ปภ. ประสานทุกภาคส่วนช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัย เน้นเพิ่มประสิทธิภาพบริหารจัดการน้ำ

ข่าวทั่วไป Monday September 26, 2016 19:02 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--26 ก.ย.--กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย กระทรวงมหาดไทย โดยกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) บูรณาการจังหวัดและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจัดตั้งกองอำนวยการป้องกันและ บรรเทาปัญหาอุทกภัยจังหวัด เพื่อเป็นศูนย์กลางในการแก้ไขปัญหาอุทกภัย พร้อมประสานผู้ว่าราชการจังหวัด และหัวหน้าส่วนราชการที่เกี่ยวข้องลงพื้นที่ตรวจสถานการณ์น้ำและรับฟังปัญหา จากประชาชน จะได้อำนวยการแก้ไขปัญหาได้อย่างรวดเร็ว ส่วนการบริหารจัดการน้ำ ให้เพิ่มประสิทธิภาพในการระบายน้ำควบคู่กับการกักเก็บน้ำไว้ใช้ในช่วงฤดู แล้ง รวมถึงติดตั้งเครื่องสูบน้ำตามจุดต่างๆ โดยเฉพาะพื้นที่ชุมชน เขตเศรษฐกิจ เพื่อระบายน้ำที่ท่วมขังไปยังแหล่งน้ำสาธารณะในพื้นที่ ตลอดจนประสานการแจกจ่ายเครื่องอุปโภคบริโภคแก่ผู้ประสบภัยกับหน่วยงานที่ เกี่ยวข้อง เพื่อให้การช่วยเหลือเป็นไปอย่างทั่วถึง และเพียงพอต่อความต้องการของผู้ประสบภัย นายฉัตรชัย พรหมเลิศ อธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย กล่าวว่า ระยะนี้หลายพื้นที่ของประเทศเกิดฝนตกหนัก โดยเฉพาะบริเวณภาคเหนือและภาคกลาง ทำให้เกิดน้ำท่วมในลักษณะน้ำไหลหลากในหลายพื้นที่ ประกอบกับเขื่อนเจ้าพระยาระบายน้ำเพิ่มมากขึ้น ทำให้เกิดน้ำล้นตลิ่งท่วมพื้นที่ลุ่มต่ำริมฝั่งแม่น้ำ รัฐบาลและคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ห่วงใยประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากอุทกภัย จึงได้สั่งการให้กระทรวงมหาดไทย โดยกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย บูรณาการจังหวัดและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจัดตั้งกองอำนวยการป้องกันและบรรเทาปัญหาอุทกภัยจังหวัด เพื่อทำหน้าที่เป็นศูนย์กลางในการบัญชาการและบูรณาการหน่วยงานที่เกี่ยวข้องแก้ไขปัญหาอุทกภัย โดยให้ผู้ว่าราชการจังหวัด นายอำเภอ กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน และผู้บริหารองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ลงพื้นที่ตรวจสอบสถานการณ์น้ำและรับฟังปัญหาจากประชาชน เพื่ออำนวยการแก้ไขปัญหาในระดับพื้นที่ สำหรับการบริหารจัดการน้ำ ให้ประสานหน่วยงานชลประทานและอุตุนิยมวิทยาในพื้นที่ ติดตามสถานการณ์น้ำอย่างใกล้ชิด เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการบริหารจัดการน้ำ โดยเฉพาะการเปิดปิดประตูระบายน้ำบริเวณเขื่อนเจ้าพระยา ให้สอดคล้องกับอัตราความเร็วในการไหลของน้ำในแม่น้ำเจ้าพระยา และปริมาณฝนที่ไหลมาสมทบรวมกันในแม่น้ำเจ้าพระยา ส่งผลให้ปริมาณน้ำเพิ่มสูงขึ้น พร้อมให้ความสำคัญกับการกักเก็บน้ำไว้ใช้ในช่วงฤดูแล้งควบคู่กันไปด้วย โดยใช้เครื่องสูบน้ำ ระหัดวิดน้ำ ทำลำรางดึงน้ำที่ท่วมขังไปกักเก็บไว้ในบ่อ อ่างน้ำ หรือแหล่งน้ำธรรมชาติในพื้นที่ก่อนเป็นลำดับแรก พร้อมจัดทำเหมือง ฝายกั้นน้ำ เขื่อนยาง ฝายยาง สระน้ำเทียม เพื่อกักเก็บน้ำไว้ใช้ในฤดูแล้งให้ได้อย่างน้อย 1 จุดต่อ 1 ตำบล สำหรับพื้นที่ที่ยังไม่ได้รับผลกระทบจากน้ำท่วม ให้ใช้เทคโนโลยี ระบบข้อมูล หรือโปรแกรมการคำนวณในการประเมินสถานการณ์น้ำ เพื่อแจ้งเตือนประชาชน ในพื้นที่ทราบอย่างทันท่วงที ทั้งนี้ ในการติดตั้งเครื่องสูบน้ำ ให้ระดมติดตั้งตามจุดต่างๆ โดยเฉพาะพื้นที่ชุมชน เขตเศรษฐกิจ และพื้นที่สำคัญของจังหวัด เพื่อระบายน้ำที่ท่วมขังไปยังแหล่งน้ำสาธารณะในพื้นที่ ตลอดจนส่งเจ้าหน้าที่สำรวจความเสียหาย แจกจ่ายถุงยังชีพ และเครื่องอุปโภคบริโภค เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนของประชาชนในเบื้องต้น โดยให้ประสานการดำเนินงานร่วมกับสำนักงานพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ เหล่ากาชาดจังหวัด มูลนิธิองค์กรการกุศล และภาคเอกชนในพื้นที่ เพื่อให้การช่วยเหลือเป็นไปอย่างทั่วถึง และเพียงพอต่อความต้องการของผู้ประสบภัย นอกจากนี้ ให้ระดมสรรพกำลัง วัสดุอุปกรณ์ เครื่องจักรกลด้านสาธารณภัยปฏิบัติการซ่อมแซมสาธารณูปโภค ทั้งไฟฟ้า ประปา และระบบการสื่อสารให้ใช้งานได้ตามปกติโดยเร็ว ท้ายนี้ ผู้ประสบภัยสามารถติดต่อขอความช่วยเหลือได้ทางสายด่วนนิรภัย 1784 ตลอด 24 ชั่วโมง เพื่อประสานให้การช่วยเหลือโดยด่วนต่อไป 0-2243-0674 0-2243-2200 www.disaster.go.th

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ