ปภ.รายงานสถานการณ์อุทกภัย 9 จังหวัด พร้อมบูรณาการหน่วยงานเร่งแก้ไขปัญหา – ช่วยเหลือผู้ประสบภัย

ข่าวทั่วไป Monday October 17, 2016 11:35 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--17 ต.ค.--กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย กระทรวงมหาดไทย โดยกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) รายงานสถานการณ์อุทกภัยใน 9 จังหวัด ได้แก่ นครสวรรค์ ชัยนาท สิงห์บุรี อ่างทอง พระนครศรีอยุธยา ปทุมธานี สุพรรณบุรี สระบุรี และพิจิตร พร้อมบูรณาการหน่วยทหารและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องระดมสรรพกำลังและทรัพยากรปฏิบัติการช่วยเหลือผู้ประสบภัยอย่างเต็มกำลัง โดยติดตั้งเครื่องสูบน้ำช่วยระบายน้ำท่วมขังไปยังพื้นที่รองรับน้ำ รวมถึงสำรวจและจัดทำบัญชีผู้ประสบภัย และทรัพย์สินที่เสียหาย เพื่อให้การช่วยเหลือตามระเบียบกระทรวงการคลังฯ พร้อมเร่งซ่อมแซมสาธารณูปโภคและสิ่งสาธารณะประโยชน์ที่ได้รับความเสียหายให้สามารถใช้งานได้ตามปกติโดยเร็ว นายฉัตรชัย พรหมเลิศ อธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) เปิดเผยว่า ฝนที่ตกหนักต่อเนื่องในหลายพื้นที่ส่งผลให้เกิดน้ำไหลหลาก และน้ำเอ่อล้นตลิ่งใน 9 จังหวัด รวม 57 อำเภอ 400 ตำบล 2,375 หมู่บ้าน แยกเป็น ภาคกลาง 8 จังหวัด 45 อำเภอ 340 ตำบล 2,024 หมู่บ้าน ได้แก่ นครสวรรค์ เกิดน้ำไหลหลากเข้าท่วมพื้นที่ 14 อำเภอ ได้แก่ อำเภอท่าตะโก อำเภอลาดยาว อำเภอบรรพตพิสัย อำเภอเมืองนครสวรรค์ อำเภอโกรกพระ อำเภอเก้าเลี้ยว อำเภอชุมแสง อำเภอพยุหคีรี อำเภอตาคลี อำเภอไพศาลี อำเภอตากฟ้า อำเภอแม่วงก์ อำเภอหนองบัว และอำเภอชุมตาบง รวม 104 ตำบล 956 หมู่บ้าน ประชาชนได้รับผลกระทบ 28,243 ครัวเรือน ถนนเสียหาย 534 สาย พื้นที่การเกษตรเสียหายประมาณ 346,563 ไร่ ชัยนาท น้ำหลากเข้าท่วมพื้นที่การเกษตร 6 อำเภอ ได้แก่ อำเภอหนองมะโมง อำเภอหันคา อำเภอสรรคบุรี อำเภอวัดสิงห์ อำเภอมโนรมย์ และอำเภอสรรพยา รวม 30 ตำบล 174 หมู่บ้าน ประชาชนได้รับผลกระทบ 8,708 ครัวเรือน ถนนเสียหาย 234 สาย พื้นที่การเกษตรเสียหายประมาณ 36,135 ไร่ สิงห์บุรี น้ำจากจังหวัดนครสวรรค์และน้ำในแม่น้ำเจ้าพระยาเอ่อล้นตลิ่งเข้าท่วมพื้นที่ 2 อำเภอ ได้แก่ อำเภออินทร์บุรี และอำเภอเมืองสิงห์บุรี รวม 13 ตำบล 54 หมู่บ้าน ประชาชนได้รับผลกระทบ 2,622 ครัวเรือน พื้นที่การเกษตรเสียหายประมาณ 13,876 ไร่ อ่างทอง น้ำจากแม่น้ำเจ้าพระยาและแม่น้ำน้อยเอ่อล้นตลิ่งท่วมพื้นที่ 4 อำเภอ ได้แก่ อำเภอป่าโมก อำเภอเมืองอ่างทอง อำเภอวิเศษชัยชาญ และอำเภอไชโย ประชาชนได้รับผลกระทบ 1,304 ครัวเรือน พื้นที่การเกษตรเสียหายประมาณ 6,361 ไร่ พระนครศรีอยุธยา น้ำจากการระบายน้ำท้ายเขื่อนเจ้าพระยาเอ่อล้นตลิ่งเข้าท่วมพื้นที่ 9 อำเภอ ได้แก่ อำเภอเสนา อำเภอบางบาล อำเภอผักไห่ อำเภอพระนครศรีอยุธยา อำเภอบางไทร อำเภอบางปะอิน อำเภอบางปะหัน อำเภอท่าเรือ และอำเภอมหาราช รวม 120 ตำบล 658 หมู่บ้าน ประชาชนได้รับผลกระทบ 32,831 ครัวเรือน ปทุมธานี น้ำในแม่น้ำเจ้าพระยาเอ่อล้นตลิ่งเข้าท่วมพื้นที่ 3 อำเภอ ได้แก่ อำเภอเมืองปทุมธานี อำเภอสามโคก และอำเภอหนองเสือ ประชาชนได้รับผลกระทบประมาณ 1,980 ครัวเรือน สุพรรณบุรี น้ำในแม่น้ำท่าจีนเอ่อล้นตลิ่งเข้าท่วมพื้นที่ 3 อำเภอ ได้แก่ อำเภอเมืองสุพรรณบุรี อำเภอบางปลาม้า และอำเภอสองพี่น้อง รวม 23 ตำบล 7 ชุมชน 99 หมู่บ้าน ประชาชนได้รับผลกระทบ 8,513 ครัวเรือน สระบุรีน้ำในแม่น้ำป่าสัก และคลองชัยนาท – ป่าสักเอ่อล้นตลิ่งเข้าท่วมพื้นที่ 4 อำเภอ ได้แก่ อำเภอเมืองสระบุรี อำเภอบ้านหม้อ อำเภอหนองโดน และอำเภอดอนพุด รวม 11 ตำบล 35หมู่บ้าน ประชานได้รับผลกระทบ 440 ครัวเรือน ภาคเหนือ 1 จังหวัด 12 อำเภอ 60 ตำบล 351 หมู่บ้าน ได้แก่ พิจิตร น้ำไหลหลากเข้าท่วมพื้นที่ 12 อำเภอ ได้แก่ อำเภอสามง่าม อำเภอบึงนาราง อำเภอโพทะเล อำเภอโพธิ์ประทับช้าง อำเภอเมืองพิจิตร อำเภอบางมูลนาก อำเภอทับคล้อ อำเภอสากเหล็ก อำเภอดงเจริญ อำเภอวชิรบารมี อำเภอตะพานหิน และอำเภอวังทรายพูน รวม 60 ตำบล 351 หมู่บ้าน ประชาชนได้รับผลกระทบ 6,916 ครัวเรือน พื้นที่การเกษตรเสียหายประมาณ 63,660 ไร่ ปัจจุบันสถานการณ์อุทกภัยเริ่มคลี่คลาย ระดับน้ำท่วมลดลง ในทุกจังหวัด ทั้งนี้ กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย ได้ร่วมกับหน่วยทหาร และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งให้การช่วยเหลือผู้ประสบภัย โดยด่วนแล้ว พร้อมประสานการระบายน้ำกับหน่วยชลประทานในพื้นที่อย่างใกล้ชิด และติดตั้งเครื่องสูบน้ำระบายน้ำออกจากพื้นที่ชุมชน เขตเศรษฐกิจไปยังแหล่งรองรับน้ำ รวมถึงแจกจ่ายเครื่องอุปโภคบริโภคบรรเทาความเดือดร้อนในเบื้องต้น อีกทั้งจัดเจ้าหน้าที่พร้อมรถบรรทุกขนาดใหญ่ เรือท้องแบนอำนวยความสะดวกในการสัญจรและขนย้ายสิ่งของแก่ประชาชนในพื้นที่ประสบภัย ตลอดจนประสานหน่วยงานที่เกี่ยวข้องสำรวจและจัดทำบัญชีผู้ประสบภัย และทรัพย์สินที่เสียหาย เพื่อให้การช่วยเหลือตามระเบียบกระทรวงการคลังฯ พร้อมเร่งซ่อมแซมสาธารณูปโภคและสิ่งสาธารณะประโยชน์ให้ใช้งานได้ตามปกติโดยเร็ว ท้ายนี้ ประชาชนที่ได้รับความเดือดร้อนจากสถานการณ์ภัยสามารถติดต่อได้ที่สายด่วนนิรภัย 1784 ตลอด 24 ชั่วโมงเพื่อประสานให้การช่วยเหลือโดยด่วนต่อไป

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ