ชมรมขับเคลื่อนวิชาการเพื่อวิจัยความสุขชุมชน สำนักวิจัย ซูเปอร์โพล เสนอผลวิจัยเชิงสำรวจ เรื่อง โพล ปรับ ครม. ความเชื่อมั่นและความกังวลของสาธารณชน

ข่าวทั่วไป Thursday December 29, 2016 09:11 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--29 ธ.ค.--สำนักวิจัยซูเปอร์โพล ดร.นพดล กรรณิกา ประธานชมรมขับเคลื่อนวิชาการเพื่อวิจัยความสุขชุมชน สำนักวิจัยซูเปอร์โพล (SUPER POLL) เปิดผลสำรวจ เรื่อง โพล ปรับ ครม. ความเชื่อมั่นและความกังวลของสาธารณชน กรณีศึกษาตัวอย่างประชาชนทุกสาขาอาชีพ จำนวน 1,230 ตัวอย่าง ดำเนินโครงการระหว่างวันที่ 18 - 23 ธันวาคม ที่ผ่านมา พบว่า ประชาชนส่วนใหญ่หรือร้อยละ 61.1 ระบุทราบข่าวการปรับคณะรัฐมนตรีครั้งล่าสุด ที่น่าพิจารณาคือ ปัญหาสำคัญที่ต้องการให้ คณะรัฐมนตรีชุดใหม่ เร่งแก้ไข พบว่า อันดับแรก หรือร้อยละ 67.5 ระบุ ปัญหาการศึกษา ได้แก่ ปฏิรูปการศึกษา นำค่านิยม 12 ประการมาใช้จริงจัง รองลงมาคือร้อยละ 61.3 ระบุปัญหาการเกษตร ได้แก่ พืชผลทางการเกษตร เศรษฐกิจชุมชน ลดต้นทุนทางการเกษตร ร้อยละ 35.8 ระบุปัญหาการสื่อสารความเข้าใจกับประชาชน ได้แก่ ทำเรื่องยากๆ ให้เข้าใจง่าย ร้อยละ 33.5 ระบุปัญหาวัดพระธรรมกาย ร้อยละ 32.6 ระบุปัญหาในโลกโซเชียลออนไลน์ ได้แก่ การก่ออาชญากรรมบนโลกออนไลน์ และใช้โลกออนไลน์ให้เกิดพลังทางสังคมที่ดี ร้อยละ 30.4 ระบุปัญหาด้านอุตสาหกรรม ได้แก่ การพัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษให้คนไทยทั้งประเทศได้ประโยชน์แท้จริง และ ร้อยละ 30.2 ระบุปัญหาการใช้เทคโนโลยี ได้แก่ พัฒนาการใช้เทคโนโลยีที่อนุรักษ์สิ่งแวดล้อม ตามลำดับ ที่น่าสนใจคือ ส่วนใหญ่หรือร้อยละ 68.2 ระบุ เชื่อมั่นต่อ คณะรัฐมนตรีชุดใหม่ ตั้งใจทำงานภายใต้การนำของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชาค่อนข้างมาก-มากที่สุด แต่ที่น่าเป็นห่วงคือ ประชาชนส่วนใหญ่หรือร้อยละ 79.4 กังวลว่า กลุ่มข้าราชการประจำ หลังปรับ คณะรัฐมนตรีแล้ว จะใส่เกียร์ว่าง รอวันเลือกตั้งที่จะมาถึง ผอ.ซูเปอร์โพล กล่าวว่า ถึงแม้ว่าผลสำรวจนี้ชี้ให้เห็นความเชื่อมั่นของประชาชนส่วนใหญ่จะยังคงอยู่ที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ทั้งๆ ที่บางคนไม่ทราบข่าวการปรับ ครม. ก็ตาม แต่ในปีหน้านี้อาจมี "ปรากฏการณ์อนาคต" (Alternative Scenario) ที่จะเกิดขึ้นได้โดยประชาชนส่วนใหญ่กังวลคือ ปรากฏการณ์เกียร์ว่างของข้าราชการประจำหรือเจ้าหน้าที่รัฐ ไม่ตอบสนองต่อนโยบายของรัฐบาลแต่รอวันเลือกตั้งที่จะมาถึง ซึ่งแตกต่างไปจากช่วงแรกๆ ในห้วงเวลาของการเข้ามาของ คสช. และ รัฐบาล ดังนั้น มาตรการเข้มและยุทธศาสตร์เสริมสร้างการรับรู้ ความเข้าใจ ความเชื่อมั่นและการสนับสนุนของสาธารณชนต่อรัฐบาลและ คสช. จึงเป็นเรื่องสำคัญ เพื่อทำให้บ้านเมืองและยุทธศาสตร์ชาติได้รับการขับเคลื่อนอย่างจริงจังและต่อเนื่อง

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ