ปภ.ประสาน 7 จังหวัดภาคกลาง เตรียมพร้อมรับมือน้ำไหลหลาก – น้ำล้นตลิ่ง จากการเพิ่มการระบายน้ำของเขื่อนเจ้าพระยา

ข่าวทั่วไป Wednesday September 28, 2016 16:52 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--28 ก.ย.--กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย กระทรวงมหาดไทย โดยกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) ได้รับการประสานจากกรมชลประทานในการเพิ่มการระบายน้ำจากเขื่อนเจ้าพระยาในอัตรา 2,000 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที ส่งผลให้พื้นที่ท้ายเขื่อนเจ้าพระยา บริเวณอำเภอสรรพยา จังหวัดชัยนาท มีระดับน้ำเพิ่มสูงขึ้นประมาณ 50 – 70 เซนติเมตร จึงได้แจ้งเตือน 7 จังหวัดภาคกลาง ได้แก่ อุทัยธานี ชัยนาท สิงห์บุรี อ่างทอง พระนครศรีอยุธยา ลพบุรี และสุพรรณบุรี เตรียมรับมือสถานการณ์น้ำล้นตลิ่งจากระดับน้ำที่เพิ่มสูงขึ้น โดยประสานการบริหารจัดการน้ำอย่างมีประสิทธิภาพ จัดเจ้าหน้าที่พร้อมอุปกรณ์และเครื่องจักรกลด้านสาธารณภัยให้พร้อมปฏิบัติ การช่วยเหลือผู้ประสบภัย นายฉัตรชัย พรหมเลิศ อธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) กล่าวว่า จากการประสานข้อมูลสถานการณ์น้ำกับกรมชลประทานในการเพิ่มการระบายน้ำจากเขื่อนเจ้าพระยาในอัตรา 2,000 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที ส่งผลให้พื้นที่ท้ายเขื่อนเจ้าพระยา บริเวณอำเภอสรรพยา จังหวัดชัยนาท มีระดับน้ำเพิ่มสูงขึ้นประมาณ 50 – 70 เซนติเมตร โดยเฉพาะในพื้นที่ 7 จังหวัด ได้แก่ อุทัยธานี (อำเภอเมืองอุทัยธานี อำเภอทัพทัน อำเภอสว่างอารมณ์) ชัยนาท (อำเภอเมืองชัยนาท อำภอมโนรมย์ อำเภอวัดสิงห์ อำเภอสรรพยา อำเภอหันคา) สิงห์บุรี (อำเภออินทร์บุรี อำเภอเมืองสิงห์บุรี อำเภอพรหมบุรี) อ่างทอง (อำเภอเมืองอ่างทอง อำเภอป่าโมก อำเภอไชโย) พระนครศรีอยุธยา (อำเภอเสนา อำเภอบางปะหัน อำเภอบางบาล อำเภอพระนครศรีอยุธยา อำเภอบางปะอิน) ลพบุรี (อำเภอท่าวุ้ง อำเภอเมืองลพบุรี อำเภอบ้านหมี่) และสุพรรณบุรี (อำเภอเดิมบางนางบวช อำเภอสามชุก อำเภอศรีประจันต์ อำเภอเมืองสุพรรณบุรี อำเภอบางปลาม้า อำเภอสองพี่น้อง) ซึ่งขณะนี้พื้นที่ลุ่มต่ำของจังหวัดดังกล่าวมีน้ำท่วมขังอยู่แล้ว อาจส่งผลให้เกิดน้ำล้นตลิ่งได้ กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย จึงได้ประสาน 7 จังหวัดดังกล่าว เตรียมรับมือและแก้ไขปัญหาอุทกภัยจากน้ำไหลหลากและน้ำล้นตลิ่ง โดยประสานหน่วยงานชลประทานในพื้นที่ เพิ่มประสิทธิภาพการบริหารจัดการน้ำ เปิดปิดประตูระบายน้ำให้สอดคล้องกับอัตราความเร็วของน้ำในแม่น้ำเจ้าพระยา และปริมาณฝนที่ไหลมาสมทบ พร้อมจัดเจ้าหน้าที่และมิสเตอร์เตือนภัยติดตามสภาพอากาศอย่างใกล้ชิด เฝ้าระวังสถานการณ์น้ำตลอด 24 ชั่วโมง จัดเตรียมชุดเคลื่อนที่เร็ว เครื่องมืออุปกรณ์ เครื่องจักรกล ด้านสาธารณภัย และเรือท้องแบนประจำพื้นที่เสี่ยงให้พร้อมปฏิบัติการช่วยเหลือผู้ประสบภัย อีกทั้งระดมติดตั้งเครื่องสูบน้ำตามจุดเสี่ยงน้ำท่วมขัง โดยเฉพาะเขตชุมชน เขตเศรษฐกิจ และพื้นที่สำคัญของจังหวัด รวมถึงแจ้งเตือนประชาชนที่อาศัยในที่ลุ่มต่ำนอกแนวคันกั้นน้ำริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยา เกษตรกรที่ประกอบอาชีพประมง เพาะปลูก หรือเลี้ยงสัตว์บริเวณริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยา สถานประกอบการ เรือโดยสาร นักท่องเที่ยว รวมทั้งผู้ประกอบกิจการรับเหมาก่อสร้างงานโครงสร้างหรือเขื่อนป้องกันตลิ่งบริเวณริมแม่น้ำเจ้าพระยาให้เตรียมพร้อมรับมือสถานการณ์น้ำที่เพิ่มสูงขึ้น โดยขนย้ายทรัพย์สินและสิ่งของไว้บนที่สูงพ้นแนวน้ำท่วม ติดตามประกาศเตือนภัยจากหน่วยงานราชการ พร้อมปฏิบัติตามอย่างเคร่งครัด ท้ายนี้ ประชาชนที่ประสบสาธารณภัยสามารถติดต่อขอรับการช่วยเหลือได้ทางสายด่วนนิรภัย 1784 ตลอด 24 ชั่วโมง เพื่อประสานให้การช่วยเหลือโดยด่วนต่อไป 0-2243-0674 0-2243-2200 www.disaster.go.th

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ