กระทรวงเกษตรฯ รุกให้ความช่วยเหลือทุกพื้นที่ที่ประสบน้ำท่วม เผยสถานการณ์น้ำภาพรวมปีนี้ดีกว่าปีที่แล้ว สั่งทุกหน่วยงานเกาะติดสถานการณ์น้ำใกล้ชิด พร้อมปฏิบัติการฝนหลวงเติมน้ำในเขื่อนที่มีน้ำน้อยอย่างต่อเนื่อง

ข่าวทั่วไป Wednesday November 2, 2016 17:14 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--2 พ.ย.--สำนักงานปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ พลเอก ฉัตรชัย สาริกัลยะ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยว่า ขณะนี้สถานการณ์น้ำทางภาคเหนือไม่ค่อยมีปัญหาแล้ว แต่จะมีปัญหาน้ำท่วมในพื้นที่ลุ่มน้ำเจ้าพระยา คือ พื้นที่บริเวณคลองโผงเผง ซึ่งขณะนี้ระดับน้ำได้ลดลงแล้ว อย่างไรก็ตาม ในการระบายน้ำต้องคำนึงถึงการรักษาระบบนิเวศ โดยได้สั่งการให้กรมชลประทานปรับการระบายน้ำจากท้ายเขื่อนพระราม 6 ให้อยู่ในระดับที่เหมาะสม รวมทั้งสั่งการให้นำเครื่องสูบน้ำเร่งเข้าช่วยเหลือในพื้นที่ที่มีน้ำท่วมขัง ซึ่งคาดว่าสถานการณ์น้ำจะกลับเข้าสู่ภาวะปกติโดยเร็ว ทั้งนี้ได้สั่งการให้ทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด ขณะที่ทางภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนล่างสถานการณ์น้ำเริ่มดีขึ้น เนื่องจากมีฝนตกซึ่งช่วยเพิ่มปริมาณน้ำในอ่างเก็บน้ำลำพระเพลิง ลำตะคอง ลำมูลบน และลำแชะ ควบคู่กับการทำปฏิบัติการฝนหลวงเพิ่มเติมน้ำในอ่างเก็บน้ำที่มีน้ำน้อย ด้าน นายสัญชัย เกตุวรชัย อธิบดีกรมชลประทาน เปิดเผยว่า สถานการณ์น้ำภาพรวมในปีนี้มีปริมาณน้ำดีกว่าปีที่แล้ว โดยขณะนี้อ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ จำนวน 34 อ่าง มีปริมาณน้ำดี จำนวน 11 แห่ง มีน้ำพอใช้จำนวน 7 แห่ง และมีปริมาณน้ำน้อย จำนวน 2 แห่ง คือ อ่างเก็บน้ำปราณบุรี และอ่างเก็บน้ำบางลาง โดยอ่างเก็บน้ำปราณบุรีขณะนี้เป็นช่วงที่ฤดูฝนในพื้นที่ภาคใต้ตอนบน ซึ่งคาดว่าในช่วงประมาณ 1-2 เดือน ปริมาณน้ำในเขื่อนปราณบุรี และบางลาง จะมีปริมาณน้ำเพิ่มมากขึ้น โดยในภาพรวมปริมาณน้ำในอ่างทั้งขนาดใหญ่ และกลางทั้งหมด มีมากกว่าปีที่แล้ว จำนวน 8,800 ล้าน ลบ.ม. ขณะที่อ่างเก็บน้ำลำตะคอง ลำพระเพลิง มูลบน และลำแชะ ในช่วงที่ผ่านมามีปริมาณน้ำไหลเข้าอ่างเก็บน้ำพอสมควร เนื่องจากกรมฝนหลวงและการบินเกษตรได้เข้าไปปฏิบัติการฝนหลวง อีกทั้งร่องความกดอากาศบางส่วนได้พาดผ่านในพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนใต้ ส่งผลให้ปริมาณน้ำทั้ง 4 เขื่อนดังกล่าวมีสถานการณ์น้ำดีขึ้น ส่วนสถานการณ์น้ำในฤดูแล้งในปีต่อไป คาดว่าทั้งในด้านการอุปโภคและบริโภคจะไม่มีปัญหา โดยทั้ง 4 เขื่อนมีน้ำใช้การได้อย่างเพียงพอ ขณะที่สถานการณ์น้ำใน 4 เขื่อนหลัก ได้แก่ เขื่อนภูมิพล สิริกิติ์ แควน้อยบำรุงแดน และป่าสักชลสิทธิ์ (ณ วันที่ 1 พ.ย.59) มีน้ำใช้การถึง 9,700 ล้าน ลบ.ม. หรือร้อยละ 53 มากกว่าเมื่อปีที่แล้วในวันเดียวกัน (ณ วันที่ 1 พ.ย.58) ที่มีปริมาณน้ำเพียง 4,247 ล้าน ลบ.ม. โดยปริมาณน้ำเพิ่มขึ้น 5,000 กว่าล้าน ลบ.ม. สำหรับสถานการณ์น้ำท่วมบริเวณคลองโผงเผง อ.เสนา จ.พระนครศรีอยุธยา นั้น คาดว่าในวันพรุ่งนี้ระดับน้ำในคลองโผงเผงจะต่ำกว่าตลิ่งแล้ว โดยกรมชลประทานได้ปรับลดการระบายน้ำจากท้ายเขื่อนพระราม 6 ซึ่งได้ระบาย 80 ลบ.ม. ต่อวินาที ให้เหลือ 20 ลบ.ม.ต่อวินาที ทั้งนี้ ต้องคำนึงถึงระบบนิเวศวิทยาด้วย แม้กรมชลประทานอยากจะลดระดับน้ำมากกว่านั้น แต่เนื่องจากในพื้นที่ท้ายเขื่อนพระราม 6 ต้องใช้น้ำในการรักษาระบบนิเวศวิทยา จึงไม่สามารถลดการระบายน้ำได้ทั้งหมดทันที ส่วนสถานการณ์น้ำท่วมที่ จ.เพชรบุรี เนื่องจากมีฝนตกในพื้นที่ด้านท้ายเขื่อนแก่งกระจาน ในช่วงวันที่ 26 -29 ต.ค.59 ที่ผ่านมา และทำให้เขื่อนแม่ประจัน ซึ่งเป็นเขื่อนขนาดกลาง มีปริมาณน้ำเต็มอ่างนั้น สาเหตุที่เกิดน้ำท่วมในพื้นที่ด้านท้ายเขื่อนแก่งกระจานเนื่องจากมีฝนตกหนักทำให้ปริมาณน้ำไหลลงเข้าพื้นที่ท้ายเขื่อน จนมาถึงเขื่อนเพชร ซึ่งมีประตูระบายน้ำที่ควบคุมการระบายเป็นปกติ อย่างไรก็ตาม เนื่องจากคันกั้นน้ำบางส่วนเกิดความชำรุด ทำให้น้ำบางส่วนไหลเข้าในบริเวณตัวเมือง จ.เพชรบุรี ซึ่งขณะนี้กรมชลประทานได้ดำเนินการปิดช่วงจุดที่คันกั้นน้ำที่ชำรุดพร้อมทั้งได้ซ่อมคันกั้นน้ำเรียบร้อยแล้ว รวมทั้งนำเครื่องสูบน้ำเข้าไปช่วยเหลือประชาชนในพื้นที่ ทั้งนี้ หากไม่มีฝนตกคาดว่าสถานการณ์จะกลับเข้าสู่ภาวะปกติ ส่วนที่ อ.หัวหิน จ.ประจวบคีรีขันธ์ ที่มีฝนตกหนัก กรมชลประทานได้ประสานกับเทศบาล อ.หัวหิน เพื่อเตรียมเครื่องสูบน้ำติดตั้งตามจุดที่น้ำท่วมขังแล้วเช่นกัน ด้าน ดร.สุรสีห์ กิตติมณฑล รองอธิบดีกรมฝนหลวงและการบินเกษตร รักษาราชการแทนอธิบดีกรมฝนหลวงและการบินเกษตร กล่าวว่า จากสถานการณ์อ่างเก็บน้ำในภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนใต้ที่มีปริมาณน้ำน้อย กรมฝนหลวงและการบินเกษตรได้มีหน่วยปฏิบัติการ 3 หน่วย คือ หน่วย จ.นครราชสีมา ขอนแก่น และบุรีรัมย์ โดยตั้งแต่วันที่ 1 ต.ค.-1 พ.ย.59 ได้มีการปฏิบัติการขึ้นบิน จำนวน 146 เที่ยวบิน จำนวนขึ้นบิน 26 วัน มีฝนตกทั้ง 26 วัน ส่วนผลการปฏิบัติการเติมน้ำในเขื่อนลำตะคอง มีปริมาณน้ำไหลเข้าเขื่อน ตั้งแต่วันที่ 1 ต.ค.- 1 พ.ย.59 อยู่ที่ร้อยละ 34.26 เขื่อนลำพระเพลิง ร้อยละ 39.79 เขื่อนมูลบน ร้อยละ 47.73 และเขื่อนลำแชะ ร้อยละ 32.12 โดยเขื่อนมูลบน และลำแชะ มีปริมาณน้ำเก็บกักในปี 2559 สูงกว่าปี ที่แล้ว แต่เขื่อนลำตะคอง และลำพระเพลิง ยังมีปริมาณน้อยกว่าปี 2558 อย่างไรก็ตาม การปฏิบัติการฝนหลวงจะยังคงดำเนินการต่อเนื่องไปจนกว่าสภาพอากาศจะไม่เอื้ออำนวย ซึ่งกรมฝนหลวงฯได้ติดตามสภาพอากาศและพร้อมที่จะปฏิบัติการทั้ง 3 หน่วยอย่างต่อเนื่องเพื่อเติมน้ำในเขื่อนที่มีปริมารน้ำน้อย ในส่วนเขื่อนแก่งกระจาน ปราณบุรี และบางลาง ได้ปฏิบัติการเช่นกัน โดยสามารถเพิ่มน้ำในเขื่อนได้ร้อยละ 20.11 ร้อยละ 24.09 และร้อยละ 12.98 ตามลำดับ

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ