กระทรวงเกษตรฯ แนะเกษตรกรเฝ้าระวังโรคราสนิมหม่อนปลายฝนต้นหนาว

ข่าวทั่วไป Friday October 28, 2016 16:39 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--28 ต.ค.--สำนักงานปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ นายสุรพล จารุพงศ์ โฆษกกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยว่า กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ โดย กรมหม่อนไหม เล็งเห็นว่าฤดูฝนช่วงนี้เกิดภาวะน้ำท่วมอย่างหนัก ทำให้ส่งผลกระทบต่อพื้นที่ทางการเกษตรหลายแห่ง แต่สำหรับพื้นที่ปลูกหม่อนนั้น ไม่ได้รับผลกระทบจากภาวะน้ำท่วม เนื่องจากพื้นที่ปลูกหม่อนส่วนใหญ่จะอยู่ในพื้นที่ดอนที่น้ำท่วมไม่ถึง ส่วนในพื้นที่ลุ่มที่กรมหม่อนไหมได้ไปส่งเสริมสร้างอาชีพปลูกหม่อนเลี้ยงไหมตามนโยบายรัฐบาล ก็ยังไม่พบว่ามีภาวะน้ำท่วม และส่งผลกระทบต่อแปลงหม่อนแต่อย่างใด ทั้งนี้ช่วงปลายฤดูฝนเข้าสู่ฤดูหนาว ทำให้อากาศเย็นลง และมีความชื้นสูง เป็นช่วงที่มีศัตรูหม่อนที่สำคัญชนิดหนึ่งระบาด คือ โรคราสนิม โดยสปอร์ของเชื้อรา จะแพร่กระจายไปกับฝนและลม ดังนั้น เกษตรกรผู้ปลูกหม่อนควรหมั่นสังเกตความผิดปกติของใบหม่อนในช่วงเวลาดังกล่าวอย่างใกล้ชิด โดยใบหม่อนที่แสดงอาการของโรคนี้จะเห็นเป็นจุดเล็กๆ สีเหลือง หรือสีน้ำตาลปนแดง และบวมขึ้นเป็นตุ่มแผลใหญ่ขึ้น เมื่อเนื้อเยื่อใบหม่อนถูกทำลายและแตกออกจะเห็นสปอร์ของเชื้อรามีลักษณะเป็นผงสีน้ำตาลปนแดงคล้ายสนิมอยู่บนตุ่มแผล กระจัดกระจายทั่วไปด้านใต้ใบ หากระบาดรุนแรงจะทำให้ใบหม่อนมีสีเหลืองทั้งใบและแห้งเป็นสีน้ำตาลและร่วงหล่น โดยความรุนแรงของโรคนั้นขึ้นอยู่กับปัจจัยหลายอย่าง เช่น พันธุ์หม่อน การบริหารจัดการแปลงหม่อน เป็นต้น ซึ่งใบหม่อนที่แสดงอาการรุนแรงจะมีคุณภาพต่ำไม่เหมาะสมที่จะนำไปเลี้ยงไหม ด้าน นางสุดารัตน์ วัชรคุปต์ เหล่าวิชยา อธิบดีกรมหม่อนไหม กล่าวว่า การป้องกันและกำจัดโรคราสนิมหม่อนนั้น ควรใช้วิธีผสมผสานในการบริหารจัดการแปลงหม่อน โดยเริ่มตั้งแต่การเลือกปลูกหม่อนพันธุ์ที่ทนทาน ต่อโรคราสนิม เช่น พันธุ์คุณไพ พันธุ์สกลนคร พันธ์ศรีสะเกษ 84 เป็นต้น โดยเฉพาะพันธุ์ศรีสะเกษ 84 เป็นพันธุ์ล่าสุดที่กรมหม่อนไหมได้ศึกษาวิจัยพบว่า มีความทนทานต่อโรคราสนิม ให้ผลผลิตใบสูง และท่อนพันธุ์แตกรากเจริญเติบโตได้ดี สำหรับการปลูกหม่อน เกษตรกรควรลงปลูกแบบแถวเดี่ยว เพิ่มระยะปลูกหม่อนให้มากขึ้น โดยระยะห่างระหว่างต้นหม่อนต้องไม่น้อยกว่า 75 เซนติเมตร ระยะห่างระหว่างแถวไม่น้อยกว่า 2 เมตร ควรตัดแต่งกิ่งหม่อนให้โปร่งอยู่เสมอ และไม่ปล่อยให้ใบหม่อนมีอายุแก่เกิน 3 เดือน ส่วนกิ่งและใบหม่อนที่ตัดทิ้งแล้วควรนำไปเผาทำลาย ไม่ควรนำกิ่งที่ตัดทิ้งแล้วมาคลุมแปลงหม่อน โดยเฉพาะกิ่งหม่อนที่มีเชื้อราโรคราสนิมเข้าทำลาย เนื่องจากจะเป็นแหล่งเพาะอาศัยของเชื้อโรคและระบาดต่อไปอย่างรุนแรงได้ นอกจากนี้ กรมหม่อนไหมได้แนะนำเกษตรกรปลูกในพื้นที่เขตเกษตรอาศัยน้ำฝน ที่มีการระบาดของโรคราสนิม ทั้งในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคเหนือและภาคใต้ ซึ่งผู้สนใจสามารถติดต่อขอพันธุ์หม่อนได้ที่ ศูนย์หม่อนไหมเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ศรีสะเกษ ตั้งอยู่ที่ 53 หมู่ 7 ตำบลหมากเขียบ อำเภอเมือง จังหวัดศรีสะเกษ โทรศัพท์ 0-4491-6659 หรือติดต่อสอบถามรายละเอียดเบื้องต้นได้ที่ศูนย์หม่อนไหมเฉลิมพระเกียรติฯ อื่นๆ ที่อยู่ในพื้นที่ใกล้บ้าน

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ