ค่ายบ่มเพาะต้นกล้า“พฤติกรรมดี”

ข่าวทั่วไป Thursday November 10, 2016 12:04 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--10 พ.ย.--มูลนิธิสยามกัมมาจล มูลนิธิสยามกัมมาจล "ค่ายนักถักทอชุมชนรุ่นเยาว์" 15 วัน พิสูจน์พฤติกรรมดีสร้างได้ถ้าผู้ใหญ่ช่วยกัน ด้วยแนวคิด เด็ก เยาวชน ต้องถูก "ฝึกฝืน" ตนในการฝึกความเคยชินกับพฤติกรรมดีจนกลายเป็นนิสัย เพื่อเติบโตเป็นผู้ใหญ่ที่ดีในวันข้างหน้า 4 อปท.รวมพลังสร้างสรรค์เด็กรุ่นใหม่ เมื่อวันที่ 15 - 29 ตุลาคม 2559 ที่ผ่านมา เป็นระยะเวลา 15 วัน ที่เด็กและเยาวชนจากในระบบและนอกระบบ จำนวน 40 คนจาก 4 พื้นที่ จ.สุรินทร์ ได้แก่ ตำบลหนองอียอ อำเภอสนม ตำบลสลักได อำเภอเมือง เทศบาลตำบลเมืองแก อำเภอท่าตูม และเทศบาลตำบลกันตวจระมวล อำเภอปราสาท ได้มารวมตัวกันเข้า "ค่ายนักถักทอชุมชนรุ่นเยาว์" หรือ โครงการสร้างเครือข่ายและพัฒนาแกนนำเด็กและเยาวชนสู่ความเป็นนักถักทอชุมชนรุ่นเยาว์ จัดโดยสถาบันยุวโพธิชน ร่วมกับสถาบันเสริมสร้างการเรียนรู้เพื่อชุมชนเป็นสุข (สรส.) และมูลนิธิสยามกัมมาจล ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด(มหาชน) พวกเธอและเขาเหล่านี้มาทำอะไรกันที่นี่!! อ้อย - วราภรณ์ หลวงมณี ผู้อำนวยการสถาบันยุวโพธิชน เผยเป้าหมายการจัดค่ายครั้งนี้ว่า "มองว่าเด็ก เยาวชน ในช่วงวัยนี้ ใช้สมองในการคิดวิเคราะห์ เราจึงคิดว่าจะทำให้พวกเขามองเห็นเรื่องของความจำเป็นของการที่จะอยู่ในสังคมนี้ให้ได้ และได้เรียนรู้ว่าพฤติกรรมแบบไหนที่ทำแล้วตนเองมีความสุข ชื่นชม เห็นคุณค่าและเคารพในตนเอง แต่ทำได้ต้อง "ฝึกฝืน" ตนเองให้ได้เสียก่อนเพื่อให้เกิด ความ"เคยชิน" กับพฤติกรรมดีนำกลับไปทำซ้ำๆ จนกลายเป็นนิสัยพฤติกรรมดีของเด็กๆ แบบง่ายๆ เช่น การไหว้ พูดจาเพราะ ช่วยแม่ทำงานบ้าน รับผิดชอบตนเองได้ คือสิ่งที่ค่ายนี้จะบ่มเพาะให้ แต่เนื่องจากค่ายนี้มีระยะเวลา 15 วัน สิ่งที่ทำได้คือทำให้เด็ก เยาวชน ได้เรียนรู้ได้แค่ในระดับความคิด "ดี" และคิดว่าตนเองทำได้ ในช่วงที่ลงมือทำให้เกิดเป็นพฤติกรรมดีให้เกิดขึ้นได้อย่างถาวรนั้น จึงต้องกลับไปฝึกทำต่อที่บ้าน และโรงเรียน ถ้าหากเด็กคนไหนที่ออกจากค่ายแล้วไม่สามารถ "ฝึกฝืน" ตนเองได้ คนรอบข้างต้องช่วยเขา ทั้ง พ่อแม่ ครู เพื่อน หากเด็กทำไม่ได้เขาก็จะไหลไปตามกระแสสังคม เหมือนที่เราเห็นๆกันอยู่" อ้อยกล่าว 15 วัน ที่ ศูนย์เรียนรู้ชาวดิน ต.หว้าทอง อ.เมือง จ.ขอนแก่น เด็กๆ ต้องเรียนรู้ที่จะต้องตื่นแต่เช้า เก็บที่นอนบางคนที่มีเวรเป็นเด็กวัดต้องติดตามพระอาจารย์สนั่น โฆษณาโม ที่ไปรับบิณฑบาตในชุมชนทุกเช้า เด็กๆ ต้องปรับพฤติกรรมนอนตื่นสายที่บ้านมาตื่นเช้าที่นี่ ในวันแรกๆ มีกิจกรรมเพื่อสร้างความสัมพันธ์มิตรภาพที่ลึกซึ้งและการทำงานเป็นหมู่คณะ เพื่อให้ได้รู้จักกันมากขึ้น ทำงานเป็นทีม พัฒนาภาวะผู้นำ รู้จักการสังเกตุตนเอง สังเกตผู้อื่น การฟัง การสะท้อนกลับและการพูดคุยแลกเปลี่ยน โดยใช้กิจกรรมผ่านประสบการณ์เพื่อสร้างพลังกลุ่มฐาน , มีกิจกรรมเรียนรู้เพื่อรู้จักตนเอง เข้าใจตนเองและเข้าใจผู้อื่น ,กิจกรรมเพื่อการพัฒนาภาวะผู้นำที่เน้นการประสานพลังกลุ่ม,กิจกรรมการเรียนรู้เพื่อพัฒนาภาวะผู้นำที่ตระหนักรู้ในตัวตน นอกจากเรียนรู้โดยใช้สถานที่บ้านดินแล้ว ยังพาเด็ก เยาวชนเหล่านี้ไปเรียนรู้ระบบเกษตรนิเวศ โดยการศึกษาดูงานเรื่องระบบเกษตรนิเวศพูดคุยกับปราชญ์ชาวบ้าน "มาร์ติน วีลเลอร์" ที่อ.อุบลรัตน์ เพื่อให้เด็กได้รู้จักการอยู่ร่วมกันอยางเกื้อกูลและเคารพระหว่างมนุษย์กับธรรมชาติ สร้างแรงบันดาลใจในการเรียนรู้ การสร้างจิตสำนึกในการรักชุมชน, ศึกษาดูงานการเลี้ยงสัตว์และการเกษตร กับนายสมใจ ชาญจระเข้ นายกอบต.หว้าทอง เพื่อให้เกิดรักในการเลี้ยงสัตว์ ตระหนักถึงคุณธรรมของคนทำการเกษตร ได้แก่ ขยัน อดทน ซื่อสัตย์ และที่สำคัญคือกิจกรรมฝึกพูดในที่สาธารณะ ที่ตลาด ซึ่งให้เด็กได้เผชิญและจัดการความกลัว เกิดความเชื่อมั่นในตนเอง นอกจากนี้ยังมีการเรียนรู้วิธีการนำเสนอเรื่องราวของชุมชนผ่านละคร,กิจกรรมการเรียนรู้การสร้างภาวะผู้นำและความไว้วางใจ,กิจกรรมการเรียนรู้เพื่อเท่าทันอำนาจในรูปแบบต่างๆ และการพัฒนาอำนาจภายใน เรียนรู้ออกแบบโครงการ เรียนรู้เรื่องซาเฑียร์ เป็นการเรียนรู้การเข้าใจในโลกภายในตนเอง ทั้งพฤติกรรม ความรู้สึก ความเชื่อ ความคาดหวัง ความปรารถนา และตลอดทั้ง 15 วัน เด็กและเยาวชนได้ฝึกทั้งด้านภายในใจตนและภายนอกได้แก่ทักษะชีวิตที่ต้องทำเป็นกิจวัตร ช่วงเช้า เวลา 06.00-07.30 น.มีสวดมนต์ ภาวนา และทักษะด้านต่างๆ เพื่อเพิ่มพูนศักยภาพตนเอง กิจกรรมที่แน่นเอี้ยดนี้มีวิทยากรกระบวนการ ได้แก่ จรายุทธ สุวรรณชนะ ,วราภรณ์ หลวงมณี,ชุตินธร หัตถพนม,พระอาจารย์สนั่น โฆษณาโม ฯลฯ หลังจบค่าย 15 วันเยาวชนได้ร่วมสะท้อนการเรียนรู้ เริ่มจากตัวแทนจากทต.เมืองแก กันตะ - นายธนภัทร สงนวน อายุ 15 ปี เรียนอยู่ชั้น ม.3 จากโรงเรียนเมืองแกพิทยาสรรค์กับพี่สาวจ๋อมแจ๋ม -น.ส.กวินณา สงนวน อายุ 18 ปี เรียนอยู่ที่เดียวกัน กันตะบอกว่าจากนี้ไปจะทำอะไรต้องกลับมาทบทวนตนเอง "พอเราได้รู้สิ่งที่เราผิดพลาดไปจะได้กลับมาพัฒนาตนเองได้ ผมคิดว่าเรื่องนี้สำคัญมาก" "จ๋อมแจ๋ม" บอกว่าสิ่งที่ได้เรียนรู้คือได้การยอมรับฟังความคิดเห็นของคนอี่นเมื่อก่อนไม่ฟังใครคิดว่าตนเองถูกฝ่ายเดียว "ความคิดเห็นของทุกคนสำคัญหมด เราจะตัดความคิดเห็นของใครทิ้งไม่ได้ค่ะ" สิ่งที่ทั้งคุ่จะกลับไปทำโครงการต่อคือการพัฒนาแกนนำเยาวชนรุ่นสู่รุ่นในบ้านเมืองแกของตนเองเพื่อให้มีเยาวชนร่วมสืบทอดการทำกิจกรรมเพื่อชุมชนอย่างต่อเนื่อง ตัวแทนเยาวชนทต.กันตวจระมวล จากนายวันเฉลิม แรงจบ (วอส) อายุ 17 ปี ม.5 โรงเรียนไทรแก้ววิทยา สะท้อนสิ่งที่ได้เรียนรู้จากค่าย "คือการฟังคนอื่น เราคิดว่าความคิดเราดีอยู่แล้ว แต่มีความคิดคนอื่นที่ยังดีกว่าเรา การใช้ชีวิตแบบเรียบง่ายเหมือนไม่ใช่อยู่ที่บ้าน อยู่ที่นี่ต้องทำตัวให้เข้ากับเพื่อนๆ ตื่นเช้า ทำวัตรสวดมนต์อยู่ที่บ้าน ไม่ค่อยได้ทำ ชอบกิจกรรมซาเฑียร์ให้กำลังใจตัวเอง ออกจากตัวเองเพื่อดูตัวเอง มองดูตัวเองว่าตัวเองเป็นอย่างไร ทำไมเราถึงท้อ เหนื่อย เราท้อเราให้กำลังใจตัวเอง สิ่งที่มีอยู่แรงลบมีแรงผลักดันทำงานอื่นๆ ได้อีก ตัวแทนเยาวชนจากตำบลหนองอียอ นายสิริชัย พร้อมดี (ยะ) อายุ 18 ปี โรงเรียนหนองอียอวิทยา ประธานเยาวชนต.หนองอียอ สะท้อนว่า "สิ่งที่ได้เรียนรู้คือเรื่องทักษะการทำงานใหม่ๆ จากที่เป็นเด็กเยาวชน ตอนนี้เป็นพี่ค่าย ได้เรียนรู้เรื่องสันทนาการ การคิด การพูด ได้นำไปส่งต่อให้รุ่นน้อง ผมได้รู้จักตนเอง ผมคิดว่ามีประโยชน์ เมื่อก่อนผมไม่รู้จักตนเอง ไม่รู้จักพ่อแม่ พอมาสวมบทบาทเป็นพ่อแม่ในค่ายนี้รู้สึกเลยว่าพ่อแม่เขาห่วงเราจริงๆ เข้ามาได้เรียนรู้หลายอย่าง รู้จักตนเองว่าเป็นคนอย่างไร การรู้จักตนเองสำคัญมากทำให้รู้ว่าในชีวิตผมชอบในสิ่งไหน ผมไม่ชอบในสิ่งไหน เช่น ชอบในการทำงานไฟฟ้า ทำเกษตร แต่ด้านลบผมคือเป็นคนที่ขี้เกียจ ผมไม่ชอบในตัวเองเรื่องนี้ แต่กลับไปจะรู้ว่าทำอย่างไรที่จะตัดความขี้เกียจออกไปให้ได้ เพื่อนกลุ่มที่มาเคยมีเรื่องกันมาก่อน ในค่ายมีกิจกรรมกลุ่มถ้าไม่เปิดใจทำไม่ได้ คุยกันเปิดใจกัน เขาก็บอกว่าเราลืมไปแล้วเรื่องทะเลาะกัน เป็นเรื่องดีๆ ทีเกิดขึ้น" ตัวแทนเยาวชนจากอบต.สลักได ได้แก่ ด.ญ.มลธิรา นิยมดี (กุ้ง) อายุ 13 ปี โรงเรียนเทศบาลตำบลเทศบาลอนุสรณ์ และเด็กชายชัยวัฒน์ รวดเร็ว (โก้) อายุ 12 ปี โรงเรียนบ้านตตระแบก เป็นคู่น้าหลาน ห่างกันแค่หนึ่งปี "โก้" บอกว่าได้เรียนรู้การอยู่ร่วมกัน "ชอบการทำกิจกรรมร่วมกัน จากไม่กล้าพูดในที่สาธารณะ ทำให้กล้าพูดครับ" ส่วน "กุ้ง" สะท้อนว่ามีแต่คนบ่นว่าอยากกลับบ้าน แต่หนูอยากอยู่ รู้สึกผูกพัน สนุกมากโดยเฉพาะการไปพูดที่ตลาด หนูไม่เคยทำมาก่อน ทำให้กล้าพูด กล้าแสดงออก ได้ทำงานกับเพื่อนๆ ที่โรงเรียนไม่ค่อยให้ออกไปพูดหน้าห้อง ชอบพูดหน้าห้อง ได้ความร่วมมือกันในกลุ่ม เพื่อนในกลุ่มทะเลาะกันมาก อยู่ได้ไม่กี่วันเห็นความร่วมมือของเพื่อน เห็นการกล้าแสดงออก ร่วมมือ ได้เห็นความสัมพันธ์ของเพื่อน" ด้านตัวแทนผู้ปกครอง นายเบิ้ม สงนวน ผู้ใหญ่บ้านเมืองแก ทต.เมืองแก ที่ส่งกันตะและจ๋อมแจ๋มเข้าร่วมค่าย หวังว่า "หวังในใจลึกๆ ให้เขาได้รู้จักตนเอง ได้รู้จักความรับผิดชอบ การประพฤติตนอยากให้เขาเป็นคนดีในสังคม รักครอบครัว พี่น้อง เพื่อนฝูง" นายมานพ แสงคำ นายกฯ ตำบลสลักได คาดหวังว่าหลังจากส่งเด็ก เยาวชน มาร่วมค่าย 10 คน จะเกิดผลในระยะยาว "ผมคิดว่าวันนี้พวกเขามาฝึก มาเรียนรู้ ในเรื่องความรู้ เครื่องมือต่างๆ ในการพัฒนาตนเองและชุมชน แต่เราต้องกลับไปทำให้เขาต่อเนื่องไปอีก เราต้องไปหนุนเสริมความรู้ เครื่องมือไหนที่เขายังไม่มีทักษะหรือไม่ชำนาญ หวังว่าเด็กที่ผ่านค่ายนี้จะมีเครื่องมือ ในการคิดได้ และจะนำไปขยายผลได้ในหมู่บ้านของเขาเพื่อดึงเยาวชนเข้ามามีส่วนร่วมเป็นกลไกหนึ่งในการพัฒนาชุมชน หากวันนี้เด็กๆ เหล่านี้ได้พัฒนาตนเองและเติบโตเป็นผู้ใหญ่ดีที่มีคุณภาพ เขาจะได้ดูแลลูกหลานเขา เรียกว่ามีองค์ความรู้ที่จะสั่งสอนลูกหลานเขา หรือทำงานร่วมกันระหว่างเด็กกับผู้ใหญ่ได้" ส่วน นายสุรศักดิ์ สิงห์หาร ปลัดเทศบาลตำบลเมืองแก ร่วมสะท้อนว่า "เราเกิดคำถามว่าทำไมต้อง 15 วัน ได้คำตอบว่าน่าจะเป็นเวลาที่พอเหมาะแก่การบ่มเพาะได้ดีกว่า ผมคิดว่าเด็กๆ ที่ผ่านหลักสูตรนี้ไปน่าจะบ่มเพาะความเป็นผู้นำ ทักษะการสื่อสารและจิตอาสาที่จะลุกขึ้นมาช่วยชุมชนตนเองได้ และเยาวชนเป็นกลุ่มที่เป็นพลังในชุมชน จะเป็นกลไกในระดับหมู่บ้าน ช่วยลดช่องว่างระหว่างผู้ใหญ่กับเด็ก เชื่อมร้อยงานกิจกรรม วัฒนธรรม สุขภาพ อาชีพ งานที่ทำในระดับหมู่บ้านจะได้ขับเคลื่อนเกิดผลได้" อ้อย ทิ้งท้ายว่า ค่ายนี้เป็นแค่จุดเริ่มต้น เมื่อเยาวชนทั้ง 4 พื้นที่กลับไป การบ้านที่พวกเขาได้รับคือ การเขียน "โครงการ" ขนาดเล็กสั้นๆ ขึ้นในเดือนธ.ค.นี้ เพื่อเป็นเครื่องมือ "ฝึก" ในการพัฒนาเยาวชนอย่างต่อเนื่อง เป็นการพัฒนาในเรื่องของแรงบันดาลใจที่อยากทำเพื่อตนเองและเพื่อผู้อื่น "ฐานรักชุมชนที่ฟูอยู่แล้ว ถ้าเขาเกิดจิตสำนึกจากกระบวนการนี้กระตุ้นให้ขึ้นโครงการ ได้ลงมือทำอะไรที่เขาสามารถทำได้ จิตสำนึกรักท้องถิ่นก็จะออกมาเป็นรูปธรรม เป็นการฝึกเด็ก คิดร่วมกัน ตัดสินใจร่วมกัน ฝึกประสบการณ์การทำงาน สร้างการมีส่วนร่วม การเป็นผู้นำ การแบ่งบทบาทหน้าที่ เกิดความสำเร็จเล็กๆ ให้เขาภาคภูมิใจ ก่อนที่จะไปร่วมทำโครงงานวิจัยกับชุมชนต่อไป" หมายเหตุโครงการวิจัยอยู่ภายใต้โครงการนักถักทอชุมชนเพื่อการพัฒนาเด็กและเยาวชนในชุมชนท้องถิ่น ระยะที่ 3 เป็นความร่วมมือของสำนักงานกองทุนสนับสนุนวิจัย (สกว.) สถาบันเสริมสร้างการเรียนรู้เพื่อชุมชนเป็นสุข (สรส.) และ มูลนิธิสยามกัมมาจล ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด(มหาชน) การผสานพลังของหน่วยงานและ 4 อปท.น่าสนใจยิ่ง ทำให้เห็นความพยายามในการสร้างพลเมืองของประเทศไทยในอนาคต หากโมเดลนี้สำเร็จ "จ.สุรินทร์" น่าจะเป็นตัวอย่างที่ดีของการมีกระบวนการ "บ่มเพาะ" เยาวชนให้เป็นคนดีและกำลังที่ดีของชุมชนและประเทศชาติต่อไปได้ในอนาคต.
แท็ก ต้นกล้า   อปท.  

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ