'สสจ.นพ.’ เตรียมซ้อมแผนชายแดนไทย-ลาว พร้อมตอบโต้ฉุกเฉิน กรณีเกิด 'โรคเมอร์ส’

ข่าวทั่วไป Tuesday December 20, 2016 11:50 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--20 ธ.ค.--สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดนครพนม โรคติดต่ออุบัติใหม่ในปัจจุบัน ได้แก่ โรคติดเชื้อไวรัสอีโบลา โรคไข้หวัดใหญ่ 2009 โรคติดเชื้อทางเดินหายใจตะวันออกกลาง หรือโรคเมอร์ส โรคติดเชื้อไวรัสซิกา โรคไข้หวัดนก เป็นปัญหาที่ทั่วโลกหวั่นวิตกและเป็นปัญหาสำคัญระดับประเทศ โดยส่วนใหญ่มีต้นกำเนิดมาจากสัตว์หรือสัตว์ป่า และมีปัจจัยเสี่ยงต่อการเกิดโรค ได้แก่ การเคลื่อนย้ายของประชากร การเดินทางติดต่อการค้าระหว่างประเทศ ความชุกชุมของสัตว์พาหะนำโรค การขาดความรู้ความเข้าใจ และความตระหนักในการป้องกันควบคุมโรคของปาะชาชน ซึ่งหากเกิดขึ้นแช้วอาจระบาดไปอย่างกว้างและรวดเร็ว ซึ่งจะทำให้เกิดความสูญเสียต่อชีวิตและสุขภาพของประชาชน เศรษฐกิจและสังคมอย่างมหาศาล นายแพทย์จรัญ จันทมัตตุการ นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดนครพนม เปิดเผยว่า จังหวัดนครพนมจะจัดประชุมเชิงปฏิบัติการฝึกซ้อมแผนชายแดนไทย-ลาว (นครพนม-คำม่วน) เพื่อเตรียมความพร้อมตอบโต้ภาวะฉุกเฉิน กรณีโรคทางเดินหายใจตะวันออกกลาง (โรคเมอร์ส) ระหว่างวันที่ 20-22 ธันวาคม 2559 ณ ห้องประชุมศรีโคตรบูรณ์ โรงพยาบาลนครพนม โดยวันที่ 20 ธันวาคม 2559 จะเป็นการประชุมของผู้จัดการฝึกซ้อมแผนและผู้ประเมิน ส่วนพิธีเปิดการประชุมเชิงปฏิบัติการอย่างเป็นทางการจะเริ่มเวลา 09.00 น.วันที่ 21 ธันวาคม 2559 "เพื่อเป็นการเตรียมพร้อมรับสถานการณ์การระบาดของโรคที่อาจเกิดขึ้น สามารถตรวจจับการเกิดโรคได้อย่างรวดเร็ว และควบคุมโรคโดยทันทีไม่ให้เกิดการระบาด ซึ่งกระบวนการต้องอาศัยการมีส่วนร่วมจากทุกภาคส่วน และเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องร่วมกันแก้ไขปัญหา มีการบูรณาการและแนวทางปฏิบัติ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการฝึกซ้อมที่ต่อเนื่อง เพื่อผลักดันให้ทุกหน่วยงานมีความรู้ความเข้าใจ ทักษะวิธีการปฏิบัติ สามารถนำไปปรับใช้ให้สอดคล้องกับสถานการณ์และตามบริบทของพื้นที่" นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดนครพนม กล่าว อนึ่ง ผู้เข้าร่วมประชุม ประกอบด้วย เจ้าหน้าที่สาธารณสุขและเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องจากคำม่วน ทหาร ตำรวจ ด่านตรวจคนเข้าเมือง ด่านศุลกากร เจ้าหน้าที่สาธารณสุขในสังกัดสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดนครพนม เชียงราย น่าน เลย หนองคาย บึงกาฬ มุกดาหาร อุบลราชธานี สำนักงานป้องกันควบคุมโรคที่ 1 เชียงใหม่ สำนักงานป้องกันควบคุมโรคที่ 8 อุดรธานี สำนักงานป้องกันควบคุมโรคที่ 10 อุบลราชธานี และหน่วยงานอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง จำนวน 175 คน โดยได้รับการสนับสนุนวิทยากรจากสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดนครพนม และกรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ