ชมรมขับเคลื่อนวิชาการเพื่อวิจัยความสุขชุมชน สำนักวิจัย ซูเปอร์โพล เสนอผลวิจัย เรื่อง โพลความสุข ของคนรักสิ่งแวดล้อม กับ กรณีเขื่อนแม่วงก์

ข่าวทั่วไป Monday September 26, 2016 15:53 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--26 ก.ย.--สำนักวิจัย ซูเปอร์โพล ดร.นพดล กรรณิกา ประธานชมรมขับเคลื่อนวิชาการเพื่อวิจัยความสุขชุมชน สำนักวิจัยซูเปอร์โพล (SUPER POLL) เปิดผลสำรวจเรื่อง โพลความสุขของคนรักสิ่งแวดล้อม กับ กรณีเขื่อนแม่วงก์ กรณีศึกษาประชาชนทุกสาขาอาชีพทั่วประเทศจำนวน 4,215 ตัวอย่าง ระหว่างวันที่ 1 สิงหาคม – 22 กันยายน พ.ศ. 2559 พบว่า ประชาชนมีความสุขกับ แนวทางสร้างชุมชนสีเขียว อนุรักษ์ธรรมชาติ รักษาสิ่งแวดล้อม น้ำ ต้นไม้ มาเป็นอันดับที่หนึ่ง ได้คะแนนความสุขถึง 8.12 คะแนน รองลงมาคือ การดูแล บริหารจัดการทรัพยากรทางทะเล ได้ 6.95 คะแนน อันดับสามได้แก่ ปลุกจิตสำนึก ช่วยลดภาวะโลกร้อน ได้ 5.92 คะแนน อันดับที่ สี่ ได้แก่ ป่าชุมชน คนกับป่า อยู่กันได้ ได้คะแนนความสุข 5.89 คะแนน อันดับ ห้า ได้แก่ ชุมชนต้นแบบ คัดแยกขยะ โรงไฟฟ้าขยะ ทำขยะให้มีมูลค่า ได้คะแนนความสุข 5.85 คะแนน และที่เหลือ รองๆ ลงไป ได้แก่ ลดการใช้ถุงพลาสติก บริหารจัดการน้ำ แก้ปัญหา นายทุนบุกรุกที่ดิน ทำรีสอร์ต เช่น ภูทับเบิก ปลูกป่า พลิกฟื้นผืนป่า แก้ปัญหาป่าเสื่อมโทรมให้เป็น ป่าสีเขียว และ แก้ปัญหาการค้าสัตว์ป่าและพันธุ์พืช ตามลำดับ เมื่อถามถึงผลงานรัฐบาลที่ทำให้คนรักสิ่งแวดล้อมมีความสุข พบว่า ส่วนใหญ่หรือร้อยละ 57.0 ระบุ ใช้ มาตรา 44 ยึดคืนที่ดิน สปก. จัดระเบียบ ภูทับเบิก รองลงมาคือ ร้อยละ 56.9 ระบุ แก้ปัญหาการตัดต้นไม้ ป้องกันการทำลายต้นไม้ในเขตเมือง ร้อยละ 55.7 ระบุ เก็บเงินบำรุงอุทยานฯ ได้มากกว่ายุคนักการเมืองถึง 1,400 ล้านบาท ร้อยละ 55.0 ระบุ แก้ปัญหามลพิษ รักษาสิ่งแวดล้อม และประชาชนร้อยละ 60.7 มีความสุขต่อผลงานรัฐบาลด้านอนุรักษ์ธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมที่ผ่านมา แต่ที่น่าสนใจคือ สิ่งที่ควรทำเพื่อจัดการ ขบวนการค้าสัตว์ป่าและพันธุ์พืช พบว่า ส่วนใหญ่หรือร้อยละ 76.8 ระบุ ควรแก้กฎหมายเพิ่มโทษ ในขณะที่ร้อยละ 23.2 ระบุบังคับใช้กฎหมายที่มีอยู่ตอนนี้ก็เพียงพอ อย่างไรก็ตาม ดร.นพดล กล่าวต่อว่า ที่น่าพิจารณา คือ ความเห็นของประชาชนต่อการสร้างเขื่อน แม่วงก์ พบว่า ส่วนใหญ่หรือร้อยละ 57.4 ระบุ ควรทบทวน เพราะ ข้อมูลยังไม่ครบถ้วนรอบด้าน ใครได้ใครเสียไม่ชัดเจน ทำเพื่อส่วนรวมหรือคนเฉพาะกลุ่ม ใครเป็นเจ้าของที่ดินที่จะได้รับประโยชน์จากการเวรคืน ชาวบ้านประชาชนส่วนรวมได้ประโยชน์จริงหรือไม่ คุ้มค่ากับการสูญเสียพืชพันธุ์สัตว์ป่าหายากหรือไม่ เป็นต้น ยิ่งไปกว่านั้น ร้อยละ 22.5 ระบุ ไม่ควรสร้าง เพราะ จะเสียพื้นที่ป่า สัตว์ป่าหายากและพันธุ์พืชถูกทำลาย กลุ่มนายทุนที่ดินได้ประโยชน์ มีทางเลือกอื่นที่ดีกว่าและแก้น้ำท่วมไม่ได้จริง เป็นต้น มีเพียงร้อยละ 20.1 ระบุ ควรสร้างทันที เพราะ จะช่วยแก้ปัญหาน้ำท่วมได้ เก็บกักน้ำไว้ใช้การเกษตรได้ เป็นต้น

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ