เศรษฐกิจไทย – 'หายใจคล่องขึ้น’

ข่าวหุ้น-การเงิน Thursday January 5, 2017 15:20 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--5 ม.ค.--ธนาคารเอชเอสบีซี ประเทศไทย โดย นางสาวนลิน ฉัตรโชติธรรม นักเศรษฐศาสตร์ ธนาคารเอชเอสบีซี ประเทศไทย เราปรับประมาณการการเติบโตของเศรษฐกิจไทยในปี 59 มาอยู่ที่ร้อยละ 3.0 จากร้อยละ 2.8 และปรับเพิ่มการคาดการณ์สำหรับทั้งปี 60 และ 61 มาที่ร้อยละ 3.2 จากเดิมร้อยละ 2.8 และ 3.0 ตามลำดับ โดยเศรษฐกิจได้ขยายตัวเฉลี่ยร้อยละ 3.3 ในสามไตรมาสแรกของปี 59 สูงกว่าการคาดการณ์ของเรา แม้ว่าสาเหตุส่วนหนึ่งจะมาจากการนำเข้าพลังงานและสินค้าทุนที่ลดลงก็ตาม อย่างไรก็ดี การลงทุนภาครัฐ การบริโภคภาคเอกชน และการส่งออกภาคบริการ (ส่วนใหญ่เป็นการท่องเที่ยว) ขยายตัวได้ดีกว่าคาด และแรงขับเคลื่อนเหล่านี้ยังช่วยชดเชยภาวะซบเซาของการส่งออกสินค้า การลงทุนภาคเอกชน รวมทั้งการปรับลดสินค้าคงคลัง (destocking) ได้บางส่วน ในปี 60 เราคาดว่าการลงทุนภาครัฐจะยังคงเป็นหนึ่งในแรงขับเคลื่อนหลักของการเติบโตของเศรษฐกิจไทย แม้ว่าจะมีแนวโน้มชะลอตัวลงหลังจากที่เร่งตัวขึ้นมากในปี 59 ทั้งนี้เนื่องจากว่าหลายโครงการโครงสร้างพื้นฐานได้พัฒนาไปสู่ลำดับการประกวดราคาหรือการก่อสร้างแล้ว โดยได้รับผลดีมาจากการที่รัฐบาลได้มีแผนปฏิบัติการประจำปี (action plan) ออกมาเพื่อให้ความชัดเจนมากขึ้นในส่วนของโครงการสำคัญและเร่งด่วน นอกจากนี้ เราคาดว่ากระบวนการ destocking ที่ส่งผลให้การเติบโตของจีดีพีลดลงมากถึงประมาณ 3.0pp ในสามไตรมาสแรกของปี 59 จะพลิกกลับมาเป็นผลบวกต่อจีดีพีในปี 60 อย่างไรก็ดี ความไม่แน่นอนจากภายนอก (เช่นนโยบายการค้าของสหรัฐฯ และการเติบโตของเศรษฐกิจเอเชีย) มีแนวโน้มที่จะทำให้การส่งออกของไทยยังคงขยายตัวต่ำ แม้ว่าผลเชิงลบต่อเศรษฐกิจโดยรวมจะลดน้อยลงจากปี 59 ก็ตาม อย่างน้อย ไทยยังสามารถรักษาสัดส่วนตลาดของสินค้าส่งออกได้ในตลาดส่วนใหญ่ ในขณะเดียวกันการท่องเที่ยวมีแนวโน้มที่จะฟื้นตัวขึ้นหลังจากที่ผลกระทบชั่วคราวจากมาตรการปราบปรามผู้ประกอบการภาคการท่องเที่ยวบางส่วนที่ทำผิดกฎ มุมมองที่ออกมาในเชิงบวกมากขึ้นนี้ ส่วนหนึ่งได้คำนึงถึงพื้นที่การดำเนินนโยบายการคลังที่ยังคงมีเพียงพอ โดยงบขาดดุลงบประมาณปี 60 ที่ 3.9 แสนล้าน (ร้อยละ 2.7 ของจีดีพี) ของรัฐบาลยังสามารถที่จะเพิ่มขึ้นได้อีกร้อยละ 50 ตามกฎหมาย หากมีความจำเป็น ซึ่งครม. ได้อนุมัติงบประมาณเพิ่มอีก 1.9 แสนล้าน เมื่อวันที่ 7 ธันวาคม ซึ่งคาดว่าจะน่าจะผ่านความชอบของสนช.ในช่วงต้นเดือนกุมภาพันธ์ และทำให้การขาดดุลเพิ่มเป็นร้อยละ 3.3 แต่ถึงกระนั้น เราคาดว่าสัดส่วนหนี้สาธารณะต่อจีดีพีจะยังอยู่ในระดับที่ต่ำกว่าร้อยละ 50 ในอีกสองปีข้างหน้า (สิ้นปีงบประมาณ 61) นอกจากนี้ เราคาดว่าสภาพคล่องในประเทศยังคงอยู่ในระดับสูง โดยได้แรงหนุนจากการเติบโตของเงินฝากและการเกินดุลบัญชีเดินสะพัดที่ต่อเนื่อง อย่างไรก็ตาม อัตราการเติบโตของเศรษฐกิจคงยังจะไม่สามารถกลับไปขยายตัวในระดับสูงดังเช่นช่วงก่อนวิกฤตการเงินโลกปี ค.ศ. 2008 ได้ โดยหนี้ภาคครัวเรือนที่สูง และคุณภาพสินเชื่อที่ลดลงในกลุ่มผู้ประกอบการขนาดเล็กและขนาดกลาง ยังคงเป็นปัจจัยต่อการเติบโต นอกจากนี้ การฟื้นตัวของอุปสงค์ในประเทศในช่วงที่ผ่านมายังต้องอาศัยแรงสนับสนุนจากมาตรการภาครัฐอย่างต่อเนื่อง ซึ่งรวมถึงเงินอุดหนุนในภาคการเกษตร ทั้งนี้ ปัญหาเชิงโครงสร้างของไทยยังคงมีอยู่ เช่น การออมของครัวเรือนที่อยู่ในระดับต่ำ โครงสร้างประชากรที่มีความชราภาพมากขึ้น และความสามารถด้านการแข่งขันภาคส่งออกที่ลดลง เป็นต้น ประเด็นด้านนโยบาย เราคาดว่าธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) จะไม่ปรับลดอัตราดอกเบี้ยลงอีกในปีนี้ โดยธปท.มีทีท่าที่จะรักษาพื้นที่นโยบายในกรณีที่เกิดเหตุการณ์ไม่คาดฝัน แต่อย่างไรก็ดี นโยบายการเงินจะยังคงอยู่ในแนวโน้มที่ผ่อนคลายต่อไป โดยอัตราดอกเบี้ยนโยบายน่าจะอยู่ที่ร้อยละ 1.5 จนถึงสิ้นปี 61 ทั้งนี้ เนื่องจากว่า ธปท.ยังมีความกังวลเกี่ยวกับการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกที่ยังเปราะบาง รวมถึงความไม่แน่นอนด้านนโยบายของเศรษฐกิจใหญ่หลายประเทศ ซึ่งธปท. เองเกรงว่าจะก่อให้เกิดความผันผวนในตลาดการเงินและเป็นอุปสรรคต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจของประเทศคู่ค้าของไทยได้ นอกจากนี้ แรงกดดันด้านราคาน่าจะอยู่ในวงจำกัดต่อไป แม้ว่าการเติบโตของเศรษฐกิจอาจจะสูงกว่าที่คาด โดยการคาดการณ์เงินเฟ้อยังทรงตัวและทั้งอัตราเงินเฟ้อทั่วไปและอัตราเงินเฟ้อพื้นฐานในปี 59 ล้วนแล้วแต่ออกมาต่ำกว่าที่คาดไว้ก่อนหน้า อันเนื่องมาจากการที่ภาคธุรกิจไม่สามารถปรับราคาขึ้นได้ส่วนหนึ่ง ล่าสุด เราได้ปรับประมาณการอัตราเงินเฟ้อของทั้งปี 60 และ 61 ลงมาที่ร้อยละ 1.7 และ 2.0 จากเดิมร้อยละ 2.0 และ 2.1 ตามลำดับ สำหรับนโยบายด้านอัตราแลกเปลี่ยน เราคาดว่า ธปท. จะคงแนวนโยบายลดความผันผวนในระยะสั้นต่อไป แต่คงไม่พยายามที่จะต้านแนวโน้มของตลาดโลก หรือแรงกดดันที่มาจากการเปลี่ยนแปลงด้านปัจจัยพื้นฐานของเศรษฐกิจไทย ช่วงที่ผ่านมา ค่าเงินบาทถ่วงน้ำหนัก (Nominal Effective Exchange Rate) ยังค่อนข้างมีเสถียรภาพ ส่วนหนึ่งสะท้อนให้เห็นถึงระดับเงินทุนสำรองต่างประเทศที่เพียงพอ และเสถียรภาพภายนอกที่ดีของเศรษฐกิจไทย ด้านความเสี่ยง ปัจจัยเสี่ยงที่สำคัญต่อการประเมินแนวโน้มเศรษฐกิจของเรา คือ (1) ความล่าช้าในการลงทุนของภาครัฐที่อาจเกิดขึ้นช่วงใกล้การเลือกตั้ง (2) การฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกที่อาจต่ำกว่าคาด (3) ความผันผวนในตลาดการเงินโลกซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อกิจกรรมและการตัดสินใจของภาคธุรกิจ และ (4) จำนวนนักท่องเที่ยวที่อาจจะน้อยกว่าคาดจากความไม่แน่นอนทางการเมืองของประเทศไทยหรือจากการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลก เนื่องจากมีการวางแผนจัดการเลือกตั้งในช่วงปลายปี 60 หรือในช่วงต้นปี 61 ความต่อเนื่องของนโยบายเกี่ยวกับการปฏิรูปเศรษฐกิจจะขึ้นอยู่กับรัฐบาลชุดใหม่ด้วยส่วนหนึ่ง อย่างไรก็ดี บางส่วนของแผนการปฏิรูปที่สำคัญอาจจะแล้วเสร็จภายในสิ้นปี 60 เช่น พ.ร.บ.การเงินการคลังของรัฐ พ.ร.บ. การแข่งขันทางการค้าฉบับใหม่ และ พ.ร.บ. การพัฒนาการกำกับดูแลและบริหารรัฐวิสาหกิจ เป็นต้น กฎหมายเหล่านี้จะช่วยผลักดันขีดความสามารถของการเติบโตเศรษฐกิจให้สูงขึ้นผ่านช่องทางต่างๆ เช่น การเพิ่มประสิทธิภาพของรัฐวิสาหกิจ และการเสริมสร้างสภาพแวดล้อมทางธุรกิจให้แข็งแกร่งขึ้น อย่างไรก็ดี เราคาดว่าแผนการลงทุนและนโยบายของรัฐในด้านโครงสร้างพื้นฐานมีการเปลี่ยนแปลงน้อยในอดีต จึงน่าจะมีความต่อเนื่องในช่วงต่อไป

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ