ผลกระทบนโยบายผู้นำคนใหม่สหรัฐอเมริกา โดนัล ทรัมป์ต่อเศรษฐกิจโลก ตลาดการเงินโลก ตลาดสินค้าโภคภัณฑ์ ตลาดปริวรรตเงินตรา ระบบการค้าโลก รวมทั้งผลที่มีต่อเศรษฐกิจของไทย ส่งออก ข้อตกลงทางการค้า ตลาดหุ้นและค่าเงินบาท

ข่าวหุ้น-การเงิน Thursday November 10, 2016 14:54 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--10 พ.ย.--คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิต ผลกระทบนโยบายผู้นำคนใหม่สหรัฐอเมริกา โดนัล ทรัมป์ต่อเศรษฐกิจโลก ตลาดการเงินโลก ตลาดสินค้าโภคภัณฑ์ ตลาดปริวรรตเงินตรา ระบบการค้าโลก รวมทั้งผลที่มีต่อเศรษฐกิจของไทย ส่งออก ข้อตกลงทางการค้า ตลาดหุ้นและค่าเงินบาท 15.00 น. 10 พ.ย. 2559 ที่มหาวิทยาลัยรังสิต คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิต และ ศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและธุรกิจเพื่อการปฏิรูป ผศ. ดร. อนุสรณ์ ธรรมใจ รองอธิการบดีฝ่ายวิจัยและบริการวิชาการ และ คณบดีคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิต กล่าวถึง ผลกระทบของการเลือกตั้งสหรัฐฯจะส่งผลให้ตลาดการเงินโลกมีความผันผวนไปอีกระยะหนึ่งทั้งปรับขึ้นและลง เป็นผลมาจากการที่ตลาดการเงินไม่ได้คาดการณ์ว่า โดนัล ทรัมป์จะชนะการเลือกตั้ง ขณะที่จะมีการเปลี่ยนแปลงนโยบายเศรษฐกิจและการค้าระหว่างประเทศของรัฐบาลใหม่สหรัฐฯค่อนข้างมาก ตลาดหุ้นทั่วโลกกลับมาฟื้นตัวอย่างรวดเร็วหลังการปรับลงแรงก่อนหน้านี้ การประท้วงผลการเลือกตั้งตามเมืองใหญ่ของสหรัฐฯจะยุติลงด้วยความเรียบร้อยเนื่องจากสหรัฐฯมีวัฒนธรรมประชาธิปไตยและผู้แพ้ Electoral Vote แต่ชนะ Popular Vote อย่างฮิลลารี่ คลินตันได้ประกาศการยอมรับผลการเลือกตั้ง นำไปสู่การเปลี่ยนแปลงอำนาจอย่างสันติ (Peaceful Power Transition) ดร. อนุสรณ์ กล่าวอีกว่า เราจะได้เห็นการดำเนินนโยบายเศรษฐกิจทางด้านอุปทาน (Supply-Side Economic Policy) มากขึ้น ลดภาษีในอัตราก้าวกระโดด (ลดภาษีนิติบุคคลหรือองค์กรธุรกิจจาก 35% ลงมาเหลือ 15%) ซึ่งจะต้องมีการตัดลดสวัสดิการจำนวนมากยกเว้นเศรษฐกิจเติบโตมากๆจึงจะทำให้ไม่เกิดปัญหาหนี้สาธารณะ การปรับลดภาษีชุดใหญ่และอย่างแรงทั้งภาษีรายได้บุคคลธรรมดาและภาษีนิติบุคคลพร้อมกับการประกาศลงทุนโครงสร้างพื้นฐานทางเศรษฐกิจจะทำให้รัฐบาลสหรัฐฯมีหนี้สาธารณะเพิ่มอีกอย่างน้อย 5 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐฯ แต่ก็น่าจะทำให้อัตราการขยายตัวเศรษฐกิจของสหรัฐฯสูงขึ้น จะมีการผ่อนคลายกฎระเบียบในการทำธุรกิจมากขึ้นในสหรัฐฯ ขณะที่กีดกันสินค้านำเข้าจากต่างประเทศมากขึ้น มีนโยบายโน้มเอียงสนับสนุนชาตินิยมทางเศรษฐกิจมากขึ้น การตอบสนองในตลาดปริวรรตเงินตราในระยะสั้น เงินดอลลาร์สหรัฐฯแข็งค่าขึ้น เงินเปโซเม็กซิโกทรุดลง (ไม่ต่ำกว่า 10-20%) เงินหยวนอ่อนค่าลง ค่าเงินบาทและเงินสกุลเอเชียส่วนใหญ่ไม่มีการเปลี่ยนแปลงอย่างมีนัยยสำคัญจากผลการเลือกตั้งดังกล่าว ราคาน้ำมันปรับตัวลงเล็กน้อย ส่วนสินค้าโภคภัณฑ์อื่นๆในตลาดล่วงหน้าปรับตัวสูงขึ้นโดยเฉพาะทองคำ ทางด้านหุ้นและผลประกอบการกลุ่มพลังงานหลัก (น้ำมัน ก๊าซธรรมชาติ) ได้ผลบวกจากนโยบายของทรัมป์ นอกจากนี้ กลุ่มธุรกิจเวชภัณฑ์และบริการสุขภาพ กลุ่มอุตสาหกรรมอาวุธและป้องกันประเทศ ที่ปรับตัวลงก่อนหน้านี้ในช่วงที่มีการคาดการณ์ว่า ฮิลลารี่ คลินตันจะชนะการเลือกตั้ง ราคาหุ้นของกลุ่มนี้ได้กลับฟื้นขึ้นมาหลังผลเลือกตั้งออกมาว่า โดนัล ทรัมป์ ชนะการเลือกตั้ง นโยบายและมาตรการกีดกันสินค้าจากจีนโดยการตั้งกำแพงภาษี 45% ที่ประธานาธิบดีโดนัล ทรัมป์กล่าวระหว่างการหาเสียงไม่อาจเกิดขึ้นได้จริง เพราะขัดต่อระเบียบองค์กรการค้าโลกและไม่น่าจะผ่านรัฐสภา ดร. อนุสรณ์ กล่าวอีกว่า ผมขอเรียก ชุดนโยบายสาธารณะของประธานาธิบดีทรัมป์และทีมงาน ว่า Trumpian Policies อันประกอบไปด้วย นโยบายการค้า ทบทวนข้อตกลงการค้าเสรีใหม่ กีดกันสินค้านำเข้าบางส่วนเพื่อปกป้องอุตสาหกรรมและการจ้างงานภายใน ไม่สนับสนุน TPP สิ่งเหล่านี้จะมีผลต่อการรวมกลุ่มทางเศรษฐกิจและระบบการค้าโลก ปริมาณการค้า การลงทุนระหว่างประเทศอย่างไรโดยเฉพาะ FDI เป็นสิ่งที่ต้องติดตามต่อไป นโยบายการคลัง ลดภาษีชุดใหญ่และตัดลดสวัสดิการบางส่วน นโยบายต่อต้านผู้อพยพผิดกฎหมายและเข้มงวดกับการอพยพเข้ามาทำงานในสหรัฐฯ นโยบายเกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและภาวะโลกร้อน ทรัมป์ไม่เชื่อในเรื่องผลกระทบของภาวะโลกร้อนและการเปลี่ยนแปลงชั้นบรรยากาศ จึงไม่เป็นผลบวกต่อธุรกิจอุตสาหกรรมพลังงานหมุนเวียน พลังงานทางเลือก พลังงานสะอาดหรือกิจการหรือการผลิตที่ให้ความสำคัญกับเรื่องปัญหาภาวะโลกร้อน แต่เป็นผลดีกับอุตสาหกรรมถ่านหินและพลังงานน้ำมันและก๊าซธรรมชาติ ส่วนนโยบายต่างประเทศ จะมียกเลิกการคว่ำบาตรอิหร่าน มีความสัมพันธ์ที่แนบแน่นขึ้นกับรัสเซีย เป็นต้น ส่วนผลกระทบต่อไทย ผลที่มีต่อตลาดการเงินไม่มีนัยยสำคัญมาก ตลาดหุ้นอาจผันผวนบ้างในระยะสั้น เงินบาทอาจมีการอ่อนตัวบ้าง เงินทุนระยะสั้นอาจเคลื่อนย้ายออกบ้าง ผลกระทบสำคัญน่าจะเป็นด้านการค้ามากกว่าทั้งทางบวกและทางลบ การส่งออกไปสหรัฐฯจะมีความเสี่ยงมากขึ้นตั้งแต่ไตรมาสสองปีหน้าเป็นต้นไป การกีดกันสินค้านำเข้าจากจีนจะกระทบต่อการส่งออกสินค้าไทยด้วยเพราะไทยจีนมีสินค้าหลายตัวอยู่ในห่วงโซ่อุปทานเดียวกัน ภาคส่งออกไทยจะมีความยากลำบากมากขึ้นเนื่องจากปัจจุบันสหรัฐฯเป็นตลาดส่งออกอันดับ 1 ของไทย (ถ้าไม่นับอาเซียน 10 ประเทศรวมกัน) โดยในปี 2558 ไทยมีมูลค่าส่งออกไปสหรัฐฯ 24,055 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือคิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 11.2 ของมูลค่าการส่งออกของไทยทั้งหมด โดยมีสินค้าสำคัญ อาทิ คอมพิวเตอร์และส่วนประกอบ ผลิตภัณฑ์ยาง อัญมณีและเครื่องประดับ เครื่องใช้ไฟฟ้า รถยนต์และส่วนประกอบ และเครื่องนุ่มห่ม รวมทั้งอาหารทะเลและผลไม้กระป๋องแปรรูป ซึ่งสินค้าเหล่านี้มีสัดส่วนรวมกันถึงร้อยละ 51.4 ของการส่งออกไทยไปสหรัฐฯทั้งหมด ดังนั้น หากสหรัฐมีการเปลี่ยนแปลงนโยบายการค้าในทิศทางที่มีการกีดกันมากขึ้นจะเพิ่มความเสี่ยงต่อการส่งออกของไทยทั้งทางตรงและทางอ้อมอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ จึงควรเพิ่มปริมาณการค้าการลงทุนในกลุ่มประเทศอาเซียนและเอเชียมากขึ้นอีก ประธานาธิบดีสหรัฐฯคนใหม่ได้ประกาศตั้งแต่เริ่มหาเสียงแล้วว่า ไม่เอาข้อตกลงหุ้นส่วนเศรษฐกิจ ภาคพื้นแปซิฟิก (TPP) นั้นเป็นผลดีกับไทย การเริ่มต้มใหม่เรื่อง TPP นั้นเป็นเรื่องโชคดีของไทย ส่วนเวียดนามและมาเลเซียได้ประโยชน์จากการเข้าร่วม TPP ไปก่อนหน้านี้แม้นยังไม่เต็มรูปแบบ แต่อุตสาหกรรมสิ่งทอที่ย้ายฐานการผลิตจากไทยไปเวียดนาม แม้ TPP ไม่ได้เป็นนโยบายของผู้นำสหรัฐฯคนใหม่ แต่เงินทุนที่ไหลเข้าเวียดนาม ก็ไหลเข้าไปแล้ว มีตัวเลข 8 เดือนแรก เงินทุนไหลเข้าไปกว่า 14.4 พันล้านสหรัฐ จะเห็นว่า ทีพีพีจะไม่เกิดแต่เวียดนามก็ได้ประโยชน์จาก FDI ที่ไหลเข้าไปแล้ว ส่วนประเทศไทยนั้นควรมียุทธศาสตร์และนโยบายทางการค้าที่ชัดเจนกว่านี้ เนื่องจากขณะนี้ไม่มีความคืบหน้ามากนักใน FTA กับอียู FTA กับสหรัฐฯ เม็ดเงินลงทุนของกลุ่มทุนสหรัฐอเมริกาในไทยอยู่ในอันดับต้นๆมาตลอด ในปี พ.ศ. 2555 (ก่อนรัฐประหาร) อยู่ที่ 22,782 ล้านบาท ช่วง ส.ค. พ.ศ. 2558 ถึง ส.ค. พ.ศ. 2559 เม็ดเงินลงทุนอยู่ที่ราว 6,115 ล้านบาท หาก "สหรัฐฯ" เห็น "ไทย" เป็นศูนย์กลางของภูมิภาคได้ ก็น่าจะเร่งลงทุนในไทยมากขึ้น การลงทุนทางด้านกิจการพลังงาน อุตสาหกรรมยานยนต์ น่าจะเพิ่มขึ้น แรงกดดันของสหรัฐฯต่อไทยในเรื่องสิทธิแรงงาน สิทธิมนุษยชน ประเด็นเรื่องสิ่งแวดล้อมที่เชื่อมโยงกับการค้าจะลดลง เนื่องจากผู้นำสหรัฐฯคนใหม่ไม่ได้ให้น้ำหนักหรือความสำคัญต่อเรื่องดังกล่าว แรงกดดันต่อไทยให้กลับคืนประชาธิปไตยและการเลือกตั้งลดลง ผู้นำสหรัฐฯจะขับเคลื่อนนโยบายต่างประเทศโดยนำเอาประเด็นเรื่องเศรษฐกิจ การค้าและผลประโยชน์ทางธุรกิจและการลงทุน เป็นตัวนำ ตอนนี้ พรรครีพับรีกันครองเสียงข้างมากทั้งสองสภา และ ประธานาธิบดีมาจากพรรคเดียวกัน โอกาสในการเกิดสภาวะชะงักงันทางการเมือง (Political Gridlock) เช่นปี พ.ศ. 2556 ไม่มี ความมั่นคงและเสถียรภาพทางการเมืองเข้มแข็งทำให้นโยบายและมาตรการต่างๆของรัฐบาลได้รับการพลักดันได้ง่ายขึ้น หากคณะของประธานาธิบดีคนใหม่สหรัฐฯดำเนินนโยบายและมาตรการเศรษฐกิจที่ดีจะส่งผลบวกต่อเศรษฐกิจสหรัฐอเมริกาและโลก อย่างไรก็ตาม คงต้องติดตามว่า จะมีใครเป็นทีมเศรษฐกิจและทีมที่ปรึกษาทางเศรษฐกิจบ้าง และ ท่าทีของประธานาธิบดีคนใหม่ต่อบทบาทและนโยบายการเงินของธนาคารกลางสหรัฐฯ ความเสี่ยงของเศรษฐกิจโลกจะถูกจำกัดลงหากประธานาธิบดีทรัมป์ที่มีนโยบายแปลกๆและขาดความน่าเชื่อถือในเรื่องความสามารถในการบริหารเศรษฐกิจมี "ทีมเศรษฐกิจ" ที่แนะนำให้ดำเนินนโยบายที่ถูกต้องเหมาะสมไม่เช่นนั้นจะเป็นเหมือนที่ พอล ครุกแมน นักเศรษฐศาสตร์ชื่อดัง ได้เขียนไว้ในบทความล่าสุดว่า "ภายใต้สภาพใดๆ ก็ตาม การเอาคนที่ไม่มีความรับผิดชอบ คนที่ฟังคำแนะนำจากคนที่คิดผิดๆ ทั้งหลายแหล่มาเป็นผู้นำประเทศที่มีเศรษฐกิจที่สำคัญที่สุดในโลกนั้นถือเป็นข่าวร้ายมากๆ"

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ