วธ.รวมใจ 5 ศาสนา-ศิลปินแห่งชาติ-ศิลปินพื้นบ้าน-เครือข่ายศิลปวัฒนธรรม น้อมรำลึกพระมหากรุณาธิคุณ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช

ข่าวทั่วไป Wednesday October 26, 2016 12:45 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--26 ต.ค.--กลุ่มประชาสัมพันธ์ กระทรวงวัฒนธรรม พลเอก ธนะศักดิ์ ปฏิมาประกร รองนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า กระทรวงวัฒนธรรม(วธ.) ร่วมกับจังหวัดปทุมธานี เครือข่ายศิลปินและเครือข่าย วธ.จัดกิจกรรม "รวมใจเครือข่ายศาสนา ศิลปะและวัฒนธรรม รำลึกพระมหากรุณาธิคุณพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช" วันที่ 26 ตุลาคม 2559 เวลา 08.30น. ณ หอจดหมายเหตุแห่งชาติเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จ พระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช อำเภอคลองหลวง จังหวัดปทุมธานี เพื่อน้อมเกล้าน้อมกระหม่อมถวายความอาลัยและน้อมรำลึกในพระมหากรุณาธิคุณของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพล อดุลยเดชที่พระองค์ทรงมีคุณูปการต่อชาติ ประชาชน และงานด้านศาสนา ศิลปะและวัฒนธรรม อีกทั้งทรงได้รับถวายพระราชสมัญญา "อัครศิลปิน" และ "พระบิดาแห่งการอนุรักษ์มรดกไทย" ดังนั้น วธ. จึงร่วมกับผู้นำศาสนาจัดกิจกรรม 5 ศาสนา เพื่อถวายเป็นพระราชกุศล ได้แก่ ศาสนาพุทธ ศาสนาอิสลาม ศาสนาคริสต์ ศาสนาพรหมณ์-ฮินดู และศาสนาซิกข์ รวมทั้งจัดกิจกรรมน้อมรำลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช โดยมีนายเนาวรัตน์ พงษ์ไพบูลย์ ศิลปินแห่งชาติ สาขาวรรณศิลป์ พ.ศ. 2536 อ่านบทกวีสดุดีถวายความอาลัยและ นายธนิสร์ ศรีกลิ่นดี เป่าขลุ่ยบรรเลงประกอบการสดุดี ตลอดจนมีกิจกรรมแสดงความไว้อาลัยจากเครือข่ายศิลปินพื้นบ้านทั่วประเทศ พลเอก ธนะศักดิ์ กล่าวต่อว่า นอกจากนี้ยังมีการจัดกิจกรรมบันทึกภาพประวัติศาสตร์แสดงสัญลักษณ์ "๙ ทรงสถิตในดวงใจไทยนิรันดร์กาล" จากรัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม ผู้บริหารระดับสูง ข้าราชการ เจ้าหน้าที่ของ วธ. ศิลปินแห่งชาติ ศิลปินพื้นบ้าน เครือข่ายศาสนา ศิลปะและวัฒนธรรม ประชาชนในจังหวัดปทุมธานี เข้าร่วมกว่า 15,000 คน เพื่อบันทึกภาพประวัติศาสตร์ของประเทศ พร้อมทั้งร่วมร้องเพลงสรรเสริญพระบารมี และเพลงพ่อแห่งแผ่นดิน ทั้งนี้หอจดหมายเหตุแห่งชาติเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดชที่ใช้เป็นสถานที่จัดกิจกรรมในครั้งนี้ จัดตั้งขึ้นเนื่องในโอกาสมหามงคลที่ทรงครองสิริราชสมบัติครบ 50 ปี เมื่อปี 2539 โดยกรมศิลปากร มีแนวคิดรวบรวมเอกสารหลักฐานที่เกี่ยวเนื่องในพระราชประวัติพระราชกรณียกิจของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว มาจัดเก็บและอนุรักษ์ไว้เป็นมรดกทางวัฒนธรรมของชาติ โดย วธ.มอบหมายให้กรมศิลปากร จัดทำโครงการหอจดหมายเหตุแห่งชาติ (กาญจนาภิเษก) จังหวัดปทุมธานีขึ้น เมื่อปี 2536 ซึ่งพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานชื่อว่า "หอจดหมายเหตุแห่งชาติเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช"

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ