ตำนานสมเด็จพระนเรศวรมหาราช “ภาคองค์ประกันหงสา”

ข่าวบันเทิง Friday December 30, 2016 15:24 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--30 ธ.ค.--Mono 29 พุทธศักราช ๒๑๐๖ พระเจ้าหงสาวดีบุเรงนอง ทรงกรีฑาทัพเข้าตีราชอาณาจักรอยุธยา โดยได้เข้ายึดครองหัวเมืองฝ่ายเหนืออันมี "เมืองพิษณุโลก" เป็นราชธานี ได้เป็นผลสำเร็จ ครั้งนั้น "สมเด็จพระมหาธรรมราชา" (เจ้าแผ่นดินครองเมืองพิษณุโลก - พระราชบิดาของสมเด็จพระนเรศวร หรือ พระองค์ดำ) จำต้องยอมอ่อนน้อมต่อพระเจ้าบุเรงนอง เพื่อรักษาไว้ซึ่งชีวิตอาณาประชาราษฎร์มิให้ต้องมีภัยอันตราย และจำต้องยอมร่วมกระบวนทัพพม่าเข้าตีกรุงศรีอยุธยา ศึกครั้งนั้น "สมเด็จพระมหาจักรพรรดิ" เจ้าแผ่นดินอยุธยา ทรงยอมเจรจาหย่าศึกกับพม่ารามัญ และ ถวายช้างเผือก ๔ เชือก ทั้งให้ "สมเด็จพระราเมศวร" (ราชโอรส) เสด็จไปประทับยังนครหงสาวดีตามพระประสงค์ของกษัตริย์พม่า ข้าง "สมเด็จพระมหาธรรมราชา" ก็จำต้องถวายตัว "สมเด็จพระนเรศวร" ราชโอรสองค์โต ซึ่งมีพระชนมายุได้เพียง ๙ ชันษา ไปเป็นองค์ประกัน ประทับยังหงสาประเทศเช่นกัน ด้วยพระปรีชาสามารถด้านพิชัยยุทธ ทั้งยังองอาจกล้าหาญ "สมเด็จพระนเรศวร" จึงทรงเป็นที่รักใคร่ของ "พระเจ้าหงสาวดี บุเรงนอง" ประดุจพระราชบุตรร่วมสายสันตติวงศ์ แลทรงมีสายพระเนตรยาวไกล เห็นว่าสืบไปเบื้องหน้า "สมเด็จพระนเรศวร" จะได้ขึ้นเป็นใหญ่ในอุษาคเนย์ประเทศ จึงทรงปลูกฝังให้สมเด็จพระนเรศวรผูกพระทัยรักแผ่นดินหงสา เพื่อจะได้อาศัยเป็นผู้สืบอำนาจอุปถัมภ์ค้ำชูราชอาณาจักรซึ่งพระองค์ทรงสถาปนาขึ้นด้วยความยากลำบาก แลหาได้วางพระทัยในพระราชโอรส "พระเจ้านันทบุเรง" และพระราชนัดดา "มังกยอชวา" ด้วยทรงเล็งเห็นว่าราชนิกุลทั้งสองพระองค์นั้น หาได้เป็นผู้ทรงคุณธรรม เหตุนี้จึงเป็นชนวนให้ "พระเจ้านันทบุเรง" และ "ราชโอรสมังกยอชวา" ขัดพระทัยทั้งผูกจิตริษยา "สมเด็จพระนเรศวร" ตลอดมา นับแต่เริ่มเข้าประทับในหงสานคร พระเจ้าบุเรงนองทรงโปรดให้ "พระมหาเถรคันฉ่อง" พระรามัญผู้มากด้วยวิทยาคุณและเจนจบในตำราพิชัยสงคราม เป็นพระอาจารย์ถ่ายทอดศิลปะวิทยาการแก่ "สมเด็จพระนเรศวร" ยังผลให้ยุพราชอยุธยาเชี่ยวชาญการยุทธ กลช้าง กลม้า กลศึก ทั้งข้างอยุธยาและข้างพม่ารามัญหาผู้เสมอเหมือน พุทธศักราช ๒๑๑๒ (๖ ปีต่อมา) "สมเด็จพระมหาจักรพรรดิ" เจ้าแผ่นดินอยุธยาเสด็จออกผนวช แลสถาปนา "สมเด็จพระมหินทร์" ราชโอรสองค์รองขึ้นเสวยราชสมบัติสืบแทน "สมเด็จพระมหินทร์" ทรงคลางแคลงพระทัยในความจงรักภักดีของ "สมเด็จพระมหาธรรมราชา" มาแต่ครั้งสงครามชิงช้างเผือก เมื่อ ๖ ปีก่อน ขณะที่เจ้าแผ่นดินพิษณุโลกก็หาได้ยำเกรงสมเด็จพระมหินทร์เช่นสมเด็จพระมหาจักรพรรดิ กษัติร์ย์อยุธยาพระองค์ใหม่ จึงหันไปสมคบกับ "สมเด็จพระไชยเชษฐาธิราช" พระเจ้ากรุงศรีสัตนาคนหุตล้านช้างร่มขาว ร่วมกันเข้าตีเมืองพิษณุโลก แต่กระทำการมิสำเร็จ "พระเจ้าหงสาวดีบุเรงนอง" เห็นเชิงสบโอกาสจึงยกทัพใหญ่เข้าตีกรุง ศรีอยุธยาอีกคำรบ ครั้งนั้น "สมเด็จพระนเรศวร" ร่วมโดยเสด็จมากับทัพหงสา แลทรงประทับอยู่เพียงเมืองพิษณุโลก มีเพียง "สมเด็จพระมหาธรรมราชา" โดยเสด็จกษัตริย์หงสาลงมากรุงศรีอยุธยา ด้วยตั้งพระทัยจะเกลี้ยกล่อมให้ "สมเด็จพระมหินทร์" ยอมสวามิภักดิ์พระเจ้าบุเรงนอง เพราะเล็งเห็นว่าอยุธยายากจะต่อรบเอาชัย แม้ศึกครั้งนั้น "สมเด็จพระมหาจักรพรรดิ" ทรงลาผนวชมาบัญชาการรบด้วยพระองค์เอง แต่อยู่ได้มิช้านานก็เสด็จสวรรคตระหว่างศึก กรุงศรีอยุธยาก็เสียแก่พระเจ้าหงสาวดีบุเรงนอง ข้าง "สมเด็จพระนเรศวร" ซึ่งประทับอยู่ยั้งยังนครพิษณุโลกแต่ต้นศึก ทรงรู้ซึ้งว่า "สมเด็จพระมหาธรรมราชา" พระราชบิดามิได้คิดคดเป็นกบฏต่อแผ่นดิน แต่ก็หาได้เห็นด้วยกับการอ่อนข้อสวามิภักดิ์พม่ารามัญ น้ำพระทัยอันมั่นคง เด็ดเดี่ยวนั้น ถึงแม้จะมิได้แพร่งพราย แต่ก็ประจักษ์อยู่ในหมู่ข้าราชบริพารใกล้ชิดผู้รักและหวงแหนในเอกราชของแผ่นดิน จึงพากันนิยมในน้ำพระทัย แลพร้อมใจถวายความจงรักภักดีแต่นั้นมา ครั้นเสร็จศึกอยุธยาพุทธศักราช ๒๑๑๒ "สมเด็จพระมหาธรรมราชา" ทรงถวาย "พระสุพรรณกัลยา" (พระพี่นางสมเด็จพระนเรศวร) แก่พระเจ้าหงสาวดีบุเรงนอง และ "สมเด็จพระมหาธรรมราชา" ได้รับการสถาปนาขึ้นเป็นกษัตริย์ครองกรุงศรีอยุธยา ครั้นลุปีพุทธศักราช ๒๑๑๔ "พระสุพรรณกัลยา" แลขอตัว "สมเด็จพระนเรศวร" จากพระเจ้าหงสาวดีบุเรงนอง เสด็จกลับยังเมืองพิษณุโลก เพื่อช่วยราชการข้างอยุธยา และโปรดให้สมเด็จพระนเรศวรเสวยราชย์ครอง "เมืองพิษณุโลก" เป็นใหญ่เหนือหัวเมืองเหนือทั้งปวง

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ