BRR ลุยเปิดหีบอ้อยธันวาคมนี้ ปลื้มราคาน้ำตาลพุ่งสูงสุดรอบ 5 ปี

ข่าวทั่วไป Wednesday October 26, 2016 15:05 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--26 ต.ค.--Feel Good Together PR BRR ลุยเปิดหีบอ้อยต้นธันวาคมนี้ มั่นใจผลผลิตฤดูการผลิตปี 2559/2560 ทะยานแตะ 2.4 ล้านตันได้ ปลื้มราคาน้ำตาลโลกพุ่งทะยานสูงสุดในรอบ 4 ปี ชี้ภาวะขาดแคลนน้ำตาลโลกยังอยู่ต่อเนื่องอีก 2 ปี ส่วนปริมาณน้ำตาลทรายในประเทศมั่นใจไม่มีปัญหาขาดแคลน นายภัทรพงศ์ พงศ์สวัสดิ์ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการอาวุโส บริษัท น้ำตาลบุรีรัมย์ จำกัด (มหาชน) หรือ BRR เปิดเผยว่า บริษัทจะเริ่มเปิดรับหีบอ้อยเพื่อผลิตน้ำตาลในรอบฤดูการผลิตปี 2559/2560 ในวันที่ 1 ธันวาคม 2559 เป็นต้นไป ซึ่งเป็นไปตามปกติของฤดูกาลผลิตอ้อยที่จะมีผลผลิตออกมาในช่วงดังกล่าว โดยปีนี้ได้ตั้งเป้าปริมาณอ้อยเข้าหีบราว 2.3 – 2.4 ล้านตัน เพิ่มขึ้นจาก 2.06 ล้านตันในปีก่อน และตั้งเป้าผลิตน้ำตาลทรายได้ 2.6 – 2.7 แสนตัน จากปีก่อนที่อยู่ที่ 2.3 แสนตัน หรือเพิ่ม 3-4 หมื่นตัน เนื่องจากบริษัทได้มีการเพิ่มพื้นที่เพาะปลูกอ้อยเป็น 2 แสนไร่ในปีนี้ จาก 1.9 แสนไร่ในปีที่ผ่านมา ประกอบกับมั่นใจว่าจะได้ผลผลิตต่อไร่สูงขึ้น อันเป็นผลมาจากการที่บริษัทได้ให้ความสำคัญกับการบริหารจัดการไร่อ้อยโดยเน้นการให้ความรู้กับเกษตรกรชาวไร่อ้อยกว่า 12,000 ราย อย่างต่อเนื่อง ตั้งแต่การเตรียมดิน การปลูก การบำรุงรักษา การให้ปุ๋ย และกำหนดวันตัดอ้อย เพื่อเป็นหลักประกันว่าจะได้อ้อยที่มีคุณภาพสูงสุดและสะอาดที่สุดเมื่อมาถึงโรงงาน โดยประเมินค่าความหวานในปีผลผลิตที่จะถึงนี้เพิ่มขึ้นเป็น 13.5 C.C.S จากเดิม 13 C.C.S "การหีบอ้อยปีนี้เราเพิ่มเป้าจากเดิมค่อนข้างเยอะ หรือราว 3 - 4 แสนตัน เนื่องจากผลผลิตอ้อยในพื้นที่บุรีรัมย์ค่อนข้างที่จะมีประสิทธิภาพ เกษตรกรดูแลเอาใจใส่อย่างดีทั่วถึง และมีจำนวนพื้นที่เพาะปลูกเพิ่มขึ้น ขณะที่สภาพอากาศในปัจจุบันก็ค่อนข้างที่จะเอื้ออำนวยต่อการเติบโตของอ้อย ประกอบกับราคาน้ำตาลทรายในตลาดโลกอยู่ในช่วงที่ปรับตัวขึ้น ซึ่งจะส่งผลดีกับตัวเกษตรกรชาวไร่อ้อยและบริษัท" นายภัทรพงศ์ กล่าว นายภัทรพงศ์ ประเมินว่า ราคาน้ำตาลโลกในปีการผลิต 2559/2560 น่าจะอยู่ในระดับ 22-25 เซนต์ต่อปอนด์ ซึ่งสูงที่สุดในรอบ 4 ปี และนับเป็นก้าวปรับตัวที่ค่อนข้างเร็วและแรง จากปีก่อนที่ราคาร่วงลงไปแตะ 10 เซนต์ต่อปอนด์ในช่วงเดือนสิงหาคม พร้อมกับให้ความเห็นว่า ราคาน้ำตาลโลกยังคงอยู่ในทิศทางขาขึ้น เนื่องจากผลิตน้ำตาลทรายของโลกยังอยู่ในภาวะขาดดุล หรือ ปริมาณความต้องการบริโภคน้ำตาลทรายสูงกว่าผลผลิต โดยประเมินภาวะขาดดุลน้ำตาล ในปี 2559จะอยู่ที่ราว 6 ล้านตัน และปี 2560 ยังคงจะขาดดุลต่อเนื่องอีก 5 ล้านตัน ซึ่งเป็นผลสืบเนื่องมาจากปัญหาสภาพภูมิอากาศในประเทศผู้ผลิตน้ำตาลที่สำคัญในโลก เช่น ไทย อินเดีย และ จีน ขณะที่ความต้องการบริโภคน้ำตาลทรายของโลกยังเติบโตปีละ 1.8-2% อย่างต่อเนื่อง ตามการบริโภคที่สูงขึ้น ประกอบกับเศรษฐกิจโลกเริ่มฟื้นตัว ซึ่งจะส่งผลให้ราคาน้ำตาลทรายในช่วง 2 ปีนี้ดีอย่างต่อเนื่อง "รอบปี 2558/2559 ถือว่าเป็นปีที่ราคาน้ำตาลตกต่ำอย่างมาก แต่จะเห็นได้ว่าผ่านจุดต่ำสุดไปแล้ว และปีนี้ทุกอย่างพลิกกลับมาอยู่ในทิศทางที่เป็นประโยชน์กับบริษัท ทั้งในส่วนของปริมาณผลผลิตที่เพิ่มขึ้น และราคาน้ำตาลที่ทะยานสูงสุดในรอบ 4 ปี ซึ่งจะส่งผลดีต่อผู้ผลิตน้ำตาลทราย รวมไปถึงเกษตรกรชาวไร่อ้อยด้วย" นายภัทรพงศ์ กล่าว นายภัทรพงศ์ บอกด้วยว่า แม้ว่าภาวะน้ำตาลทรายในตลาดโลกจะขาดแคลน แต่มั่นใจว่าปริมาณน้ำตาลทรายสำหรับการบริโภคในประเทศไม่น่าจะมีปัญหา เนื่องจาก ไทยเป็นประเทศผู้ส่งออกใหญ่อันดับที่ 2 ของโลก รองจากประเทศบราซิล และปัจจุบัน โรงงานน้ำตาลทุกโรง ยังต้องมีการกันส่วนของการบริโภคภายในประเทศไว้ให้เพียงพอต่อความต้องการของประชาชนและอุตสาหกรรมต่างๆ

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ