สถานอารยธรรมศึกษา โขง-สาละวิน มหาวิทยาลัยนเรศวร ผนึกพลังทุกภาคส่วน เปิดตัวการท่องเที่ยวแนวใหม่ ณ ภูลมโล ใส่ใจชุมชนและสิ่งแวดล้อม พร้อมการจัดระเบียบ และปลูกจิตสำนึก

ข่าวทั่วไป Tuesday January 10, 2017 09:54 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--10 ม.ค.--มหาวิทยาลัยนเรศวร จากผลงานวิจัยการจัดการชุมชนท่องเที่ยวภูลมโลและพื้นที่เชื่อมโยง สู่ความร่วมมือเพื่อแก้ปัญหาความแออัดของนักท่องเที่ยว สถานที่จอดรถ เส้นทางการท่องเที่ยว ความสะอาด สาธารณูปโภค การอำนวยความสะดวกต่าง ๆ ตลอดจนการมีส่วนร่วมและสร้างรายได้ให้ชุมชน ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.วศิน ปัญญาวุธตระกูล ผู้อำนวยการสถานอารยธรรมศึกษา โขง-สาละวิน และผู้อำนวยการแผนการวิจัย กล่าวว่า "โครงการวิจัยการจัดการชุมชนท่องเที่ยวบนพื้นที่สูง กรณีศึกษาภูลมโลและพื้นที่เชื่อมโยงอย่างยั่งยืน ได้รับการสนับสนุนทุนวิจัยจากสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) เพื่อสร้างความยั่งยืนด้านการท่องเที่ยว พิษณุโลก-เพชรบูรณ์-เลย ในรูปแบบการจัดการร่วมของชุมชนท่องเที่ยวหลายพื้นที่หลายหน่วยงาน บนฐานนิเวศวัฒนธรรมร่วมกัน จากการลงพื้นที่เก็บข้อมูลใน ๓ พื้นที่ซึ่งมีชาวม้งอาศัยอยู่เป็นจำนวนมาก ได้แก่ บ้านใหม่ร่องกล้า จังหวัดพิษณุโลก ภูทับเบิก จังหวัดเพชรบูรณ์ และบ้านกกสะทอน จังหวัดเลย พบว่า แต่ละหมู่บ้านมีความโดดเด่นด้านคุณค่าทางวัฒนธรรม จากเดิมชาวม้งมีวิถีชีวิต เศรษฐกิจ วัฒนธรรม ประเพณี การละเล่นที่เคยรู้จักกันเพียงในกลุ่ม ได้ถูกพัฒนาเพื่อดึงดูดนักท่องเที่ยว นับเป็นการส่งเสริมการท่องเที่ยว สิ่งนี่เองก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลง ซึ่งอาจมีผลต่อระบบเศรษฐกิจและโครงสร้างของชุมชน เกิดการเปลี่ยนแปลงที่อาจกลายเป็นปัญหาในอนาคต" จากการลงพื้นที่นำมาสู่การเสวนาเพื่อระดมความคิดเห็นจากภาครัฐ เอกชน ชุมชน และผู้เกี่ยวข้องร่วมวางแผนอนาคตในระยะสั้นและระยะยาวเพื่อแก้ไขปัญหาและส่งเสริมการท่องเที่ยว โดยได้รับความร่วมมือจากทุกฝ่าย ทั้งในส่วนจังหวัดพิษณุโลก กองทัพภาคที่ 3 ชุมชน อุทยานแห่งชาติภูหินร่องกล้า องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย สำนักงานพิษณุโลก สมาคมธุรกิจท่องเที่ยวจังหวัดพิษณุโลก ผู้ประกอบการ องค์กรด้านการท่องเที่ยวและวัฒนธรรม พร้อมตอบรับนำผลการวิจัยไปเป็นแนวทางการปฏิบัติระหว่างภาครัฐกับชุมชน โดยการออกกฏระเบียบที่เกี่ยวข้องกับการท่องเที่ยวบนฐานการวิจัยในพื้นที่ภูลมโลและพื้นที่เชื่อมโยง พร้อมทั้งดำเนินการประชาสัมพันธ์แนวทางการแก้ปัญหาต่าง ๆ ในพื้นที่ผ่านหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.วศิน ปัญญาวุธตระกูล กล่าวถึงการจัดระเบียบว่า "ประการแรกเรื่องการจอดรถ ได้กำหนดจุดจอดรถให้พอเพียงจำนวนทั้งสิ้น 7 จุด รองรับรถจำนวน 3,000 คัน ประกอบด้วยบริเวณบ้านใหม่ร่องกล้า 2 จุด อุทยานภูหินร่องกล้า 3 จุด และบ้านห้วยน้ำไซ 2 จุด มีการจัดระบบการจองคิวรถเป็นรอบ โดยกำหนดคันละ 10 คน ณ ที่ทำการกลุ่มท่องเที่ยวชุมชนบ้านใหม่ร่องกล้า บ้านห้วยน้ำไซและอุทยานฯ โดยมีอัตราที่เท่ากันตามประกาศอุทยานห้ามรถทุกชนิดขึ้นภูลมโลเอง โดยให้ใช้รถของชุมชนที่มีให้บริการกว่า 300 คัน เพื่อลดอุบัติเหตุและความแออัดของพื้นที่ ทั้งนี้คนขับรถของชุมชนต้องผ่านการอบรม ได้รับบัตรอนุญาตจากอุทยานฯ ในการขับรถ พร้อมมีใบรับรองการตรวจสภาพรถ นอกจากนี้ยังมีการแบ่งพื้นที่ในการดูแลรักษาความสะอาด และความพร้อมของสาธารณูปโภคต่าง ๆ ตลอดจนระบบความช่วยเหลือด้านอุบัติเหตุกับเครือข่ายโรงพยาบาลในพื้นที่ นอกจากนี้ระหว่างการเที่ยวชมจะมีทีมงานดูแลความปลอดภัย อำนวยความสะดวก ตั้งแต่เริ่มขึ้นรถ มีการบรรยายตลอดเส้นทางระยะเวลา 2-3 ชั่วโมง พร้อมแนะนำจุดชมวิวผ่านป้ายไวนิลและแผ่นพับของโครงการวิจัยฯ เพื่อความเข้าใจเรื่องการอนุรักษ์และการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน" จากการดำเนินการดังกล่าวนำมาสู่การพัฒนาอย่างยั่งยืน คือ การสร้างการท่องเที่ยวแนวใหม่ที่ใส่ใจสิ่งแวดล้อมและสร้างการรับรู้เป้าหมายการท่องเที่ยวร่วมกัน เช่น การใช้ถุงกระดาษบรรจุสิ่งของขึ้นภูลมโล โดยถุงกระดาษดังกล่าวเป็นป้ายสื่อความหมาย และประชาสัมพันธ์แสดงแหล่งท่องเที่ยวสำคัญ 5 จุดในพื้นที่ภูลมโล พร้อมสร้างจิตสำนึกการรักษาสิ่งแวดล้อมจากการใช้ถุงกระดาษเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน นอกจากนี้ยังมีการพัฒนาสร้างผลิตผลใหม่ เพื่อเป็นกิจกรรมการท่องเที่ยวของชุมชนประกอบให้เกิดรายได้ ได้แก่ มันเผาและชาสีชมพู พร้อมเพิ่มแนวทางจัดการที่สามารถเที่ยวได้ตลอดปี 365 วันเที่ยวไม่หมด สอดคล้องกับผลิตภัณฑ์ต่าง ๆ ที่ผลิตในชุมชน ซึ่งเป็นการสอดรับกับนโยบายไทยแลนด์. 4.0 "วัฒนธรรมมีชีวิต วัฒนธรรมเลือกลูกค้าของตัวเอง"

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ