รัฐบาลไทย ป.ป.ช. ร่วมกับภาคีทุกภาคส่วนจัดงานวันต่อต้านคอร์รัปชันสากล (ประเทศไทย)

ข่าวทั่วไป Thursday December 1, 2016 17:47 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--8 ธ.ค.--สำนักงาน ป.ป.ช. นับเป็นมิติใหม่ในการสร้างเจตจำนงทางการเมืองที่รัฐบาลชุดปัจจุบันนี้ ให้ความสำคัญในการแก้ไขปัญหาการทุจริตเป็นวาระเร่งด่วนและให้เป็นวาระแห่งชาติ ด้วยการใช้กลไกประสานความร่วมมือกับภาครัฐและฝ่ายการเมือง ภาครัฐวิสาหกิจ เอกชน ภาคประชาสังคม กลไกทางศาสนาและการศึกษา ซึ่งเป็นรากฐานสำคัญในการแก้ไขปัญหาการทุจริตที่ยั่งยืน ดังนั้น รัฐบาลไทย สำนักงาน ป.ป.ช. ร่วมมือกับภาคีทุกภาคส่วนกำหนดจัดงานวันต่อต้านคอร์รัปชันสากล (ประเทศไทย) ภายใต้แนวคิด "สุจริตตามรอยพ่อ ขอทำดีเพื่อแผ่นดิน" ในวันที่ 9 ธันวาคม 2559 ณ หอประชุมมหิดลสิทธาคาร มหาวิทยาลัยมหิดล ศาลายา จังหวัดนครปฐม โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อร่วมกันแสดงพลังของ ทุกภาคส่วน ที่ไม่ยอมรับและไม่ทนต่อการโกง รวมทั้งตระหนักในผลเสียหายร้ายแรงที่เกิดขึ้นจากการทุจริต ถึงเวลาแล้วที่คนในชาติต้องมองว่าการทุจริตเป็นเรื่องที่ยอมรับไม่ได้ ต้องมีทัศนคติ ค่านิยม และจิตสำนึกในทาง ที่ถูกต้อง และน้อมนำปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงมาใช้เป็นหลักในการดำเนินชีวิตให้มีคุณภาพชีวิตที่ดี ตามแนวทางการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ชาติว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต ระยะที่ 3 อย่างเป็นรูปธรรม โดยมีรายละเอียดในการจัดกิจกรรมดังกล่าวดังนี้ เวลา 09.00 – 09.30 น. - การนำเสนอวีดิทัศน์ พระบรมราโชวาท พระราชดำรัส และพระราชกรณียกิจของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุยเดช ในเรื่องการยึดมั่นในความซื่อสัตย์สุจริต เวลา 09.30 – 10.30 น. - พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ประธานในพิธีเดินทางมาถึงบริเวณจัดงาน เยี่ยมชมนิทรรศการ และเข้าสู่ห้องประชุม - นายสรรเสริญ พลเจียก เลขาธิการคณะกรรมการ ป.ป.ช. กล่าวรายงานต่อประธานในพิธี - ผู้แทนจากองค์การสหประชาชาติ แถลงสารองค์การสหประชาชาติ - พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ประธานในพิธีประกาศเจตนารมณ์ในการต่อต้านการคอร์รัปชัน - ร่วมร้องเพลงสรรเสริญพระบารมีพร้อมกัน เวลา 10.30 – 11.30 น. - กิจกรรมน้อมรำลึกในพระมหากรุณาธิคุณของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช "เรื่องเล่าของพ่อ ขอทำดีเพื่อแผ่นดิน"โดย ดร.วิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี เวลา 11.30 – 12.00 น. - การบรรยายพิเศษหัวข้อ "การขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ชาติว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต ระยะที่ 3 (พ.ศ.2560 – 2564)โดย พลตำรวจเอก วัชรพล ประสารราชกิจ ประธานกรรมการ ป.ป.ช. เวลา 13.00 – 15.00 น. - กิจกรรมเยี่ยมชมนิทรรศการฯ นอกจากนี้สำนักงาน ป.ป.ช. ประจำจังหวัดร่วมกับภาคีทุกภาคส่วนในระดับพื้นที่จัดกิจกรรมรณรงค์พร้อมกันทั่วประเทศอีกด้วย การจัดกิจกรรมในครั้งนี้สืบเนื่องจากปัญหาการทุจริตคอร์รัปชันที่รุนแรงมากขึ้นในประเทศไทย โดยดูจากผลที่องค์กรเพื่อความโปร่งใสนานาชาติ (Transparency International) ได้ประกาศค่าคะแนนดัชนีการรับรู้การทุจริต (Corruption Perceptions Index : CPI) ประจำปี 2558 ไปเมื่อวันที่ 27 มกราคม 2559 โดยประเทศไทยได้ 38 คะแนนเท่าปีที่ผ่านมา จากคะแนนเต็ม 100 และได้ลำดับที่ 76 จาก 168 ประเทศทั่วโลก และลำดับที่ 3 จาก 9 ประเทศอาเซียน ผลคะแนนดัชนีการรับรู้การทุจริตประจำปีนี้ ยังมีหลายประเทศที่มีคะแนน ต่ำกว่าครึ่งหนึ่ง หรือได้คะแนนไม่เกิน 50 คะแนน จากผลดัชนีการรับรู้การทุจริตของประเทศต่างๆ ทั่วโลกดังกล่าว แสดงให้เห็นว่าปัญหาการทุจริตคอร์รัปชันยังคงเป็นปัญหาสำคัญที่ทุกประเทศต้องเร่งแก้ไข มิเช่นนั้นจะทำให้ เกิดปัญหาอื่นตามมา ไม่ว่าจะเป็นปัญหาเศรษฐกิจ สังคม และการเมือง ที่สำคัญมีความจำเป็นอย่างยิ่งที่ทุกภาคส่วนต้องร่วมมือกันเพื่อขับเคลื่อนการป้องกันและปราบปรามการทุจริตโดยการแสดงพลังและเจตนารมณ์ ให้ทั่วโลกได้เห็น โดยทุกประเทศร่วมกันจัดงานวันต่อต้านคอร์รัปชัน ในวันที่ 9 ธันวาคมของทุกปี กำหนดเป็น วันต่อต้านคอร์รัปชันสากล สำนักงาน ป.ป.ช. คาดหวังว่าความร่วมมือระหว่างองค์กรกับภาคีทุกภาคส่วนในการป้องกัน การทุจริตครั้งนี้ จะเป็นการกระตุ้นเตือนให้สังคมและทุกภาคส่วนตระหนักในผลเสียหายร้ายแรงที่เกิดขึ้นจากการทุจริตคอร์รัปชัน จึงได้จัดทำยุทธศาสตร์ชาติว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต ระยะที่ ๓ (พ.ศ. ๒๕๖๐ - ๒๕๖๔) โดยมีวิสัยทัศน์ที่ว่า "ประเทศไทยใสสะอาด ไทยทั้งชาติต้านทุจริต (Zero Tolerance and Clean Thailand)" ประกอบด้วย ๖ ยุทธศาสตร์ คือ 1) สร้างสังคมที่ไม่ทนต่อการทุจริต 2) ยกระดับเจตจำนงทางการเมืองในการต่อต้านการทุจริต 3) สกัดกั้นการทุจริตเชิงนโยบาย 4) พัฒนาระบบป้องกันการทุจริตเชิงรุก 5) ปฏิรูปกลไกและกระบวนการการปราบปรามการทุจริต 6) ยกระดับดัชนีการรับรู้การทุจริตของประเทศไทย ทั้งนี้ เพื่อลดปัญหาการทุจริตสามารถยกระดับมาตรฐานจริยธรรม คุณธรรม และความโปร่งใส ของประเทศไทยในทุกมิติ ให้มีมาตรฐานตามอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการต่อต้านการทุจริต ค.ศ. 2003 (United Nations Convention against Corruption : UNCAC) ภายในปี พ.ศ. ๒๕๖4 เพื่อเป้าประสงค์เชิงยุทธศาสตร์ ในการเพิ่มระดับคะแนนของดัชนีการรับรู้การทุจริต (Corruption Perceptions Index : CPI) ไม่น้อยกว่าร้อยละ 50

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ