ยังคงมีสถานการณ์ใน 8 จังหวัด พร้อมบูรณาการหน่วยงานเร่งแก้ไขปัญหา – ช่วยเหลือผู้ประสบภัย

ข่าวทั่วไป Thursday December 8, 2016 10:01 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--8 ธ.ค.--กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย กระทรวงมหาดไทย โดยกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) รายงานสถานการณ์อุทกภัยในพื้นที่ภาคใต้ และจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ตั้งแต่วันที่ 1 – 7 ธันวาคม 2559 เกิดสถานการณ์อุทกภัย 12 จังหวัด ปัจจุบันสถานการณ์คลี่คลายแล้ว 4 จังหวัด ได้แก่ กระบี่ ยะลา นราธิวาส และระนอง ยังคงมีสถานการณ์ใน 8 จังหวัด ได้แก่ สุราษฎร์ธานี นครศรีธรรมราช ชุมพร ตรัง สงขลา พัทลุง ปัตตานี และประจวบคีรีขันธ์ พร้อมบูรณาการหน่วยทหารและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องระดมสรรพกำลังและทรัพยากรปฏิบัติการช่วยเหลือผู้ประสบภัยอย่างเต็มกำลัง รวมถึงติดตั้งเครื่องสูบน้ำ และเครื่องผลักดันน้ำเร่งระบายน้ำท่วมขังลงสู่ทะเลและพื้นที่รองรับน้ำ ตลอดจนสำรวจและจัดทำบัญชีผู้ประสบภัย และทรัพย์สินที่เสียหาย เพื่อให้การช่วยเหลือผู้ประสบภัย ตามระเบียบกระทรวงการคลังฯ โดยด่วนต่อไป นายฉัตรชัย พรหมเลิศ อธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) เปิดเผยว่า ฝนที่ตกหนักต่อเนื่องในพื้นที่ภาคใต้และจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ทำให้เกิดน้ำป่าไหลหลาก และน้ำท่วมฉับพลันใน 12 จังหวัด ได้แก่ ชุมพร สุราษฎร์ธานี นครศรีธรรมราช กระบี่ ตรัง พัทลุง สงขลา ยะลา ปัตตานี นราธิวาส ระนอง และประจวบคีรีขันธ์ รวม 95 อำเภอ 637 ตำบล 4,718 หมู่บ้าน ประชาชนได้รับผลกระทบ 250,760 ครัวเรือน 737,884 คน ผู้เสียชีวิต 15 ราย ถนนเสียหาย 1,463 สาย คอสะพาน 126 แห่ง ท่อระบายน้ำ 50 แห่ง ฝาย 46 แห่ง ปัจจุบันสถานการณ์อุทกภัยคลี่คลายแล้ว 4 จังหวัด ได้แก่ กระบี่ ยะลา นราธิวาส และระนอง ยังคงมีสถานการณ์ใน8 จังหวัด ได้แก่ สุราษฎร์ธานี นครศรีธรรมราช ชุมพร ตรัง สงขลา พัทลุง ปัตตานี และประจวบคีรีขันธ์ รวม 88 อำเภอ 620 ตำบล 4,663 หมู่บ้าน โดยจังหวัดสุราษฎร์ธานี น้ำป่าไหลหลากเข้าท่วมพื้นที่ 17 อำเภอ 104 ตำบล 750 หมู่บ้าน ประชาชนได้รับผลกระทบ 32,747 ครัวเรือน 106,874 คน ผู้เสียชีวิต 3 ราย ผู้สูญหาย 1 ราย ผู้บาดเจ็บ 2 ราย โดยเฉพาะในพื้นที่ 7 อำเภอ ได้แก่ อำเภอพุนพินอำเภอกาญจนดิษฐ์ อำเภอไชยา อำเภอดอนสัก อำเภอท่าฉาง อำเภอบ้านนาเดิม และอำเภอเคียนซา ต้องเฝ้าระวังสถานการณ์เป็นพิเศษ นครศรีธรรมราช น้ำป่าไหลหลากเข้าท่วมพื้นที่ 23 อำเภอ 166 ตำบล 1,465 หมู่บ้าน 97 ชุมชน ประชาชนได้รับผลกระทบ 108,695 ครัวเรือน 301,557 คน ผู้เสียชีวิต 5 ราย ถนนเสียหาย 678 สาย ชุมพร น้ำป่าไหลหลากเข้าท่วมพื้นที่ 7 อำเภอ 62 ตำบล 505 หมู่บ้าน อีกทั้งยังเกิดวาตภัยในอำเภอเมืองชุมพร และอำเภอหลังสวน ประชาชนได้รับผลกระทบ 9,203 ครัวเรือน 21,834 คน ถนนเสียหาย 74 สาย ตรัง น้ำท่วมขังในพื้นที่ 8 อำเภอ 53 ตำบล 8 เทศบาล 384 หมู่บ้าน 10 ชุมชน ประชาชนได้รับผลกระทบ 13,005 ครัวเรือน 40,401 คน อำเภอเมืองตรังยังมีระดับน้ำเพิ่มสูงขึ้น สงขลา น้ำท่วมขังในพื้นที่ 10 อำเภอ 63 ตำบล 352 หมู่บ้าน ประชาชนได้รับผลกระทบ 24,246 ครัวเรือน 81,319 คน อพยพประชาชน 232 ครัวเรือน 455 คน ผู้เสียชีวิต 2 ราย ผู้บาดเจ็บ 1 ราย ถนนเสียหาย 369 สาย ปัจจุบันยังมีน้ำท่วมขังในพื้นที่ริมทะเลสาบสงขลา 4 อำเภอ ได้แก่ อำเภอระโนด อำเภอสิงหนคร อำเภอกระแสสินธุ์ และอำเภอสทิงพระ พัทลุง น้ำท่วมขังในพื้นที่ 11 อำเภอ 63 ตำบล 647 หมู่บ้าน 45 ชุมชน ประชาชนได้รับผลกระทบ 31,631 ครัวเรือน 86,403 คน อพยพประชาชน 26 ครัวเรือน ผู้เสียชีวิต 2 ราย ยังต้องเฝ้าระวังในพื้นที่อำเภอควนขนุนและอำเภอเมืองพัทลุง ปัตตานี น้ำท่วมขังในพื้นที่ 10 อำเภอ 99 ตำบล 448 หมู่บ้าน 13 ชุมชน ประชาชนได้รับผลกระทบ 19,429 ครัวเรือน 52,673 คน พื้นที่การเกษตรที่คาดว่าจะได้รับผลกระทบ 1,060 ไร่ ผู้เสียชีวิต 2 ราย ผู้สูญหาย 3 ราย ปัจจุบันสถานการณ์คลี่คลายเข้าสู่ภาวะปกติแล้ว ประจวบคีรีขันธ์ น้ำป่าไหลหลากเข้าท่วมพื้นที่ 2 อำเภอ 12 ตำบล 112 หมู่บ้าน ประชาชนได้รับผลกระทบ 11,368 ครัวเรือน 45,649 คน ทั้งนี้ กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย ได้ร่วมกับหน่วยทหาร และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องให้การช่วยเหลือผู้ประสบภัยโดยด่วนแล้ว โดยติดตั้งเครื่องสูบน้ำ เครื่องผลักดันน้ำระบายน้ำลงสู่ทะเลและแหล่งน้ำสาธารณะ รวมถึงแจกจ่ายเครื่องอุปโภคบริโภคแก่ประชาชน เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนในเบื้องต้น อีกทั้งจัดเจ้าหน้าที่พร้อมรถบรรทุกขนาดใหญ่ เรือท้องแบนอำนวยความสะดวกในการสัญจรและขนย้ายสิ่งของแก่ประชาชนในพื้นที่ประสบภัย ตลอดจนประสานหน่วยงานที่เกี่ยวข้องสำรวจและจัดทำบัญชีผู้ประสบภัย และทรัพย์สินที่เสียหาย เพื่อให้การช่วยเหลือตามระเบียบกระทรวงการคลังฯ โดยด่วนต่อไป อย่างไรก็ตาม จากการติดตามคาดการณ์สภาพอากาศในพื้นที่ภาคใต้กับกรมอุตุนิยมวิทยา พบว่า ระยะนี้ภาคใต้มีฝนตกลดลง แต่ยังมีฝนตกอย่างต่อเนื่อง จึงมีความเสี่ยงต่อการน้ำท่วมฉับพลัน และน้ำป่าไหลหลาก ส่วนคลื่นลมในทะเลอันดามันและอ่าวไทยมีกำลังแรง คลื่นสูง 2 เมตร ปภ. ได้ประสานจังหวัดจัดเจ้าหน้าที่เฝ้าระวังสถานการณ์ภัย ติดตามสภาพอากาศ และพยากรณ์อากาศอย่างใกล้ชิด พร้อมจัดชุดเคลื่อนที่เร็ว และวัสดุอุปกรณ์ เครื่องจักรกลด้านสาธารณภัยประจำจุดเสี่ยงให้พร้อมปฏิบัติการเผชิญเหตุและช่วยเหลือผู้ประสบภัยได้อย่างทันท่วงที ท้ายนี้ ประชาชนที่ได้รับความเดือดร้อนจากสถานการณ์ภัยสามารถติดต่อได้ที่สายด่วนนิรภัย 1784 ตลอด 24 ชั่วโมง เพื่อประสานให้การช่วยเหลือโดยด่วนต่อไป

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ