เอกชนปลื้มรัฐผ่านร่าง พรบ.ภาษีสรรพสามิตตามกรอบเวลา จับตา 4 ประเด็นในกฎหมายลูก ปฏิบัติได้จริง ไม่กระทบผู้บริโภค

ข่าวหุ้น-การเงิน Thursday December 29, 2016 17:10 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--29 ธ.ค.--Siam PR Consultant เอกชนขานรับนโยบายปรับโครงสร้างภาษีสรรพสามิต ส่งเสริมรัฐฯ ชูโครงสร้างการเปลี่ยนฐานการคิดภาษีจากราคาหน้าโรงงานหรือราคานำเข้า มาเป็นราคาขายปลีกแนะนำ บนหลักการที่เป็นไปตามกลไกราคาที่เป็นอิสระของผู้ประกอบการ ไม่แทรกแซงการกำหนดราคาขายปลีกแนะนำ พร้อมชง "กฎหมายลูก" ต้องสอดรับกับกฎหมายหลัก ตอบโจทย์การปฏิรูปภาษี ผู้ประกอบการสามารถขับเคลื่อนธุรกิจ ไม่กระทบ-ผลักภาระผู้บริโภค นำรายได้เข้ารัฐ เดินหน้าร่วมกันทั้งสองฝ่าย นางมัลลิกา ภูมิวาร ผู้เชี่ยวชาญด้านภาษีศุลกากรและการค้าการลงทุนระหว่างประเทศ บริษัท โบลลิเกอร์ แอนด์ คอมพานี คอนซัลติ้ง จำกัด เปิดเผยว่า หลักจากที่สภานิติบัญญัติแห่งชาติได้ลงมติเห็นชอบร่างพระราชบัญญัติภาษีสรรพสามิต พ.ศ... ไปเมื่อวันที่ 22 ธันวาคม ที่ผ่านมา นับเป็นการแก้ไขโครงสร้างภาษีสรรพสามิตครั้งใหญ่ของประเทศ ซึ่งที่ผ่านมาการที่รัฐออกมาผลักดันเรื่องการปรับโครงสร้างภาษีสรรพสามิตนั้น ภาคธุรกิจทั้งหอการค้าไทย อเมริกัน และยุโรป ต่างออกมาแสดงความคิดเห็นยอมรับและสนับสนุนในหลักการดังกล่าว โดยมีการตั้งข้อสังเกตว่าหลักการดังกล่าวจะต้องอยู่บนพื้นฐานหลักสากลที่ผู้ประกอบการสามารถยอมรับได้ โดยเฉพาะประเด็นการให้อิสระผู้ประกอบการในการตั้งราคาขายปลีกแนะนำที่จะนำมาใช้เป็นฐานภาษีใหม่ อย่างไรก็ตาม ภาคเอกชนยังเฝ้าติดตามดูความชัดเจนในกฎหมายลูกที่จะบังคับใช้ว่าจะตอบโจทย์ให้การจัดเก็บภาษีเป็นไปอย่างเรียบง่าย โปร่งใส ลดปัญหาดุลยพินิจและทำให้การเก็บภาษีสรรพสามิตมีประสิทธิภาพมากขึ้นโดยไม่ผลักภาระให้ผู้บริโภคได้หรือไม่ ประกอบด้วย 4 เรื่องหลักๆ ได้แก่ 1. ฐานภาษี เนื่องจากกฎหมายให้สามารถเลือกได้ว่าจะเก็บจากมูลค่า (ad valorem) ปริมาณของสินค้า (specific) หรือจะเก็บทั้ง 2 แบบ ซึ่งกฎหมายลูกจะเป็นตัวกำหนด อย่างกรณีสินค้าประเภทสุราและเบียร์ รัฐเสนอเก็บทั้ง 2 แบบ ซึ่งเป็นแนวคิดที่ดีในเชิงนโยบายการเก็บภาษีจากฐานที่เหมาะสมมากขึ้น 2. อัตราส่วนระหว่างการเก็บจากปริมาณของสินค้า (specific) และจากมูลค่า (ad valorem) ต้องสะท้อนวัตถุประสงค์การจัดเก็บ โดยการจัดเก็บตามปริมาณจะช่วยแก้ปัญหาผู้บริโภค down trading หรือการหันไปบริโภคสินค้าราคาถูก ซึ่งจะส่งผลดีต่อรัฐในด้านรายได้การจัดเก็บภาษี 3. อัตราภาษี ต้องประกาศปรับลดใหม่เป็นรายอุตสาหกรรมให้สอดคล้องกับฐานภาษีที่สูงขึ้น ไม่ผลักภาระให้ภาคธุรกิจและผู้บริโภค อัตราที่จะออกมาต้องเรียบง่าย เสมอภาค เช่น การใช้อัตราเดียวกันทั้งหมดในแต่ละประเภทสินค้า (single rate) 4. การกำหนดราคาขายปลีกแนะนำ รัฐต้องทำให้กฎหมายลูกที่กำลังจะออกมาสามารถนำมาปฏิบัติและใช้ได้จริง โดยต้องให้อิสระในเรื่องการกำหนดราคาขายปลีกแก่ผู้ประกอบการและควรปกป้องข้อมูลที่สำคัญและถือเป็นความลับของภาคธุรกิจ ไม่ขัดต่อนโยบายการแข่งขันทางการค้าตามแนวทางการค้าเสรี ตลอดจนเป็นที่ยอมรับของภาคธุรกิจ ซึ่งจะเป็นแรงขับเคลื่อนเศรษฐกิจที่สำคัญของประเทศในอนาคต ผู้เชี่ยวชาญด้านภาษีศุลกากรและการค้าการลงทุนระหว่างประเทศ กล่าวสรุป

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ