ศิริราชห่วงใย ให้ความรู้คนไทยเกี่ยวกับโรคลมพิษ

ข่าวทั่วไป Tuesday November 1, 2016 12:32 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--1 พ.ย.--สปาร์ค คอมมิวนิเคชั่นส์ เนื่องในวันโรคลมพิษโลก หน่วยงานที่เกี่ยวข้องจึงมีการรณรงค์เพื่อสร้างความรู้และความเข้าใจที่ถูกต้อง โดยในปีนี้โรงพยาบาลศิริราชได้จัดกิจกรรม "ศิริราชห่วงใย ชวนใส่ใจ โรคลมพิษ" ซึ่งมีทั้งการบรรยายให้ความรู้เกี่ยวกับโรคลมพิษและยา รวมถึงการทดสอบต่างๆ เพื่อร่วมเป็นส่วนหนึ่งของการรณรงค์ให้ตระหนักถึงความสำคัญของโรคลมพิษ พร้อมส่งเสริมให้คนไทยหันมาให้ความสนใจกับโรคลมพิษ ที่แม้จะไม่เป็นอันตรายถึงชีวิตแต่นับเป็นเรื่องใกล้ตัวที่มีผลเสียต่อการดำเนินชีวิตของผู้ป่วยได้ โดยภายในงานได้มีกลุ่มผู้ป่วย บุคคลทั่วไป และบุคลากรทางแพทย์เข้าร่วมงานจำนวนกว่า 120 คน ศ.พญ.กนกวลัย กุลทนันทน์ หัวหน้าภาควิชาตจวิทยา คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล กล่าวว่า โรคลมพิษเป็นโรคหนึ่งที่คนในสังคมรู้จักกันเป็นอย่างดี แต่น้อยคนนักที่จะรู้ว่าโรคลมพิษสามารถแบ่งออกได้หลายประเภท ทั้งยังมีความรุนแรงของอาการที่แตกต่างกัน ดังนั้นการสร้างความเข้าใจเกี่ยวกับโรคลมพิษอย่างถูกต้องจึงเป็นสิ่งที่คนไทยไม่ควรละเลยเป็นอย่างยิ่ง เพราะโรคดังกล่าวอาจเกิดขึ้นกับคุณหรือคนใกล้ชิดก็เป็นได้ โรคลมพิษ (Urticaria) เป็นโรคที่ผิวหนังมีลักษณะเป็นผื่นหรือปื้นนูนแดง (wheals) ไม่มีขุย มีขนาดต่าง ๆ ได้ตั้งแต่เล็กถึงใหญ่ มีอาการคัน เกิดขึ้นเร็วและกระจายได้ทั่วตัว แต่ละผื่นมักจะคงอยู่ไม่นาน โดยมากมักไม่เกิน 24 ชั่วโมง ผื่นนั้นก็จะราบไปโดยไม่มีร่องรอย แต่ก็อาจมีผื่นใหม่ขึ้นที่อื่น ๆ ได้ ผู้ป่วยบางรายอาจมีริมฝีปากบวม ตาบวม(Angioedema) ในบางรายอาจมีอาการปวดท้อง แน่นจมูก คอ หายใจไม่สะดวก รายที่เป็นรุนแรงอาจมีอาการหอบหืด เป็นลมจากความดันโลหิตต่ำได้ แต่ผู้ป่วยกลุ่มที่เป็นรุนแรงนี้ มีเพียงจำนวนน้อย โรคลมพิษแบ่งเป็น 2 กลุ่มใหญ่ๆ คือ · โรคลมพิษเฉียบพลัน คือ ผื่นลมพิษเป็นมาไม่เกิน 6 สัปดาห์ · โรคลมพิษเรื้อรังคือมีอาการเป็นๆ หายๆ อย่างน้อย 2 ครั้ง/สัปดาห์ แต่มีอาการอย่างต่อเนื่องนานถึง 6 สัปดาห์ขึ้นไป จากข้อมูลทางสถิติของผู้ป่วยโรคลมพิษเรื้อรังในประเทศไทย ซึ่งเข้ารับการรักษาตัวที่คลินิกโรคลมพิษ ภาควิชาตจวิทยา โรงพยาบาลศิริราช พบว่า ในกลุ่มของผู้ป่วยที่มาพบแพทย์ด้วยโรคลมพิษเรื้อรัง ส่วนใหญ่เป็นเพศหญิง มีอายุเฉลี่ยอยู่ที่ 35 ปี ซึ่งตลอดช่วงชีวิตของคนทั่วไปจะมีโอกาสเกิดโรคลมพิษเรื้อรัง ได้ประมาณร้อยละ 0.5-1 โรคลมพิษเรื้อรัง มักจะส่งผลให้ผู้ป่วยเป็นกังวลที่ต้องคอยระวังการดำเนินชีวิตตลอดเวลา การรักษานอกจากยาแล้ว การหลีกเลี่ยงจากภาวะบางอย่างที่อาจกระตุ้นให้ผื่นที่มีอยู่มีอาการมากขึ้น จึงอาจเป็นวิธีการช่วยเบื้องต้นที่ดี ตัวอย่างเช่น 1. อาหาร ผู้ป่วยที่มีผื่นลมพิษเรื้อรังบางราย อาจมีอาการลมพิษเห่อขึ้นเมื่อรับประทานอาหารบางชนิด 2. ยา ยาบางชนิดเช่น ยาต้านอักเสบ (NSAIDs) แอสไพริน อาจทำให้ผื่นลมพิษเห่อขึ้นได้ ประมาณร้อยละ 20-30 ของผู้ป่วยโรคลมพิษเรื้อรังในช่วงที่โรคกำลังเป็นมาก 3. ตัวกระตุ้นทางกายภาพ เช่น การกดรัดของเสื้อผ้าที่เป็นผ้ายืดหรือเข็มขัด ก็อาจผื่นลมพิษเห่อขึ้นได้ในผู้ป่วยบางราย 4. แอลกฮอลล์ เครื่องดื่มแอลกอฮอลล์สามารถกระตุ้นให้ผื่นลมพิษเห่อได้ เนื่องจากแอลกอฮอลล์จะทำให้หลอดเลือดมีการขยายตัวขึ้น 5. การติดเชื้อไวรัส อาจทำให้ผื่นลมพิษเห่อขึ้นได้ในผู้ป่วยบางราย 6. ความเครียด อาจทำให้ผื่นลมพิษเห่อขึ้นได้ในผู้ป่วยบางราย ขณะเดียวกันโรคลมพิษเองก็ทำให้ผู้ป่วยมีความเครียดด้วยเช่นกัน "สำหรับแนวทางการรักษาโรคลมพิษเรื้อรัง ในกรณีที่สามารถสืบค้นจนทราบสาเหตุและแก้ไขสาเหตุได้ เมื่อรับประทานยาต้านฮิสตามีนไปแล้วผื่นลมพิษมักหายได้เร็ว แต่หากหาสาเหตุไม่พบหรือเป็นสาเหตุที่แก้ไขไม่ได้โดยง่าย แพทย์จำเป็นต้องให้ยาตั้งแต่ 1 ชนิดขึ้นไปเพื่อควบคุมอาการผื่นลมพิษให้ได้และเมื่อควบคุมอาการได้แล้วจึงค่อย ๆ ลดยาลง เพื่อควบคุมโรคในระยะยาว จนถึงพยายามหยุดยา ทั้งนี้ผู้ป่วยบางรายอาจมีอาการเรื้อรังนานเป็นปี ซึ่งในปัจจุบันมีทางเลือกในการรักษาที่มากขึ้นทั้งยารับประทานและยาฉีด เพื่อช่วยบรรเทาอาการและช่วยให้ผู้ป่วยมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นได้" ศ.พญ.กนกวลัย กล่าวเพิ่มเติม นอกจากนี้ภายในงานยังมีสถานีให้ความรู้เกี่ยวกับโรคลมพิษ วิธีการทดสอบผิวหนัง และการรักษา จำนวน 6 สถานี ประกอบด้วย สถานีที่ 1 - การทดสอบภูมิแพ้ทางผิวหนังโดยวิธี Autologous Serum Skin Test (ASST) สถานีที่ 2 - การทดสอบภูมิแพ้ทางผิวหนังโดยวิธีสะกิด (Skin Prick Testing) สถานีที่ 3 – การทดสอบผื่นลมพิษจากความเย็น สถานีที่ 4 – การให้ความรู้เรื่องโรคลมพิษจากแสงแดด สถานีที่ 5 – การให้ความรู้เกี่ยวกับยาต้านฮิสตามีนชนิดรับประทาน และสถานีที่ 6 – การให้ความรู้เกี่ยวกับยาฉีดที่ใช้รักษาโรคลมพิษ ซึ่งทุกสถานีได้เปิดโอกาสให้ผู้เข้าร่วมงานได้สัมผัสประสบการณ์ตรงจากอุปกรณ์ที่ใช้เพื่อการวินิจฉัย ยาเพื่อการรักษา ทั้งยังสามารถสอบถามแพทย์ผู้เชี่ยวชาญได้อย่างใกล้ชิดอีกด้วย

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ