นักวิชาการ CMMU ชี้ย่านการค้าปลีกดั้งเดิมของไทยไม่มีวันตาย พร้อมเตือนนักพัฒนาอสังหาฯ มองความยั่งยืนในการพัฒนาธุรกิจ

ข่าวอสังหา Friday September 30, 2016 12:25 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--30 ก.ย.--เจซีแอนด์โค พับลิครีเลชั่นส์ - วิทยาลัยการจัดการ มหาวิทยาลัยมหิดล (CMMU) เปิดผลวิจัย ชี้การรวมตัวกันของผู้ประกอบการค้าปลีกสินค้าประเภทเดียวกันในย่านค้าปลีกดั้งเดิมดึงดูดผู้บริโภคได้ดี สร้างการเติบโตแบบธรรมชาติ (Organic Growth) อันนำไปสู่ความสำเร็จอย่างยั่งยืน โดยประเทศไทยมีตัวอย่างของความสำเร็จดังกล่าว อาทิ ย่านการค้าประตูน้ำเพื่อขายเครื่องแต่งกาย ย่านวรจักรเพื่อขายอะไหล่ ย่านบ้านหม้อเพื่อขายเครื่องใช้ไฟฟ้า จากข้อมูลพบว่าย่านการค้าดั้งเดิมส่วนใหญ่มีอายุเฉลี่ยมากกว่า 70 ปีขึ้นไป และผู้ประกอบการในย่านดังกล่าวทำการค้าขายมานานกว่า 30 ปี สะท้อนถึงการตอบโจทย์การทำธุรกิจค้าปลีกแบบยั่งยืนอย่างแท้จริง อย่างไรก็ตามจากสถานการณ์ปัจจุบันในช่วง 3 - 5 ปีที่ผ่านมากลับพบว่า มีผู้พัฒนาอสังหาริมทรัพย์ให้ความสนใจในการลงทุนพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ในพื้นที่ย่านการค้าดั้งเดิมเปลี่ยนเป็นโมเดิร์นเทรดด้วยเม็ดเงินลงทุนไม่ต่ำกว่า 500 - 2,000 ล้านบาท ซึ่งหลายรายไม่ประสบผลสำเร็จ ทั้งนี้ วิทยาลัยการจัดการ มหาวิทยาลัยมหิดล (CMMU) ได้ร่วมกับสถาบันบริหารธุรกิจซาอิด มหาวิทยาลัยอ๊อกซ์ฟอร์ด (SAID Business School, University Of OXFORD) และมูลนิธิมั่นพัฒนา จัดการประชุมวิชาการด้านธุรกิจค้าปลีกในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก ครั้งที่ 8 ภายใต้หัวข้อ "ธุรกิจค้าปลีกในตลาดเกิดใหม่: ความยั่งยืนและความท้าทายด้านการควบคุม" เมื่อเร็วๆนี้ ณ ห้องแกรนด์บอลรูม ชั้นซี โรงแรมแกรนด์เซ็นเตอร์พ้อยท์ เทอมินอล21 สอบถามข้อมูลเพิ่มเติม โทรศัพท์ 02-206-2000 หรือเข้าไปที่www.cmmu.mahidol.ac.th ผศ.ดร. แรนดอล แชนนอน อาจารย์ประจำสาขาการตลาด หลักสูตรนานาชาติ วิทยาลัยการจัดการ มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวว่า คนไทยมีความผูกพันกับการทำธุรกิจค้าปลีกรูปแบบดั้งเดิม (Traditional Trade) อันเป็นยุคแรกของกิจการค้าปลีกจนทำให้เกิดเป็น ย่านการค้าปลีกต่างๆมากมาย โดยแต่ละย่านมักจะมีสินค้าเด่นของแต่ละย่าน ต่อมารูปแบบการค้าปลีกมีการเปลี่ยนแปลงไปตามยุคสมัยและไลฟ์สไตล์ของผู้บริโภค ไม่ว่าจะเป็นด้านสังคม วัฒนธรรม และการดำเนินชีวิตตามสภาพเศรษฐกิจ จนทำให้เกิดรูปแบบการค้าปลีกสมัยใหม่ (Morden Trade) อาทิ ห้างสรรพสินค้า คอมมูนิตี้มอลล์ และไฮเปอร์มาร์เก็ต ซึ่งเป็นแหล่งรวบรวมสินค้าหลากหลายชนิดทั้งสินค้าอุปโภคและบริโภค พร้อมอำนวยความสะดวกให้กับผู้บริโภคในลักษณะครบวงจร (One-stop Shopping) ผศ.ดร. แรนดอล กล่าวต่อเนื่องว่า จากพัฒนาการของย่านการค้าปลีกดังกล่าว ประกอบกับในปัจจุบันยังสามารถพบเห็นย่านการค้าปลีกดั้งเดิมที่ยังคงประสบความสำเร็จจนถึงทุกวันนี้ ทำให้เกิดข้อสงสัยถึงปัจจัยของความสำเร็จอย่างยั่งยืนของย่านการค้าปลีกดั้งเดิม และได้ทำการวิจัยหัวข้อ "การก่อตั้งและความยั่งยืนของย่านค้าปลีกสินค้าชนิดเดียวกันในเมืองใหญ่" (The Formation and Sustainability of Same Product Retail Store Clusters in a Modern Mega City) โดยได้ทำการสำรวจธุรกิจค้าปลีกในกรุงเทพฯที่มีร้านค้าปลีกสินค้าประเภทเดียวกันภายในบริเวณ 5 เมตร จำนวน 14,468 ร้าน ใน 299 ย่านธุรกิจค้าปลีกทั่วกรุงเทพฯ พบว่าการประกอบธุรกิจค้าขายในย่านการค้าดั้งเดิมมีโอกาสที่ยั่งยืนมากกว่าการค้าขายในห้างสรรพสินค้า (Department Store) เห็นได้จากย่านการค้าดั้งเดิมต่างๆในเขตกรุงเทพฯที่มีอายุเฉลี่ยมากกว่า 70 ปีขึ้นไป อาทิ บางลำพู สำเพ็ง โบ๊เบ๊ วรจักร ฯลฯ และมากกว่าครึ่งหนึ่งของผู้ประกอบการค้าปลีกในย่านดังกล่าวทำการค้าขายมานานกว่า 30 ปี ซึ่งผู้ประกอบการค้าปลีกเป็นผู้เช่าพื้นที่และอาจโดนบังคับให้ย้ายออกได้ทุกเมื่อ ทั้งนี้ การรวมตัวกันของผู้ประกอบการค้าปลีกสินค้าประเภทเดียวกันหรือสามารถเรียกว่าลักษณะ "คลัสเตอร์" (Cluster) เป็นการอยู่ร่วมกันแบบส่งเสริมกัน เพิ่มแรงในการดึงดูดผู้บริโภคให้เข้ามาเลือกชมสินค้า สามารถเปรียบเทียบกันระหว่างร้านค้า และให้เกิดการแข่งขันกันภายในย่านการค้าเดียวกัน ซึ่งทำให้เกิดการเจริญเติบโตแบบธรรมชาติ (Organic Growth) และกลายเป็นการเติบโตอย่างยั่งยืน โดยหนึ่งในตัวแปรสำคัญที่ทำให้ย่านธุรกิจค้าปลีกสินค้าประเภทเดียวกันประเภทเดียวกันประสบความสำเร็จในประเทศไทย คือ พฤติกรรมผู้บริโภคของคนไทย ซึ่งเมื่อต้องการซื้อสินค้าประเภทใดประเภทหนึ่ง จะคำนึงถึงย่านการค้าที่มีชื่อเสียงในสินค้าประเภทนั้นๆ (Destination Venue) ก่อนเป็นอันดับแรก เช่น ต้องการซื้อเสื้อผ้าเครื่องแต่งกายจะนึกถึงย่านประตูน้ำ ต้องการซื้ออะไหล่จะนึกถึงย่านวรจักร ต้องการซื้อเครื่องใช้ไฟฟ้าจะนึกถึงย่านบ้านหม้อ ทำให้มีเม็ดเงินหมุนเวียนในย่านการค้าเหล่านี้เป็นอย่างมาก ในทางกลับกันจำนวนผู้บริโภคที่ไปห้างสรรพสินค้า เพื่อเดินเล่น เลือกชมสินค้าต่างๆ และรับประทานอาหารที่ร้านอาหารมีมากกว่าผู้บริโภคที่ไปเพื่อเจาะจงซื้อสินค้า ด้วยเหตุผลต่างๆเหล่านี้ทำให้พื้นที่การค้าในย่านค้าปลีกดั้งเดิมประสบความสำเร็จอย่างยั่งยืน ผศ.ดร. แรนดอล กล่าวเสริม จากโอกาสทางธุรกิจดังกล่าว ทำให้มีนักพัฒนาอสังหาริมทรัพย์จำนวนมากให้ความสนใจในการลงทุนพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ในพื้นที่ย่านการค้าดั้งเดิม มีห้างสรรพสินค้าเกิดขึ้นในย่านต่างๆมากมาย อาทิ จตุจักร วรจักร โบ๊เบ๊ ซึ่งหลายแห่งไม่ประสบความสำเร็จตามเป้าหมายที่ตั้งไว้ กลายเป็นหลุมพรางที่ทำให้นักลงทุนและผู้พัฒนาอสังหาริมทรัพย์ประสบปัญหา โดยเฉพาะอย่างยิ่งการเปลี่ยนย่านธุรกิจค้าปลีกประเภทเดียวกันให้กลายเป็นแหล่งการค้าแบบโมเดิร์นเทรด ที่จำหน่ายสินค้าหลากหลายประเภทและมีร้านอาหารมากมายพร้อมให้บริการ อย่างไรก็ตาม จากข้อมูลพบว่าอัตราค่าเช่าพื้นที่ในห้างสรรพสินค้าชั้นนำมีราคาเฉลี่ย 1,500 บาทต่อตารางเมตร ในขณะที่พื้นที่ในย่านการค้าดั้งเดิม (ที่ขายสินค้าประเภทเดียวกัน) ชื่อดังมีค่าเช่าสูงกว่า 10,000บาทต่อตารางเมตรและยังมีผู้เช่าอย่างหนาแน่น ซึ่งนักพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ควรพิจารณาปัจจัยดังกล่าวเพื่อมองความยั่งยืนในการพัฒนาโครงการอสังหาริมทรัพย์ที่แต่ละโครงการใช้เม็ดเงินลงทุนไม่ต่ำกว่า 500 - 2,000 ล้านบาท ผศ.ดร. แรนดอล กล่าวทิ้งท้าย ทั้งนี้ วิทยาลัยการจัดการ มหาวิทยาลัยมหิดล (CMMU) ได้ร่วมกับสถาบันบริหารธุรกิจซาอิด มหาวิทยาลัยอ๊อกซ์ฟอร์ด (SAID Business School, University Of OXFORD) และมูลนิธิมั่นพัฒนาจัดการประชุมวิชาการด้านธุรกิจค้าปลีกในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก ครั้งที่ 8 ภายใต้หัวข้อ "ธุรกิจค้าปลีกในตลาดเกิดใหม่: ความยั่งยืนและความท้าทายด้านการควบคุม" โดยได้รับเกียรติจากศาสตราจารย์ ริชาร์ด คัทเบิร์ตสัน ผู้ช่วยวิจัยระดับสูง และผู้อำนวยการด้านการวิจัยการจัดการค้าปลีก สถาบันบริหารธุรกิจซาอิด มหาวิทยาลัยอ๊อกซ์ฟอร์ด ในการนำเสนองานวิจัยเรื่อง ประเด็นด้านความยั่งยืนที่เกี่ยวข้องกับการค้าเชิงพาณิชย์และการพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ (Sustainability issues related to commercial trade and property development) ที่มีเนื้อหาเกี่ยวกับการโต้แย้งทฤษฏีการบริหารจัดการอสังหาริมทรัพย์และการค้าปลีกในโลกยุคดิจิทัล สำหรับงานประชุมวิชาการดังกล่าวเป็นความร่วมมือกันครั้งที่ 2 ระหว่างวิทยาลัยการจัดการ มหาวิทยาลัยมหิดล และสถาบันบริหารธุรกิจซาอิด มหาวิทยาลัยอ๊อกซ์ฟอร์ด ซึ่งได้รวบรวมนักวิชาการและผู้เชี่ยวชาญด้านธุรกิจการค้าปลีกในเอเชียแปซิฟิก เพื่อร่วมกันหาแนวทางพัฒนาวงการธุรกิจค้าปลีกให้ประสบความสำเร็จอย่างยั่งยืน ทั้งนี้งานดังกล่าวจัดขึ้นเมื่อเร็วๆนี้ ณ ห้องแกรนด์บอลรูม ชั้นซี โรงแรมแกรนด์เซ็นเตอร์พ้อยท์ เทอมินอล21 สำหรับผู้สนใจสามารถสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ วิทยาลัยการจัดการ มหาวิทยาลัยมหิดล (CMMU) โทรศัพท์ 02-206-2000 หรือเข้าไปที่www.cmmu.mahidol.ac.th

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ