีรีขันธ์ ภาคใต้ 3 จังหวัด ได้แก่ ชุมพร ระนอง และพังงา รวมถึงศูนย์ป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยเขตในพื้นที่เสี่ยงภัย เตรียมพร้อมรับมืออุทกภัย น้ำป่าไหลหลาก และดินถล่ม โดยจัดเจ้าหน้าที่และมิสเตอร์เตือนภัยติดตามเฝ้าระวังสถานการณ์ภัยอย่างใกล้ชิดตลอด 24 ชั่วโมง เพิ่มความถี่ในการตรวจวัดปริมาณน้ำฝนอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะบริเวณที่มีปริมาณฝนสะสมอยู่แล้ว รวมถึงจัดเตรียมสรรพกำลัง เครื่องมืออุปกรณ์ประจำพื้นที่เสี่ยง อาทิ คอสะพาน เส้นทางน้ำไหลผ่าน ที่ลาดเชิงเขา เพื่อให้พร้อมปฏิบัติการเผชิญเหตุ แก้ไขปัญหา และช่วยเหลือผู้ประสบภัยทันทีที่เกิดภัย ตลอดจนกำหนดพื้นที่รองรับน้ำและเก็บกักน้ำ และวางแผนพร่องน้ำ ผันน้ำ และระบายน้ำออกจากพื้นที่ประสบภัยซ้ำซาก โดยเฉพาะพื้นที่เศรษฐกิจสำคัญ โดยบูรณาการแผนการระบายน้ำในเชิงลุ่มน้ำอย่างเป็นระบบ เพื่อป้องกันและลดผลกระทบจากอุทกภัย กรณีสถานการณ์รุนแรงให้ดำเนินการตามขั้นตอนของแผนการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัด เพื่อประสานให้การช่วยเหลือผู้ประสบภัยได้อย่างทันท่วงที ทั้งนี้ ขอให้ประชาชนที่อาศัยอยู่ในพื้นที่เสี่ยงภัยระมัดระวังอันตรายจากฝนตกหนักถึงหนักมากและฝนที่ตกสะสม โดยติดตามพยากรณ์อากาศและประกาศเตือนภัยจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอย่างใกล้ชิด พร้อมปฏิบัติตามอย่างเคร่งครัด หากได้รับความเดือดร้อนจากสถานการณ์ภัย สามารถติดต่อขอความช่วยเหลือได้ทางสายด่วนนิรภัย 1784 ตลอด 24 ชั่วโมง เพื่อประสานให้การช่วยเหลือโดยด่วนต่อไป 0-2243-0674 0-2243-2200 www.disaster.go.th

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ