การยางแห่งประเทศไทย ร่วมประชุมสภาไตรภาคียางระหว่างประเทศ (ITRC) เพื่อเร่งหาข้อสรุปความร่วมมือในการบริหารจัดการยางพาราทั้งระบบของโลก ณ ประเทศอินโดนีเซีย

ข่าวทั่วไป Thursday November 17, 2016 11:58 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--17 พ.ย.--การยางแห่งประเทศไทย ดร.ธีธัช สุขสะอาด ผู้ว่าการการยางแห่งประเทศไทย พร้อมคณะ เข้าร่วมประชุมสภาไตรภาคียางระหว่างประเทศ (International Tripartite Rubber Council : ITRC) ณ กรุงจาร์กาต้า ประเทศอินโดนีเซีย ระหว่างวันที่ 7-11 พฤศจิกายน 2559 เพื่อเร่งหาข้อสรุปเรื่องความร่วมมือในการบริหารจัดการยางพาราทั้งระบบของโลก อาทิ การพยากรณ์อุปสงค์ อุปทาน ยางพาราของโลก ความก้าวหน้าในการจัดตั้งตลาดยางระดับภูมิภาค (RRM) ผลการดำเนินการตามมาตรการกำหนดปริมาณการส่งออก (AETS) การสร้างความร่วมมือระหว่างสภาไตรภาคีกับประเทศจีน และประเทศอื่นในภูมิภาคอาเซียน เพื่อนำเสนอต่อที่ประชุมระดับรัฐมนตรีสภาไตรภาคียางระหว่างประเทศ ซึ่งประเทศไทยได้รับเกียรติให้เป็นเจ้าภาพการประชุม โดยจะจัดขึ้นในวันที่ 15 ธันวาคม 2559 ณ กรุงเทพมหานคร ดร.ธีธัช สุขสะอาด ผู้ว่าการการยางแห่งประเทศไทย เผยว่า จากการประชุมสภาไตรภาคียางระหว่างประเทศที่ผ่านมา ได้ข้อสรุปเกี่ยวกับประเด็น การพยากรณ์อุปสงค์ อุปทาน ยางพาราของโลก ในการนำหลักสถิติและวิชาการเข้ามาใช้ในการประเมินความต้องการการใช้ยางของโลก ซึ่งโลกยังมีความต้องการใช้ยางพาราอยู่เป็นจำนวนมาก แต่ในขณะเดียวกันถึงแม้จะไม่ได้เติบโตในอัตราที่สูงมากเกินไป แต่ก็มีความใกล้เคียงกันของอุปสงค์ อุปทาน ที่เกิดขึ้นในแต่ละปีประมาน 3 - 5 เปอร์เซ็นต์ต่อปี แต่สิ่งทีแตกต่างกันที่จะเกิดขึ้นในอนาคตคือจะมีประเทศผู้ส่งออกที่มีความหลากหลายทำให้เกิดแข่งขันเพิ่มมากขึ้นรวมถึงการแข่งขันในเชิงประเทศผู้ปลูกยางพารา ดังนั้นแนวทางการแก้ปัญหาจำเป็นต้องทำการพัฒนาคุณภาพยางพาราให้ตรงความต้องการของผู้ใช้ในโลก "สำหรับความก้าวหน้าในการจัดตั้งตลาดยางระดับภูมิภาค (RRM) ได้เริ่มดำเนินการมาตั้งแต่ปลายกันยายนที่ผ่านมาแต่ก็ยังไม่มีความเคลื่อนไหวมากนัก อาจเนื่องมากจากการซื้อขายยางพาราแบบส่งมอบจริงเป็นเรื่องใหม่ของวงการตลาดยางพารา ในขณะที่ตลาดยางพาราที่ผ่านมาจะเป็นตลาดซื้อขายยางแบบล่วงหน้า คงต้องหาแนวทางการแก้ไขโดยการปรับเปลี่ยนเรื่องระเบียบที่จะทำให้ผู้ซื้อรายย่อยและผู้ขายรายย่อยสามารถเข้ามาใช้บริการได้ง่ายยิ่งขึ้น และอาจรวมถึงการลดค่าธรรมเนียมเพื่อจูงใจให้คนเข้ามาใช้บริการมากขึ้น ซึ่งก็จะเป็นแนวทางที่จะนำเสนอต่อคณะกรรมการบริหารตลาดRRM ให้พิจารณาและดำเนินการต่อไป" ผู้ว่าการ กยท. กล่าว ดร.ธีธัช สุขสะอาด กล่าวเพิ่มเติมว่า ในส่วนของผลการดำเนินการตามมาตรการกำหนดปริมาณการส่งออก (AETS) ขณะนี้ได้ดำเนินการเป็นครั้งที่ 3 ตั้งแต่มีการร่วมมือกันของไตรภาคียางพาราระหว่างประเทศ โดยสาเหตุที่ต้องมีการวิเคราะห์กำหนดปริมาณการส่งออกที่เหมาะสม อันเนื่องมาจากหลักสถิติจะแสดงให้เห็นว่าหากแต่ละประเทศทำการส่งออกโดยที่ไม่คำนึงถึงผลกระทบที่จะเกิดขึ้น จะทำให้ปริมาณสินค้าเกินความต้องการของตลาด ซึ่งส่งผลกระทบต่อราคายางและส่งผลต่อเกษตรกรของโลก จำเป็นต้องหาจุดสมดุลของราคาและปริมาณ โดยการกำกับปริมาณให้เป็นไปตามข้อตกลงของ 3 ประเทศสมาชิก ได้แก่ ไทย มาเลเซีย อินโดนีเซีย เนื่องจากการส่งออกยางพารารวมทั้ง 3 ประเทศมีปริมานมากกว่า 50 เปอร์เซ็นต์ของโลก ดังนั้นจะต้องมีการประเมินความเหมาะสมของปริมาณที่ชัดเจน ซึ่งในรอบปีนี้มาเลเซียเป็นประเทศเดียวที่สามารถปฏิบัติได้ตามข้อกำหนดที่เป็นพันธะสัญญาร่วมกันของสภาไตรภาคี เพราะฉะนั้นประเทศไทยและอินโดนีเซีย ต้องทบทวนแนวทางปฏิบัติเพื่อให้สามารถรักษาระดับปริมาณการส่งออกของแต่ละประเทศที่เหมาะสมเพื่อให้ราคาอยู่ในระดับที่เหมาะสมในอนาคตต่อไป ด้านการสร้างความร่วมมือระหว่างสภาไตรภาคีกับประเทศจีน และประเทศอื่นในภูมิภาคอาเซียน ได้ทำหนังสือเชิญชวนประเทศจีนเข้าร่วมสภาไตรภาคียางระหว่างประเทศ แต่ยังไม่ได้รับการตอบกลับ ขณะนี้ทำการติดตามและประสานงานกับไปยังประเทศจีนเพื่อรอคำตอบ และในส่วนของประเทศอื่นในภูมิภาคอาเซียน ได้ทำหนังสือเชิญชวนประเทศเวียดนามมาเข้าร่วมเป็นสมาชิกด้วยเช่นกัน เนื่องจากเวียดนามเป็นประเทศที่ส่งออกยางมากเป็นอันดับ 3 ของโลก ซึ่งขณะนี้ประเทศเวียดนามอยู่ระหว่างการพิจารณาข้อดี - ข้อเสีย และผลประโยชน์ที่ประเทศเวียดนามจะได้รับเมื่อร่วมสภาไตรภาคีระหว่างประเทศอย่างเต็มรูปแบบอีกครั้งในอีกหนึ่งปีข้างหน้า

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ